ผ่าแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 68 ขยายสมุย-ตราด ลุยเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา

ผ่าแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 68 ขยายสมุย-ตราด  ลุยเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นแรงหนุนสำคัญต่ออุตสาหกรรมบิน เริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้นแล้วเช่นกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิมก่อนช่วงโควิด แต่มีสัญญาณบวก ทำให้ “สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส” เร่งแผนขยายพื้นที่ทั้งสนามบินสมุย และตราด

รวมถึงเร่งทำ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ เฟสแรก วงเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท ต้องได้ข้อสรุปในช่วงกลางปี 2568 ดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุน “อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น” โดยที่ผ่านมาได้ขยายทุนจดทะเบียนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท รองรับการลงทุนเฟสแรก 
 

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า จากการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น ตามแรงหนุนของการท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกปี 2567 มีการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของทุกภูมิภาค จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) การเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการขยายตัว 19.7% ส่วนการเดินทางจากยุโรปสู่เอเชีย ขยายตัวมากสุด 23.1%

 

ผ่าแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 68 ขยายสมุย-ตราด  ลุยเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา

ประเมินอุตสาหกรรมการบินปี 68 ตลาดแข่งไม่รุนแรง

เมื่อประเมินตลาดรวมปี 2568 การแข่งขันไม่รุนแรงเหมือนเดิม จากอุตสาหกรรมการบินมีดีมานด์และซัพพลายไม่สอดคล้องกัน โดยซัพพลายของเครื่องบินที่ต้องใช้เวลารอทั้งการซ่อมแซมและอะไหล่ต่างๆ พอสมควร มีผลต่อการขยายเส้นทางการบินของผู้ประกอบการต่างๆ 

ทั้งนี้ภาพรวมการเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ที่ 17.2% ในปี 2568 และคาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะมีการเติบโตต่อเนื่องอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า 

ขยายสนามบินสมุย-ตราด ดึงทัวริสต์เพิ่ม

แผนของบริษัทในปี 2568 วางงบลงทุนไว้เบื้องต้นประมาณ 2,200-2,300 ล้านบาท แบ่งเป็น สนามบินสมุย ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ขยายโครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร รองจำนวนผู้โดยสารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย จาก 1,000 ตร.ม. ไปสู่ 4,000 ตร.ม. ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น โดยบริษัทได้รับอนุญาตให้ทำการบิน 73 เที่ยวบิน จากปัจจุบัน 50 เที่ยวบิน ซึ่งได้จัดทำขั้นตอนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว กำหนดแผนลงทุนช่วงไตรมาสสองของปี 2568 และวางแผนทยอยลงทุนเป็นเฟสๆ 

ทางด้านสนามบินตราด ใช้งบลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ระยะทางวิ่ง (Runway) จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,800 เมตร เพิ่มเป็น 2,000 - 2,100 เมตร รองรับเครื่องบินเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบินใบพัด ATR เช่น แอร์บัส เอ 320 เป็นต้น โดยได้ทยอยการก่อสร้างแล้ว

 

ผ่าแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 68 ขยายสมุย-ตราด  ลุยเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา

ยืนยันลงทุน "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" อู่ตะเภา พร้อมหาพาร์ทเนอร์ร่วม

สำหรับอีกบทบาทในการเป็นคณะผู้บริหาร บริษัทร่วมทุนคือ "บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA" ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก โดยแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่กับ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" หรือ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์ซิตี้" ที่สนามบินอู่ตะเภา ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) บริษัทได้ใช้ลงทุนระยะแรกไปแล้ว 4,000 ล้านบาท สำหรับการศึกษาโครงการและใช้บริษัทที่ปรึกษาลงทุน รวมถึงบริษัทได้เข้ามาทำวิจัย ตามแผนมีขั้นตอนที่ต้องสรุปให้ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2568 เนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาแผน 5 ปี แต่ยังไม่มีก่อสร้างโครงการ จากการต้องรอขั้นตอนของการสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปรีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาเช่นกัน 

อีกทั้งโครงการ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ” มีข้อสรุประยะแรกคือ ไม่มีการลงทุนเกี่ยวข้องกับคาสิโน เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รวมความบันเทิง ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์การค้า แหล่งชอปปิ้งดิวตี้ฟรี พื้นที่จัดงานแสดงสินค้าและเอ็กซิบิชั่น พื้นที่จัดงานขนาดใหญ่ และการทำสนามแข่งรถฟอร์มูลาวัน เพื่อร่วมดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยการลงทุนสนใจบริษัทหาพาร์ทเนอร์เข้ามาพัฒนาพื้นที่แต่ละโครงการที่มีความสนใจได้ 

เมื่อประเมินแผนเฟสแรก เป็นการลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ ประมาณ 15,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสาร ลานจอด และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ส่วนรันเวย์ เป็นส่วนของทหารเรือเข้ามาลงทุน พร้อมประเมินเฟสแรก ต้องมีผู้โดยสารประมาณ 8-10 ล้านคนต่อปี พร้อมมีแผนก่อสร้างดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 4 ปี

“ยืนยันทำแน่นอน แม้ไม่มีไฮสปรีดเทรน แต่บริษัทพร้อมจะลงทุนทำโครงการนี้ จากมองศักยภาพของอู่ตะเภา โดยเป็นประตูเชื่อมต่อไปอีอีซี ที่ผ่านมาคนตอบรับสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีหลายแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเมื่อมีโครงการทำให้เดินทางสะดวก แบ่งเบาภาระของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพราะบางคนไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามา กทม. และอยากไปเที่ยวพัทยาและพื้นที่ต่างๆ ที่ใกล้เคียง”

ท้ายที่สุดหากไม่ได้ข้อสรุปเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้ต้องเตรียมแผนอื่นๆ ไว้รองรับ ต้องประเมินงบลงทุน ตัวเลขต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนแปลงให้สมเหตุสมผล รวมถึงการหารือร่วมกับสถาบันการเงินในการหาแหล่งเงินทุน โดยมีแผนหารือให้ได้ข้อสรุปกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า 2568 เพื่อให้ได้ข้อสรุปในช่วงกลางปีหน้า 

ผ่าแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 68 ขยายสมุย-ตราด  ลุยเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา

ขยายเส้นทาง "สมุย-กัวลาลัมเปอร์” ไตรมาส 4 ปี 2568 

ทั้งนี้เมื่อประเมินภาพรวมผลประกอบการของบริษัทช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ภาพรวมตลาดดีขึ้น และมียอดจองตั๋วล่วงหน้าเข้ามาแล้ว 10% โดยบริษัทได้รับเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม 2 ลำ เป็นตระกูล แอร์บัส 369 และ 320 (Wet Lease) รองรับการขยายเส้นทางบินในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาวและกัมพูชา เริ่มทำการบินระหว่าง ธ.ค. 2567 ถึงเดือน เม.ย. 2568 ตามความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นช่วงไฮซีซั่น

รวมถึงมีแผนเปิดบริการเส้นทางบิน “สมุย-กัวลาลัมเปอร์” ในไตรมาส 4 ปี 2568 ที่จะให้บริการทุกวัน จำนวนวันละ 1 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ประเมินว่าภาพรวมผลประกอบการในปี 2568 จะขยายตัวได้ 10-12% 

คาดปี 67 ผลประกอบการตามเป้าหมาย ผู้โดยสารรวม 4.5 ล้านคน

อีกทั้งตลอดปีนี้ภาพรวมบริษัทมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมาก สร้างสัดส่วนผู้โดยสารชาวต่างชาติ 70-80% เป็นผู้โดยสารจากเส้นทางที่บางกอกแอร์เวย์สทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) กับสายการบินพันธมิตร 30 สายการบิน ส่วนสายการบินพาร์ทเนอร์มีอยู่ 70 สายการบิน ส่วนลูกค้าในประเทศ 20%

ทำให้บริษัทคาดว่า ผลประกอบการปี 2567 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งจำนวนผู้โดยสารรวม 4.5 ล้านคน จำนวนเที่ยวบินรวม 4.8 หมื่นเที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 85% สร้างรายได้ขายตั๋ว 1.78 หมื่นล้านบาท หรือมีรายได้ขายตั๋วเฉลี่ยที่ 3,900 บาท ถือว่าภาพรวมรายได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดแล้ว แต่อัตราการบินน้อยกว่า 30%

ผ่าแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 68 ขยายสมุย-ตราด  ลุยเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา