‘ใช้สลับออม’ นิยามการใช้จ่ายคนไทย โบนัสคือความหวัง มอง 3 เดือนหน้า สุขน้อยลง
ส่องพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยช่วงโค้งสุดท้ายปี คนรุ่นใหม่ อายุ 20-29 ปี มีการใช้จ่ายแบบกระจัดกระจาย ส่วนอายุ 30 -39 ปี ใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตในทุกวันซื้อสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ วัย 40 - 49 ใช้จ่ายเพื่อความสุขในบ้าน ขณะที่วัย 50 - 59 ใช้จ่ายเพื่อความสุขวัยเกษียณ
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” ทุก ๆ 2 เดือน โดยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 เป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากวันที่ 22 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 และมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในอนาคต ด้วยการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ
ทิ้งทวนปีใช้จ่ายเท่าเดิม โบนัสคือความหวัง
อรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และ อรนลิน เรื่องสุรเกียรติ ผู้จัดการส่วนวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนการใช้จ่ายของคนไทยตลอดทั้งปี 2567 ยังคงเทียบเท่ากับเมื่อปี 2566 ด้วยคะแนน 66 เท่ากัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายดังกล่าว คือประเด็นร้อนทางการเมือง ข่าวสังคม เหตุการณ์น้ำท่วม รวมไปถึงความขัดแย้งโลก สงคราม จึงทำให้ความรู้สึกของคนไทยยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย
ขณะที่ภาพรวมในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันหยุดยาว และเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรัยปีใหม่ โปรโมชั่นส่งท้ายปีเก่าของแบรนด์ “ความหวังในการได้รับเงินโบนัส” รวมถึงมาตรการรัฐเดินหน้า “เงินดิจิทัล” เฟสต่อไป เพื่อหนุนให้แนวโน้ในการใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนการใช้จ่ายยังเน้นไปที่การท่องเที่ยว การใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ และเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า สำหรับเป็นของขวัญให้ทั้งสำหรับตัวเองและคนที่รัก
“เรายังคงมองเห็นความพยายามของคนไทยที่จะหาความสุขด้วยการใช้จ่ายเพิ่มเติมสุขเล็ก ๆ น้อยๆ หาสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจที่เหนื่อยล้า ทำให้กระแสแฟนด้อมจึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการฮีลใจจากความเหนื่อยล้าของชีวิตในยุคที่ต้องสู้ กระตุ้นให้คนไทยยอมใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อยๆ เพื่อความสุขของตัวเอง รวมไปถึง กระแสความฮอตของอาร์ททอยที่มาแรง ประกอบกับเทศกาลสิ้นปีที่กำลังจะมาถึง เป็นพลังสำคัญที่ทำให้คนไทยยังมีความหวังกับระดับความสุขที่คิดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต”
คนไทยใช้จ่ายเพิ่มรับเทศกาลปีใหม่ การเดินทาง
เมื่อเจาะการใช้จ่ายประเภทสินค้า 10 รายการสูงสุด เป็นดังนี้ จัดสรรให้หมวดอาหาร 20% แต่ใช้จ่ายลดลง 3% ตามด้วยโทรศัพท์มือถือ 9% ใช้จ่ายทรงตัว สินค้าจำเป็น 8% แต่เป็นการใช้จ่ายที่ลดลง 5% เครื่องใช้ไฟฟ้า 7% จะใช้เพิ่มขึ้น 3% ท่องเที่ยวภายในประเทศ 7% และเพิ่มขึ้น 3% เสื้อผ้า 7% ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1% ทานอาหารนอกบ้าน 5% ทรงตัว ผลิตภัณฑ์ความงามหรือบิวตี้ 4% แต่ซื้อลดลง 3% คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต 3% ทรงตัว และกระเป๋า รองเท้า 3% ใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อยบ 1% โดยสินค้าที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวเพื่อเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่
“ใช้สลับออม” วัย 30 ปีขึ้นไป เน้นใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิต
ถ้าหากเราเจาะลึกไปถึงแนวโน้มการใช้จ่ายที่แบ่งตามช่วงอายุจะสังเกตเห็นได้ว่า เป็นการใช้จ่ายแบบคลื่น (Wave Consumption) คือ “ใช้สลับออม” ซึ่งจะมีความสำคัญและมีความหมายที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนี้
วัย 20 - 29 ปี ใช้จ่ายกระจัดกระจาย การใช้จ่ายค่อนข้างกระจายตัวไปในเรื่องต่าง ๆ ตามความชอบและความสนใจของแต่ละบุคคล และมีแนวโน้มสำคัญในการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงโอรโมชั่นใหญ่ทั้งกลางปีและสิ้นปี
วัย 30 -39 ปี ใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตในทุกวัน คนในช่วงวัยนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน เน้นการใช้จ่ายไปที่สินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภค ที่ทำให้ตนเองมีความสุขในทุกวัน
วัย 40 - 49 ปี ใช้จ่ายเพื่อความสุขในบ้าน เน้นการใช้จ่ายไปกับความเป็นอยู่เป็นหลัก ของใช้ในบ้าน เติมเต็มการอยู่บ้านให้มีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือการจับจ่ายใช้สอยไปกับกิจกรรมและประเพณี เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลถือศีลกินเจ เป็นต้น
วัย 50 - 59 ปีใช้จ่ายเพื่อความสุขวัยเกษียณ ถือเป็นช่วงวัยที่ค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายมากที่สุด ซึ่งจะเน้นการใช้จ่ายไปในเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อการพักผ่อนในวัยใกล้เกษียณและการทำกิจกรรมตามประเพณีต่าง ๆ
แนวโน้มคนไทยสุขน้อยลงใน 3 เดือนข้างหน้า
ส่วนการสำรวจ “ความสุขคนไทย” ปี 2567 คะแนนอยู่ที่ 64 เท่ากับปีที่แล้ว แต่เฉพาะเดือนธันวาคม เทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความสุขมีคะแนนเฉลี่ย 65 เพิ่มขึ้น 1% ทว่า แนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า กลับพบว่าคนไทยจะมีความสุขน้อยลง โดยคะแนนเฉลี่ย เป็นดังนี้
49% มองว่าจะมีความสุขเท่าเดิม ซึ่ง “ลดลง 2%” ส่วน 46% มองว่าจะมีความสุขมากขึ้น และเป็นอัตราที่เพิ่ม 4% และมี 5% ที่มองว่าจะสุขน้อยลง หรือเป็นการลดลง 1%