ความเป็นกลางทางคาร์บอนกับธุรกิจเอสเอ็มอี
คำว่า “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เริ่มเข้ามาถึงหูของบรรดาธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเมื่อไม่นานมานี้ และยังมีเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งที่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” นี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับธุรกิจเอสเอ็มอีของตนเอง
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง ความใส่ใจของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาและเยียวยาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน เพื่อให้โลกยังเป็นสถานที่อยู่อาศัยและดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่สูญพันธุ์จากโลกนี้ไปเสียก่อน
คำว่า “คาร์บอน” ในที่นี้ มีความหมายโดยรวมถึงปริมาณ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนหรือโลกเดือดในปัจจุบัน โดยก๊าซเรือนกระจกนี้จะปกคลุมในบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกอยู่ทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่งมาเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงโลก ถูกกักเก็บอยู่โลกไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปยังอวกาศภายนอกได้เหมือนเดิม เสมือนว่าโลกถูกกักกัน จมอยู่ภายในเรือนกระจก ทำให้ความร้อนที่ส่งมายังโลกสะสมอยู่จนทำให้อากาศของโลกร้อนเกินไปจนมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ต่อไปได้
ส่วนใหญ่ของก๊าซเรือนกระจกที่ว่านี้ จะหมายถึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้และการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ในโลกนี้
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งวัตถุดิบและสินค้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ให้ความร้อนหรือการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ การใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่าง การใช้ไฟฟ้าในเครื่องปรับอากาศเพื่อความสะดวกสบายในการทำงาน ฯลฯ
และเป็นที่ยอมรับว่า บรรดาธุรกิจต่างๆ เป็นตัวการสำคัญในปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศของโลก
ดังนั้น จึงมีการตกลงกันในระดับนานาชาติว่า บรรดาธุรกิจและองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความจำเป็นต่างๆ จะต้องหันมา “เป็นกลาง” ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปสู่บรรยากาศ ด้วยมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากันหรือสมดุลกันกับจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองเป็นผู้ปล่อยออกสู่บรรยากาศ
การสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี อาจทำได้ด้วยการลดการใช้พลังงานให้น้อยลง การนำพลังงานทดแทนมาใช้แทน เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือ พลังงานลม ฯลฯ ที่รวมเรียกว่า “พลังงานทางเลือก”
การส่งเสริมการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้ที่ต้องดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้เพื่อสร้างอาหารด้วยการสังเคราะห์แสง การช่วยลดการกำจัดขยะที่ต้องนำไปเผาทิ้ง
หรือแม้แต่ในธุรกิจการเกษตรที่ปัจจุบันนิยมใช้ปุ๋ยเคมีที่ในกระบวนการผลิตต้องใช้เชื้อเพลิงจากการเผาไหม้ของน้ำมัน หันกลับมาให้ความสนใจในการลดการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยธรรมชาติ
หรือการร่วมกันปลูกต้นไม้ในโรงงานหรือสถานประกอบการเพื่อให้ความร่มเย็น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ และเพิ่มจำนวนต้นไม้ที่จะช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมากเกินพอออกจากบรรยากาศของโลก
อีกส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้แก่ การสร้างกลไกในการแลกเปลี่ยนปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคธุรกิจ กับภาคการเกษตรและการปลูกป่า ที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศด้วยการดูดก๊าซคาร์บอนมาเป็นอาหารของต้นไม้
กลไกนี้ เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนส่วนเกิน สามารถใช้กำไรที่เกิดจากธุรกิจไปซื้อ “คาร์บอนเครดิต” จากภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมอื่นที่มีการ “ดูดกลับ” ก๊าซคาร์บอนได้ ในจำนวนที่เท่ากับก๊าซคาร์บอนที่ตนเองปล่อยออกไป
ก็จะทำให้ธุรกิจระดับเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวเองให้เข้าสู่สถานะ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เพื่อแสดงความเป็นผู้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบกับการช่วยรักษาโลกให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ต่อไปในอนาคต!!??!!