‘เบียร์ช้าง’ ขึ้นที่ 1 รอบใหม่เกือบ 20 ปี แม้แบรนด์แชร์ สู้กันสูสีบางจังหวะ

‘เบียร์ช้าง’ ขึ้นที่ 1 รอบใหม่เกือบ 20 ปี แม้แบรนด์แชร์ สู้กันสูสีบางจังหวะ

ตราสินค้า หรือแบรนด์ “เบียร์ช้าง” ตอนนี้เป็นที่ 1 อย่างยั่งยืนถาวรแล้ว แม้บางช่วงเวลาจะมีความผันผวนอยู่บ้างของ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” ที่สลับกันขึ้นลง เบียดกันแบบสูสี แต่ค่ายน้ำเมายักษ์ใหญ่ “ไทยเบฟเวอเรจ” ลั่นขึ้นเป็นผู้นำตลาดแล้ว

การขับเคี่ยวของตลาดเบียร์ 200,000 ล้านบาท ผู้เล่นรายใหญ่ 2 ค่ายเปิดสงครามกันมาอย่างยาวนานเพื่อชิงความเป็น “หนึ่ง” ระหว่าง “ค่ายสิงห์” หรือบุญรอดบริวเวอรี่ และ “ค่ายช้าง” แห่งไทยเบฟเวอเรจ

ล่าสุด กับการเคลื่อนแผนธุรกิจ “เบียร์” ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ฉายภาพว่า สถานการณ์ตลาดเบียร์โดยรวมกลับมาเติบโตเหมือนก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดแล้ว มีมูลค่าเชิงปริมาณที่ 2,000 ล้านลิตร หรือเชิงมูลค่า(Value)อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เติบโตสูงกว่าเศรษฐกิจหรือจีดีพี

ตลาดเบียร์มีความเปลี่ยนแปลง เมื่อเซ็กเมนต์อีโคโนมี่ หรือบางครั้งอาจเรียกติดปาก “ตลาดล่าง” ค่อยๆมีขนาดเล็กลงเหลือราว 5% เทียบกับ 15 ปีก่อน มีสัดส่วนราว 10% ส่วนตลาดหลักหรือเซ็กเมนต์ “เมนสตรีม” โตตามสูงกว่าภาวะเศรษฐกิจราว 5% ขณะที่เซ็กเมนต์เมนสตรีม พลัส และพรีเมียม มีการเติบโตที่สูงอัตรา 2 หลัก ที่ 30%

ทว่า สัดส่วน 2 ตลาดยังต่างกัน เพราะขนาดใหญ่ยังเป็นเมนตรีมเป็นขุมทรัพย์ 60-70% ส่วนเมนตรีมพลัส พรีเมียมเพียง 20% ต้นๆ เท่านั้น และยังมีอีกเซ็กเมนต์คือ เบียร์พิเศษหรือสเปเชียล และเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ กำลังเข้ามามีบทบาทเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วย

“เบียร์ช้าง” เบอร์ 1 ยั่งยืนถาวร!

ภาพใหญ่ตลาดน้ำเมาสีอำพันฟื้นตัวแล้ว ทว่า ที่น่าสนใจคือ “เบียร์ช้าง” ที่ยืนหยัดในไทยจะครบ 30 ปี ในอดีตกลยุทธ์ “เหล้าพ่วงเบียร์” อาวุธสำคัญทำให้แบรนด์เคยครองส่วนแบ่งตลาดเป็น “เบอร์ 1” และโค่น “คู่แข่ง” ได้ หากแต่จากนั้นการต่อกรตีกลับเกิดขึ้น เพราะบัลลังก์แชมป์ ถูกค่ายคู่แข่งสำคัญส่งแบรนด์ใหม่มาทวงคืนส่วนแบ่งตลาดได้สำเร็จ และยืนหนึ่งยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ

ล่าสุด “เบียร์ช้าง” เผยย่างก้าวสำคัญที่ตราสินค้าหรือแบรนด์กลับขึ้นเป็น “ผู้นำตลาด” อย่างยั่งยืนถาวรแล้ว แม้ว่าคู่แข่งจะมีตราสินค้าที่ “กำลังฟัดกัน” ส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันมากๆ และมีความผันผวนกันอยู่ ซึ่งใกล้เคียงกันมาก สูสีกันบาง ช่วงเวลาเบียร์ช้างก็นำ บางช่วงเวลาก็กลับมาเท่ากัน

“2 แบรนด์กำลังฟัดกัน แต่ถ้าให้ตอบว่าตอนนี้แบรนด์ช้างเป็นที่ 1 หรือยัง ก็ถือว่าเป็นที่ 1 อย่างยั่งยืนถาวรแล้ว แบรนด์แชร์นำห่างแล้วตอนนี้ สถานการณ์เป็นบวก ดีกับเรามาก และงบปีใหม่เริ่มเดือนตุลาคม เบียร์ช้างเราเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ”(ปีบัญชี ต.ค.67-ก.ย.68)

อย่างไรก็ตาม การที่เบียร์ช้างขึ้นเป็นผู้นำ ไม่ใช่ปุบปับแล้วเห็นตัวเลขเติบโต แต่เกิดจากการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ “ผู้นำรุ่นก่อน” วางทิศทางไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ประภากรณ์ ทองเทพไพโรจน์ โฆษิต สุขสิงห์ เลสเตอร์ ตัน และเอ็ดมอนด์ นีโอ คิม ซูน รวมถึง “ทีมงานแกร่ง” เป็นพลังขับเคลื่นสำคัญ

“ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” เสริมแกร่งพี่ใหญ่ ช้างคลาสสิค

“ธุรกิจเบียร์” ของ “ไทยเบฟเวอเรจ” สร้างรายได้จากการขายในปี 2567(ปีบัญชี ต.ค.66-ก.ย.67) 126,332 ล้านบาท เติบโต 2.4% และ “กำไรสุทธิ” จำนวน 5,221 ล้านบาท เติบโต 3.9% ภาพรวมเชิงปริมาณ ยอดขายอยู่ที่ 2,314 ล้านลิตร “ลดลง 2 ล้านลิตร” จากปีก่อน

‘เบียร์ช้าง’ ขึ้นที่ 1 รอบใหม่เกือบ 20 ปี แม้แบรนด์แชร์ สู้กันสูสีบางจังหวะ

ทว่า เจาะพอร์ตโฟลิโอเบียร์ในประเทศไทย เบียร์ช้างคลาสสิค ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่สุด และมีความหลากหลายอื่นๆ เช่น ช้างเอสเปรสโซ่ ช้างโคลด์บริว เฟดเดอร์บรอย อาชา ฯ

ทั้งนี้ 5 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟเปิดตัว “ช้างโคลด์บรูว์” ในพอร์ตพรีเมียม และยังเสริมแกร่งต่อเนื่องด้วย ล่าสุดคือ “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ที่ทำตลาดได้ 2 ปี เดิมเจาะตลาดเฉพาะโรงแรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เพราะสินค้าเมื่อผลิตจากโรงเบียร์ที่จังหวัดกำแพงเพชร จะต้องส่งตรงถึงช่องทางจำหน่ายด้วยระบบขนส่งเย็นด้วยอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียสหรือ Cold Chain เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภค

“ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ มาช่วยเสริมแกร่งแบรนด์เบียร์ช้าง โดยเปิดตัวมา 2 ปี มีการเติบโตสูงมาก และยังเป็นการเกาะกระแส เทรนด์ผู้บริโภคเซ็กเมนต์พรีเมียมด้วย”

เปิดราคาท้าชิงขุมทรัพย์เบียร์ต่างประเทศ

สำหรับ “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” เปิดตัวเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มีการขยายพื้นที่เข้ามาจำหน่าย ณ ร้านอาหาร และโรงแรมในเครือไทยเบฟ ในกรุงเทพฯ

หมากรบล่าสุดบริษัทเปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ขวดอลูมินั่มฝาเกลียว” ขนาด 500 มิลลิลิตร(มล.) พร้อมเปิดราคาจำหนาย 89 บาท นำร่องกระจายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นที่รองรับการขนส่ง Cold Chain จำนวน 10,000 สาขา โดยวันที่ 12 ธันวาคมนี้จะครบทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ และจะครบทั่วประเทศวันที่ 19 ธันวาคม 2567

เบียร์เซ็กเมนต์ต่างๆ มีการตั้ง “ราคาขาย” ที่น่าสนใจ ดังนี้ ตลาดเมนสตรีม ขวดแก้วขนาด 620 มล. ราคา 60 บาท กระป๋อง 490 มล. ราคา 55 บาท เมนสตรีมพลัส หรือพรีเมียม ขวดแก้ว 620 มล. ราคา 60 บาท และกระป๋องเกิน 55 บาท ส่วนแบรนด์ต่างประเทศ กระป๋องราคา 80 บาท 90 บาท และมากกว่า 100 บาท

‘เบียร์ช้าง’ ขึ้นที่ 1 รอบใหม่เกือบ 20 ปี แม้แบรนด์แชร์ สู้กันสูสีบางจังหวะ

“เราตั้งราคา 89 บาทต่อกระป๋อง เป็นราคาที่จับจ้องได้ ขณะเดียวกันโชว์ความพรีเมียม เมื่อวางในตู้แช่ เราภูมิใจที่สินค้าคนไทย วางคู่เบียร์ต่างชาติ ไม่อายทั้งราคาและภาพลักษณ์ ต่อสู้ยักษ์ใหญ่ต่างชาติได้”

เป้าปี 68 ขาย 25 ล้านกระป๋อง โตมหาศาล!

อย่างไรก็ตาม ตลาดเบียร์พรีเมียมมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท โต 30% ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ สามารถสร้างการเติบโตของยอดขายเกือบ 300% โดยปี 2568 บริษัททุ่มงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อทำการตลาด พร้อมผลักดันยอดขายที่ 25 ล้านกระป๋อง ซึ่งมีการ “เติบโตมหาศาล” อีกด้านยังเป็นการทำให้ “เบียร์ช้าง” เซ็กเมนต์พรีเมียมมีสัดส่วนมากขึ้น

“เบียร์ช้างพอร์ตพรีเมียมเราเติบโตทุกตัวในอัตรา 2 หลัก ส่วนหนึ่งเพราะฐานเรายังเล็ก ทว่าในปี 2567 ตลาดมีคู่แข่งค่ายใหม่เข้ามา และปีนี้ครบ 1 ปีที่ทำตลาด เรามองว่ายิ่งมีผู้เล่นเข้ามา ยิ่งดี เพราะทุกรายต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการ รวมถึงให้ชนะใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ปี 2567 เบียร์ช้างเราจบปีเติบโตอย่างสวยงาม เพราะทีมช้างเราทำได้ และปี 2568 เราต้องโตต่อ แม้จะมีคู่แข่งใหม่ก็ตาม”