‘เสียงสับหมู หอมหมูสับ’

‘เสียงสับหมู หอมหมูสับ’

เป็นประสบการณ์ตรงเลยทีเดียว เมื่อครั้งไปพักในคอนโดมิเนียมในบางครั้ง ท่ามกลางความเงียบสงบของเช้าวันหยุดที่อยากตื่นสาย ก็จะมีเสียงที่คาดว่าน่าจะเป็นเสียงสับหมูของเพื่อนบ้านชั้นบน ที่ต้องเตรียมอาหารมื้อเช้าให้ลูกๆ

เพราะการอยู่ในคอนโดมิเนียม เราจะมีเพื่อนบ้านแบบ 360 องศาทีเดียว ทั้งเพื่อนบ้านชั้นบน ห้องชุดด้านซ้าย ขวา และตรงข้าม จึงหลีกหนีไม่พ้น ที่การอยู่อาศัยจะกระทบกระทั่งกันบ้าง บ้างก็มีเสียงลากเก้าอี้ กลิ่นบุหรี่จากเพื่อนบ้านที่ออกมาสูบชิลๆ ที่ระเบียง เพื่อนบ้านที่อารมณ์สุนทรีย์อาบน้ำพร้อมเปิดเพลงเสียงดัง บ้างเบลอแล้วเคาะประตูผิดห้อง เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าลองคิดเล่นๆ ก็จัดเป็นเรื่องเล่าน่าขันของชาวคอนโด แต่ผู้ที่ต้องเผชิญในขณะนั้นก็อาจจะขำไม่ออก เพราะกลับบ้านแล้วก็อยากจะพักให้หายคลายเหนื่อย

“อพาร์ตเมนต์” ที่ชาวต่างชาติใช้เรียกแทนคอนโดมิเนียม ก็มักจะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน ถึงแม้จะเป็นยูนิตใหญ่ ก็หนีไม่พ้นปัญหาคลาสสิคเหล่านี้ อาจไม่เกี่ยวกับ product แต่เป็นวัฒนธรรมในการอยู่อาศัยร่วมกัน บ้านเราเป็นเมืองพุทธ การอยู่อาศัยจะใช้ “การถนอมน้ำใจ” และ “ความเอื้อเฟื้อ” ต่อกัน จึงลดปัญหาไปได้บ้าง การขอให้นิติบุคคลฯ หรือ call center ช่วยเหลือ ก็จะได้รับการสื่อสารไปที่ต้นตอ เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่อาศัยร่วมกัน เพราะบางครั้งเราเองก็อาจจะไม่ทราบว่าการกระทำเล็กๆ ของเรา ได้ส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านมากเพียงใด เช่น แทนที่จะสับหมู ก็เปลี่ยนเป็นเครื่องปั่นขนาดเล็กก็ได้ การสื่อสารกันโดยตรงผ่านคนกลางที่เหมาะสม ก็จะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขในทันทีค่ะ ซึ่งก็เป็นบทบาทของคนกลางที่จะต้องใช้จิตวิทยาขั้นสูงในการพูดคุยและเจรจา

สำหรับทุกชุมชนที่บริษัทเข้าบริหารจัดการอาคารชุด จะมีการปูพื้นฐานเบื้องต้นตั้งแต่ก่อนการเข้าอยู่อาศัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอยู่อาศัยที่ดี และยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนบ้านในหลากหลายเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ที่ใกล้จะเข้ามาถึง ทำให้ชุมชนอบอุ่นและน่าอยู่อาศัย ลักษณะทางกายภาพ เช่น ตัวอาคาร ส่วนสันทนาการ Landscape การออกแบบห้องชุด จะออกแบบอย่างไรก็ได้ แต่ “การออกแบบความร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” นั้นต้องใช้ความเข้าอกเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่ต้องอาศัยเวลา และมิตรไมตรีที่มีให้แก่กันและกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็จะคงอยู่ตลอดไปไปยังรุ่นลูกหลานด้วยค่ะ

ใกล้เทศกาลวันขึ้นปีใหม่นี้ จึงขออำนวยพรให้ทุกท่านมีแต่ความสุขกาย สุขใจ แวดล้อมด้วยความรักและความเอื้ออาทรนะคะ และก็มีเรื่องราวดีๆ จากท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เรื่อง “น้ำใจแมงมุม” มาฝากกันค่ะ ว่าใยแมงมุมมีความเหนียวแน่นดังเหล็กกล้า บังเอิญมี “ปาด” มาติดใยแมงมุม แมงมุมเห็นเข้าก็เข้าไปช่วยชีวิตออกมา เป็นน้ำใจที่มีต่อผู้ได้รับความทุกข์ และตกอยู่ในความกลัว ซึ่ง “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”นะคะ