ภาคธุรกิจไทยคิกออฟเศรษฐกิจสีเขียว สร้างมาตรฐาน Thailand Taxonomy?
ส่งท้ายปี 2567 สู่ปี 2568 เป็นปีที่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีกว่าปี 2567 และเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาคธุรกิจไทยสู่การเป็น “ธุรกิจสีเขียว”
แนวคิดเรื่องการพัฒนาธุรกิจสีเขียว มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติในปี 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือที่เรียกว่า COP21 โดยเริ่มต้นจากประเทศสมาชิก 55 ประเทศได้มีการลงสัตยาบันร่วมกันที่จะลดทุกธุรกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายที่รักษาอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2570 และประเทศไทยกับอีก 141 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในสัตยาบันเดียวกันในปี 2559 ทำให้มีประเทศสมาชิกรวม 197 ประเทศที่ลงนามในสัตยาบันนี้
ภายหลังจากการลงสัตยาบันในข้อตกลงปารีส หรือ COP21 ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ และอุตสาหกรรมมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว ในปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) โดยการสนับสนุนจาก International Finance Corporation (IFC) และมี Climate Bonds Initiative (CBI) เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้นำเสนอมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Thailand Taxonomy หรือ Green Taxonomy โดยมีภาคการเงินเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนในการให้สินเชื่อเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือ Low Carbon Industries ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด โดยระยะแรกระหว่างปี 2566-2567 เน้นไปในภาคธุรกิจพลังงานและการขนส่ง ระยะที่สองที่จะเริ่มต้นในปี 2568 จะให้ความสำคัญกับ 4 ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การผลิต การเกษตร การกำจัดของเสีย ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
เรียกว่า ปี 2568 เป็นปีที่จะ Kick Off แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ และ อสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องก้าวเข้าสู่การเป็น ธุรกิจสีเขียว
ทำไมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถึงเป็นธุรกิจในกลุ่มแรกๆ ที่ถูกกำหนดให้เข้าสู่มาตรฐานของ Thailand Taxonomy?
จากรายงานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2566 ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ภาคพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 40.05% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศ ถัดมา ภาคการขนส่ง 29.16% และ อุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง 20.24%
จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถูกจัดให้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ต้องปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ตามกรอบการทำงานของ Thailand Taxonomy
ถึงแม้ Thailand Taxonomy จะเป็นภาคสมัครใจไม่ได้บังคับ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำโดยปริยาย เมื่อในปี 2568 ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่จะเข้ามาสัมพันธ์กับ Thailand Taxonomy อย่าง กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีการออกร่างกฎหมายมาแล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชน
สาระสำคัญของร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีการนำเรื่องการจ่ายภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ บริษัทไหนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากก็จะต้องจ่ายภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาก ส่วนบริษัทไหนที่มีแนวทางในการทำธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
ทั้ง Thailand Taxonomy และ กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ (Landscape) ของการทำธุรกิจที่นำทั้งเรื่องทางการเงิน (ธุรกิจที่มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธุรกิจอื่น รวมทั้งมี Green Bond ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า หุ้นกู้โดยทั่วไปของภาคธุรกิจ เป็นต้น) และภาษี มาใช้เป็นสิ่งจูงใจให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว
ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าในปี 2568 เป็นปีที่เราจะเห็นหลายอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
และส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่าง แอล. พี. เอ็นฯ มีทิศทางขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจตลอด 35 ปี โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง ภายใต้แนวคิด Net Zero Waste Management
ปัจจุบันมีการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ก่อนที่กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีผลบังคับใช้ โดย แอล.พี.เอ็นฯ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉลี่ยปีละ 2.5% โดยใช้ปี 2566 เป็นปีฐาน โดยปี 2566 แอล.พี.เอ็นฯ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,292 ตันคาร์บอน (tCO2e) และปี 2567 ประมาณว่า แอล.พี.เอ็นฯ จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,259.7 ตันคาร์บอน (tCo2e) หรือ ลดลง 2.5% จากปี 2566
“เป้าหมายของเรา เป็น Net Zero ในปี 2608 ตามแผนการขับเคลื่อนของประเทศไทย ส่วนตัวมั่นใจว่าเราทำได้ และเชื่อว่าธุรกิจอื่นๆ ก็จะทำได้เช่นกัน” ถามว่าทำไมถึงเชื่อเช่นนั้น?
ต้องตอบว่า เพราะ เรามั่นใจว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมและเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถที่จะปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ในภาคอุตสาหกรรม และปรับปรุงโครงสร้างการก่อสร้าง ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ช่วยลดขยะ และ ก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและการก่อสร้างได้
การก้าวสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวสำหรับภาคธุรกิจไทยในปี 2568 จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายของประเทศไทยที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” ในปี 2608 เป็นจริงได้ตามพันธสัญญาที่ประเทศไทยให้ไว้กับประชาคมโลก