ดัน ‘บรรทัดทอง’ เทียบชั้น ‘เยาวราช’ ปลุกนักท่องเที่ยว-โรงแรมคึกคัก
อานิสงส์ความฮอตปั้น “บรรทัดทอง” ย่านกินเที่ยวแห่งยุค แลนด์มาร์กใหม่เทียบชั้น “เยาวราช” นักท่องเที่ยวทุกชาติแห่เช็กอินกินของอร่อย หนุนยอดเข้าพักโรงแรมแถบบรรทัดทอง-สามย่าน-ปทุมวัน ติดลมบน
KEY
POINTS
- อานิสงส์ความฮอตปั้น “บรรทัดทอง” ย่านกินเที่ยวแห่งยุค แลนด์มาร์กใหม่เทียบชั้น “เยาวราช”
- นักท่องเที่ยวทุกชาติแห่เช็กอินกินของอร่อย หนุนยอดเข้าพักโรงแรมแถบบรรทัดทอง-สามย่าน-ปทุมวัน ติดลมบน
- “เทียนประสิทธิ์” นายกสมาคมโรงแรมไทยลุ้น “กทม.” หารือกับชาวบ้าน ร้านค้า ทัวริสต์ ผลักดันโมเดลปิดถนนสุดสัปดาห์กระตุ้นความคึกคัก
- ด้านโรงแรม “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ” เผยนักท่องเที่ยวจีนเข้าพักมากเป็นอันดับ 1 กว่า 50%
“บรรทัดทอง” แลนด์มาร์กใหม่มาแรงแห่งยุค พลิกโฉมจากภาพลักษณ์เก่าอันเคยเลื่องชื่อเรื่องการค้าเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาและประดับยนต์ สู่ภาพจำใหม่ย่านสตรีทฟู้ด จนได้ฉายาว่า “เยาวราช 2” ในปัจจุบัน เนืองแน่นด้วยร้านอาหารเด็ดทั้งสายคาวสายหวาน
หลังพบจุดเปลี่ยนสำคัญหลังโควิด-19 ระบาด สบจังหวะย่านเยาวราชประสบปัญหาความแออัด และชื่อเสียงไม่ค่อยเป็นบวกนักของย่านห้วยขวาง ประกอบกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้ปรับแผนบริหารจัดการพื้นที่ย่านบรรทัดทองให้อุดมไปด้วยของกินมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเบนเข็ม ตระเวนชิมของอร่อยที่ย่านนี้กันอย่างคับคั่ง
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ย่านบรรทัดทองได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา และกระแสยังดีต่อเนื่อง ในมุมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมประเมินว่าเป็นย่านที่มีศักยภาพดีในการพัฒนาต่อยอด ด้วยภาพลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นย่านของคนรุ่นใหม่ เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น เต็มไปด้วยสีสัน ร้านอาหารมีความหลากหลาย ทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ แตกต่างจากย่านเยาวราชที่มีเสน่ห์และกลิ่นอายของความเก่า ชัดเจนว่าเป็นไชน่าทาวน์ในกรุงเทพฯ
“โรงแรมบนโลเกชันใกล้ย่านบรรทัดทอง สามย่าน และปทุมวัน จะได้รับอานิสงส์จากความคึกคักของแลนด์มาร์กนี้ที่มีนักท่องเที่ยวจากทุกตลาดเดินทางเข้ามา ไม่เฉพาะชาวจีนเท่านั้น ซึ่งช่วยลดความแออัดของย่านเยาวราชได้อีกทาง โดยเป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกันที่มีแผนจะเดินทางไปกินของอร่อยทั้งในย่านเยาวราชและย่านบรรทัดทอง”
เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์
อย่างไรก็ตาม ย่านบรรทัดทองยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง เพราะต้องใช้เวลาเดินเท้าพอสมควรจากสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ (BTS) และสถานีสามย่าน (MRT) ซึ่งเป็นโจทย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอีกที เพื่อยกระดับความสะดวกในการเดินทางสู่ย่านนี้ ขณะที่ย่านเยาวราช มีข้อดีตรงสถานีรถไฟฟ้า วัดมังกร (MRT) สามารถเดินทางได้สะดวก
ลุ้นปิดถนนสุดสัปดาห์กระตุ้นความคึกคัก
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเข้ามาดูย่านบรรทัดทองว่าจะมีจุดเด่นแค่เรื่องของกินหรือไม่ สามารถเติมมิติการชอปปิงเข้าไปผสมผสานได้อีกหรือไม่ อย่างสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-22 ก.ย.) กทม. จัดงาน “Bangkok Car Free 2024” ที่ย่านบรรทัดทอง เพื่อลดเลนถนนสำหรับรถยนต์ และเพิ่มพื้นที่เดินเท้า รองรับทราฟิกนักท่องเที่ยวหนาแน่น
ก่อนจะนำผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองปิดถนนครั้งนี้ไปหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชาวบ้าน ผู้ประกอบการร้านค้า และนักท่องเที่ยว อย่างรอบด้านมากที่สุด ว่าจะนำไปสู่ข้อสรุปปิดถนนบรรทัดทองให้เป็นถนนคนเดินช่วงสุดสัปดาห์ในอนาคตหรือไม่ เหมือนกับโมเดลของย่านกินซ่า ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปิดถนนสายหลักเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้คนได้เดินชอปปิงกันอย่างสะดวกและปลอดภัย
หนุนยอดเข้าพัก “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” ติดลมบน
นายชรินทร์ ตันเจริญ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดให้บริการมา 30 ปี มี 660 ห้องพัก กล่าวว่า ความนิยมของย่านบรรทัดทองดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่นี้จำนวนมาก ช่วยเพิ่มยอดขายห้องพักให้โรงแรม เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ แขกส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน ครองสัดส่วนมากอันดับ 1 ถึง 50%
“นักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาย่านบรรทัดทองส่วนใหญ่เป็นคนไทยและคนจีน เฉพาะตลาดคนจีนมีทั้งกลุ่มกรุ๊ปทัวร์และกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่เป็นเจนเนอเรชันใหม่ ชื่นชอบการท่องเที่ยวตามรอยโลกโซเชียล ซึ่งนักท่องเที่ยวช่วยกันโปรโมตจนย่านบรรทัดทองแจ้งเกิดโด่งดัง นักท่องเที่ยวจีนรู้จักย่านนี้ดีกว่าคนไทยด้วยซ้ำ”
แม้ว่าโลเกชันของโรงแรมฯ จะห่างจากสถานีรถไฟฟ้า แต่ได้แก้เพนพอยต์ (Pain Point) ด้วยบริการรถชัตเทิลบัส (Shuttle Bus) แวะจอด 3 จุดสำคัญ ได้แก่ บีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค และร้านเจ๊โอว หนึ่งในผู้จุดกระแสความดังของย่านบรรทัดทอง โดยโรงแรมฯ ให้บริการรถเวียนทุกๆ 30 นาที เก็บค่าบริการ 30 บาทต่อคน เป็นอีกหนึ่งบริการอำนวยความสะดวกรองรับความต้องการของกลุ่ม FIT
ชรินทร์ ตันเจริญ
มิกซ์ฐานลูกค้า ไม่กระจุกแค่ทัวริสต์จีน
นอกเหนือจากลูกค้านักท่องเที่ยวจีน โรงแรมฯ มุ่งกลยุทธ์กระจายความหลากหลายของตลาดเพื่อบริหารความเสี่ยง ด้วยการเจาะตลาดอื่นๆ ด้วย โดยโครงสร้างลูกค้าปัจจุบัน 15% มาจากนักท่องเที่ยวชาติอื่นในเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อีก 35% เป็นนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกกลาง และไทย
เฉพาะลูกค้าคนไทย แม้ย่านบรรทัดทองกำลังฮอตฮิต แต่ไม่ได้ดึงดูดคนไทยให้เข้าพักโรงแรมนี้เพื่อเดินชิลกินของอร่อยเป็นการเฉพาะ จึงต้องปรับกลยุทธ์รุกทำตลาดกลุ่มนักกีฬามาเข้าพัก รวมถึงจัดโปรโมชันห้องอาหารของโรงแรมฯ เพื่อดึงลูกค้าคนไทยเข้ามาใช้บริการ
“เราพบว่าหลังหมดยุคโควิด โครงสร้างลูกค้าของโรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปมาก ต่างจากก่อนโควิดที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมากถึง 80-90% แต่ปัจจุบันเรากระจายความหลากหลาย ช่วยทำให้รายได้ปี 2567 ฟื้นตัว 80% เทียบปี 2562 ก่อนโควิดระบาด คาดว่าจะกลับมาฟื้นเต็ม 100% ในปี 2568”
ชูกลยุทธ์รัดเข็มขัด-ทำกำไรยุคหลังโควิด
ทั้งนี้ โรงแรมฯ ได้รีโนเวตครั้งใหญ่เพื่อให้ดูทันสมัยด้วยดีไซน์โปร่ง โล่ง สบาย ปัจจุบันให้บริการห้องพักจำนวน 540 ห้องพัก แบ่งเป็น 6 แบบห้อง ราคาเริ่มต้น 1,500-4,200 บาทต่อห้องต่อคืน คาดสิ้นปี 2568 จะรีโนเวตแล้วเสร็จทั้งหมด สามารถให้บริการห้องพักได้ครบทั้ง 660 ห้อง รวมถึงห้องประชุมสัมมนาต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงเช่นกัน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักอีกทาง โดยเฉพาะลูกค้างานประชุมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐ
“เมื่อรีโนเวตโรงแรมฯ บางส่วนแล้ว เราสามารถขึ้นค่าห้องพักได้ 20% มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วง 8-9 เดือนแรกของปีนี้ที่ประมาณ 80% ทำให้ปีนี้แม้ภาพรวมรายได้จะยังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด 20% แต่กำไรถือว่ากลับมาใกล้เคียงปี 2562 แล้ว อยู่ที่ระดับ 35-40% เนื่องจากเรารัดเข็มขัด บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น เช่น ต้นทุนแรงงาน ก่อนโควิดเรามีพนักงานเกือบ 500 คน แต่หลังโควิดมีจำนวนเหลือ 270 คน ลดลงไปเกือบครึ่ง ซึ่งต้องเดินหน้ารีสกิล (Reskill) พนักงานให้สามารถทำงานได้หลายหน้าที่ นอกจากนี้เรายังว่าจ้างพนักงานจากบริษัทเอาต์ซอร์ส (Outsource) ซึ่งช่วยลดต้นทุนไปได้ 20% ทำให้ค่าใช้จ่ายจิปาถะของพนักงานลดลงตามไปด้วย”