'แม็คยีนส์' เผยอินไซต์ตลาดกางเกงยีนส์ไทย เปลี่ยนแปลงอย่างไรรอบหลายสิบปี

สำรวจอินไซต์ ตลาดกางเกงยีนส์ของไทย พลิกโฉมอย่างไรในรอบหลายสิบปี มีทั้งแบรนด์ที่ยังอยู่และแบรนด์ที่หายไป ทางด้าน "แม็คยีนส์" แบรนด์ไทยที่ยันยืนหยัดในตลาดมาถึง 50 ปี วางกลยุทธ์พร้อมโตในทุกยุค ท่ามกลางตลาดแฟชั่นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
หนึ่งในสินค้าทุกคนต่างคุ้นเคยกับ "กางเกงยีนส์" กลายเป็นไอเท็มที่ทุกคนต้องมี ประเมินภาพรวมในปัจจุบันตลาดกำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากทุกแบรนด์แฟชั่นต่างเข้ามารุกขยายสินค้ากางเกงยีนส์เกือบทุกหมด แต่การจะอยู่ได้อย่างยาวนาน ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากแบรนด์ของประเทศจีนที่เข้ามาเจาะตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ มากขึ้น
เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “แม็คยีนส์” ฉายภาพรวมตลาดแฟชั่นในประเทศไทยปี 2567 ยังคงแข่งขันที่รุนแรงมาก จากทั้งแบรนด์เดิมที่อยู่ในตลาดและแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย
"ตลาดกางเกงยีนส์ในปีนี้ ได้เห็นหลากหลายแบรนด์ หันมาทำกางเกงยีนส์สู่ตลาดจำนวนมาก สะท้อนว่าทุกแบรนด์ต่างมีความสนใจในตลาดนี้ แต่การที่จะอยู่ได้ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมา ได้เห็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ และปิดตัวไปเช่นกัน เป็นวัฏจักร"
ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น สินค้ากางเกงยีนส์ยังครองใจกลุ่มลูกค้าคนไทยสูงมาก สะท้อนได้จาก พฤติกรรมการเลือกซื้อกางเกงยีนส์ของคนไทย โดยบริษัท ได้เก็บข้อมูลของผู้บริโภคคนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงมีกางเกงยีนส์เฉลี่ยถึง 20 ตัว ส่วนผู้ชาย มีกางเกงยีนส์เฉลี่ย 10 ตัว และบางตัวซื้อมาเมื่อ 15 ปีก่อน แต่ยังเลือกใส่มาจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งตลาดกางเกงยีนส์นั้น ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีขนาดใหญ่และรวมอยู่ในกลุ่มสินค้าแฟชั่น รวมถึงมีแบรนด์ขนาดใหญ่ในโลก ในกลุ่มฟาสต์แฟชันต่างมีสินค้ากางเกงยีนส์เช่นกัน ทำให้บริษัทไม่ได้แข่งขันเฉพาะแบรนด์โลคอลในประเทศ แต่เป็นการร่วมแข่งขันกับแบรนด์ระดับโลก
ดีเอ็นเอสร้างแบรนด์แกร่งในตลาดแฟชั่น
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แม็คยีนส์ สามารถอยู่ในตลาดประเทศไทยได้มาถึง 50 ปีแล้ว มาจากทั้ง การทำ Financial Feasibility การศึกษาความเป็นไปได้ในทางการเงิน และการบริหารสภาพคล่องทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ การทำ Flexibility การทำมีแนวทาง Agility ผสมด้วย Capital on trend และ Collaboration กับพาร์ทเนอร์ที่ดี
สำหรับพาร์ทเนอร์ที่สำคัญในการผลิตสินค้าคือ อิโตชู (Itochu) จากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ผลิตต้นน้ำคือ เนื้อผ้า ส่งให้แก่บริษัท ที่เข้ามาร่วมเสริมจุดแข็งของสินค้าในการผลิตกางเกงยีนส์
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม และการมุ่งลดต้นทุนการดำเนินงานภายในองค์กรมาตลอด พร้อมมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่สินค้า ทั้งหมด จึงทำให้แบรนด์สามารถสร้างการแข่งขันที่ดีในตลาดมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
สาขาทั้งหมดต้องวิเคราะห์ยอดขายตลอด
ทั้งนี้ 600 สาขาของแม็คยีนส์ที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น บริษัทมีการประเมินภาพรวมยอดขายอย่างใกล้ชิด หากสาขาใดมียอดขายชะลอตัวและไม่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ พร้อมปิดสาขาดังกล่าวทันที เพื่อบริหารต้นทุน
"ภาพรวม 600 สาขาที่มีอยู่นั้น มองว่าค่อนข้างครอบคลุมในประเทศไทยแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือ ต้องหาทางทำให้ยอดขายแต่ละสาขาเพิ่มขึ้น ผ่านการรีโนเวทและเพิ่มสินค้าต่างๆ"
สินค้าทั้งหมดสร้างยอดขาย 6 ล้านชิ้นต่อปี
ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการปรับตัวด้วยการมุ่งขยายพอร์ตโฟลิโอของสินค้า ที่ไม่ได้มีเพียงกางเกงยีนส์เท่านั้น แต่เพิ่มความหลากหลาย ทำให้มีสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องตกแต่งต่างๆ
ภาพรวมของ แม็คยีนส์ มีสัดส่วนยอดขาย 35% มาจากกางเกงยีนส์ และ 65% มาจากนอนเดนิม โดยบริษัทมียอดขายสินค้าในทุกกลุ่มประมาณ 6 ล้านชิ้นต่อปี
ปัจจัยภายนอกควบคุมไม่ได้ ต้องบริหารองค์กรให้ดีที่สุด
"ในปีนี้มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเติบโตของประเทศสหรัฐและยุโรป ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น และการเข้ามาของคู่แข่งในตลาดที่มากขึ้น หลายด้านเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นต้องบริหารองค์กรภายในให้ดีที่สุด"
อีกทั้งแม็คยีนส์ ยังสนใจหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ในการสร้างแบรนด์ แต่การพิจารณาจะต้องเข้ามาเสริมแบรนด์ให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วขึ้น เช่น หนึ่งบวกกับหนึ่ง ควรเป็นสามเป็นต้น แต่ที่ผ่านมาแบรนด์ได้รับความสนใจจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ สูงมาก แต่ไม่สนใจ เนื่องจากบริษัทที่เข้ามามองว่า แม็คยีนส์มีสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีสภาพคล่องประมาณ 1,700 ล้านบาท และไม่มีหนี้กับสถาบันการเงินแต่อย่างใด
ส่วนแผนการขยายธุรกิจในปี 2567 ยังปรับให้สอดคล้องกับตลาด ทั้งการขยายออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางใหม่อย่าง ติ๊กต๊อกที่กำลังเติบโตสูง และการมุ่งกลยุทธ์ O2O ให้ครอบคลุม ภายใต้งบลงทุนในปีนี้ 100 ล้านบาท
อีกทั้งได้ร่วมสร้างแบรนด์ให้ครองใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในทุกเจน ผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มาทำหน้าที่ร่วมกับ “อนันดา เอเวอริงแฮม” เป็นตัวแทนถ่ายทอดแบรนด์คอนเซ็ปต์หลักของแม็คยีนส์ “My Mc My Way ชีวิต...เต็มแม็ค”
ทั้งนี้ จากแผนธุรกิจที่วางไว้ จะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปีบัญชี 2568 (1 กรกฎาคม 2567 – 30 มิถุนายน 2568) เติบโตได้ดีและมีความยั่งยืน รวมถึงการมีฐานลูกค้าสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นต่อเดือนประมาณ 5 หมื่นจนถึง 1 แสนคน จากในปัจจุบันฐานสมาชิกประมาณ 1.7 ล้านคน ยอดขายประมาณ 80% จากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากสุด
ทางด้านผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชี 2567 (1 กรกฎาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567) บริษัทมีกำไรสุทธิ 713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 4,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% สูงสุดรอบ 7 ปีและมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่ระดับ 64.2%