8 เรื่องร้อนแรงปี 67 ยักษ์รีเทล ศึกชิงลูกค้า-ขุมทรัพย์ค้าปลีก 4 ล้านล้าน

บทสรุปของค้าปลีกไทย รอบปี 2567 ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ มุ่งรีโนเวทพื้นที่ครั้งใหญ่ เร่งดึงลูกค้าให้ใช้บริการ รับมือเซกเมนต์ของลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงอีเวนต์เป็นสิ่งสำคัญดึงลูกค้า-นักท่องเที่ยว จึงเป็นอีกปีที่มีทั้งทำเลที่รุ่ง-ร่วง รวมถึงการเปิด-ปิดสาขา
สำรวจการลงทุนของผู้ประกอบการไทยตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต่างขยายการลงทุนโครงการใหม่ในหลายทำเลทองของประเทศไทย โดยพื้นที่ดาวเด่นสำคัญไม่ได้อยู่ใน กทม. เท่านั้น แต่หลายรีเทลขยายสู่การลงทุนไปในต่างจังหวัด มุ่งหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการค้า และการท่องเที่ยว
สำหรับภาพรวมตลาดค้าปลีกไทย มีมูลค่ากว่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2567 ค้าปลีกไทย ขยายตัว 4% และในปี 2568 ขยายตัว 3% ด้วยยอดการขายรวมถึงระดับ 4.3 ล้านล้านบาท
ปีแห่งการพลิกโฉม - รีโนเวทใหญ่
หากย้อนกลับไปประเมินบิ๊กค้าปลีกไทยตลอดปี 2567 ต่างมีการปรับโฉมพื้นที่ของรีเทลอย่างหนัก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทั้ง เซ็นทรัลพัฒนา รอบปีที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ทั้งในหัวเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้ง เซ็นทรัลนครสวรรค์ และ เซ็นทรัลนครปฐม ต่อมามีการรีโนเวทสาขาเดิมทำเลใจกลางเมืองทั้ง เซ็นทรัล บางนา, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ และ เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต
สำหรับการปรับรีโนเวทศูนย์การค้าต้องดำเนินการในทุกปีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มีการปรับใหญ่ทุก 7 ปี แต่เมื่อตลาดและลูกค้าเปลี่ยนเร็ว จึงต้องเร่งรีโนเวทถี่ขึ้นในทุก 3-4 ปี รวมถึงเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า ได้ปรับโฉมครั้งใหญ่เช่นกัน และขยายพื้นที่สินค้ากลุ่มลักชัวรี ขึ้นอีก 4 เท่า รองรับตลาดและกำลังซื้อสุดร้อนแรงในภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวระดับโลก
ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าใจกลางเมืองย่านปทุมวัน ประกาศในปี 2567 เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับโฉมเร่งยกเครื่องธุรกิจ จึงดึงแบรนด์ใหม่ๆ มาเปิดทั้งจากประเทศจีน และ ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงมีการทำ Amazing market รวมสินค้าแฟชั่นและร้านอาหาร มุ่งเจาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงศูนย์การค้าในเครือกับ พาราไดซ์ พาร์ค พลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปี เป็นการร่วมมือกับ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิด RAMATHIBODI HEALTH SPACE @ PARADISE PARK ศูนย์สุขภาพครบวงจรในย่านศรีนครินทร์
ทางด้าน ซีคอนสแควร์ ที่มีศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ได้มีการรีโนเวทพื้นที่ครั้งใหญ่รอบ 30 ปี ภายหลังสิ้นสุดสัญญากับโรบินสัน ศรีนครินทร์ ทั้งการดึงแบรนด์และปรับโซนต่างๆ ต่อเนื่องจากการจัดทำ MUNx2 ที่เป็น Retail Experimental Space เป็นต้น ส่วนซีคอน บางแค ได้จัดทำ ป้ายรถเมล์ติดแอร์พลังงานแสงอาทิตย์ แห่งที่สอง ใน กทม. ต่อเนื่องจากสาขาแรกที่ทำคือ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
สำหรับ บิ๊กซี ห้างค้าปลีก ได้เร่งแผนรีโนเวทใหญ่ใน 18 สาขาทั้งในไทยและตลาดอาเซียน รับเทรนด์ลูกค้าที่ไม่ได้เข้ามาซื้อของในห้างเท่านั้น แต่เข้ามาใช้ชีวิต และทำงานเช่นกัน ต่อเนื่องไปในอาเซียนได้บุกเบิกไปเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในประเทศลาว ครั้งแรก ที่เมืองเวียงจันทน์
ขุมทรัพย์การค้าย่านใจกลางเมืองแข่งหนัก
ในทำเลใจกลางเมือง กทม. หลายแห่ง ต่างเป็นย่านการค้าที่สุดดุเดือดเช่นกัน โดยเซ็นทรัลรีเทล ได้มีการขยายค้าปลีกในเครือครั้งใหญ่ทั้งในไทย เวียดนาม และอิตาลี โดยมีไฮไลต์ที่ทุกคนติดตามกับ เซ็นทรัลชิดลม แฟล็กชิปสโตร์ ได้รีโนเวทใหญ่ในรอบ 50 ปี ด้วยงบลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท วางหมุดหมายสู่การเป็นเวิลด์ คลาส ลักชัวรี เดสทิเนชัน พร้อมดึงแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา และสินค้าเอ็กซ์คลูชีฟมาจำหน่ายสัดส่วน 10% โดยเซ็นทรัลชิดลม นับเป็นห้างที่สร้างยอดขายสูงสุดของห้างกลุ่มเซ็นทรัล
อีกทั้งสีลมและพระรามสี่ ที่มีมิกซ์ยูสโครงการขนาดใหญ่ จ่อคิวเปิดกับ เซ็นทรัลพาร์ค แบรนด์ใหม่จากเซ็นทรัลพัฒนา ภายใต้โครงการดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค คาดว่ากำหนดเปิดในช่วงปลายปีหน้า 2568 และในบริเวณพระรามสี่ยังมีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ วัน แบงค็อก (One Bangkok) เปิดให้บริการแล้ว
รีเทลไม่มีวันหลับไหลกับย่านสุขุมวิท
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าไทยส่วนใหญ่มักเปิดให้บริการในเวลา 10.00-22.00 น. ยกเว้นช่วงสำคัญที่จะขยายเวลาเปิดให้บริการจนถึงเที่ยงคืน โดยเฉพาะในคืนเคานต์ดาวน์ โดย กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้มีการเปิดศูนย์การค้าใจกลางเมืองกับ เอ็มสเฟียร์ วางรูปแบบให้เป็นศูนย์การค้าไม่มีวันหลับไหล ในช่วงต้นปีได้มีการเปิด ยูโอบี ไลฟ์ (UOB Live) อย่างเป็นทางการ รองรับการจัดงานแสดงสินค้า งานคอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ
รวมถึงเปิดโซนใหม่ ร้านอาหารและผับบาร์ บริเวณชั้น 5 และชั้น 5 M กับ EM Wonder มีจำนวน 30 ร้านค้า ทำให้กลายเป็นแหล่งแฮงก์เอาต์แห่งใหม่ ร่วมดึงดูดลูกค้าคนไทยและต่างชาติ โดยทำเลสุขุมวิทเป็นแหล่งที่มีกลุ่ม Expat ทำงานในพื้นที่มากแห่งหนึ่งของ กทม. ทำให้หลายคนบอกว่า โซนใหม่นี้คล้ายๆ การนำย่านทองหล่อในช่วงค่ำคืนไปอยู่บนศูนย์การค้า สำหรับการเปิดย่านกลางคืนแห่งใหม่ เพื่อร่วมยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น ENTERTAINMENT HUB OF ASIA โดยโซนนี้เปิดจนถึงเที่ยงคืนทุกวัน
“คู่ชิงสังเวียนแห่งปี” โก โฮลเซลล์ - แม็คโคร
ทุกสมรภูมิของธุรกิจ ไม่มีธุรกิจใด ไร้คู่แข่ง ทั้งในตลาดเรดและบลูโอเชียน ต่างต้องมีคู่แข่งขันเสมอ... ไม่มากก็น้อย ทำให้ในปีนี้ได้เห็นการขยายธุรกิจของค้าส่งอาหาร หรือ ฟู้ดรีเทล ชิงขยายในทำเลทอง และการรีโนเวทสาขาตลอดปี ระหว่าง โก โฮลเซลล์ แบรนด์ใหม่ จากเซ็นทรัลรีเทล และ แม็คโคร จากซีพี ทั้งนี้แม็คโคร ห้างค้าส่งแห่งแรกที่อยู่ในตลาดมา 35 ปี จึงมุ่งรีโนเวทสาขาเดิมในแต่ละทำเล รักษาความเป็นผู้นำ ควบคู่กับการขยายสาขาใหม่ ทางด้าน โก โฮลเซลล์ ที่มีแผนเปิดสาขาใหม่ตลอดปีประมาณ 7-8 สาขา
ต้องติดตามต่อไปว่า ระยะยาวสังเวียนตลาดค้าส่งอาหารที่มีมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมถึงอีโคซิสเต็มของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟู้ดเช่นกัน
ปีแห่งการจัดซอฟต์พาวเวอร์ไทย - เฟสติวัลตลอดปี
ไฮไลต์นอกการลงทุนขยายพื้นที่และดึงแบรนด์ใหม่เข้ามาแล้ว การทำอีเวนต์ของศูนย์การค้าไทยตลอดปีที่ผ่านมา เรียกว่า จัดเต็มไม่แพ้ประเทศใดในโลก ทั้งอีเวนต์ต้นปีกับงานตรุษจีนในเดือน ก.พ. ตามด้วย งานใหญ่สงกรานต์ ในเดือน เม.ย. และกลางปีกับ ไพรด์มัน (Pride Month) ต่อด้วย เซลล์ใหญ่กลางปี ไปจนถึงช่วงปลายปีที่เป็นไฮซีซันค้าปลีก ทั้งมิวสิค เฟสติวัล และเคานต์ดาวน์ใหญ่แห่งปีของศูนย์การค้าต่างๆ ทั้งในเมืองกับ เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เดอะมอลล์ ซีคอน เป็นต้น ผนึกกำลังดึงศิลปินไทยชื่อดังและซูเปอร์สตาร์มาร่วมงานอย่างคับคั่ง
รวมถึง แลนด์มาร์กริมแม่น้ำเจ้าพระยากับ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (ICONSIAM) กลายเป็นรีเทลที่ดึงดูดผู้คนทั่วโลกให้มาเยือนและสัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงและความสนุกแห่งปี ทั้งงาน สงกรานต์ ลอยกระทง และงานเคานต์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่าและเฉลิมฉลองสู่ปีใหม่ โดยในปี 2567 มี ลิซ่า หรือ ลลิษา มโนบาล ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกของไทย ร่วมนำทัพศิลปินและศิลปินจากนานาชาติ ฉลองค่ำคืนแห่งความสุข จึงมีการประเมินว่าจะมีคนทั่วโลกสนใจรับชมงานเคานต์ดาวน์ออนไลน์ ครั้งนี้กว่า 30 ล้านคน
การผลัดใบของผู้บริหารคลื่นลูกเก่า-ลูกใหม่
ในรอบปี 2567 เห็นการเปลี่ยนตำแหน่งของหัวเรือค่ายต่างๆ ทั้งเซ็นทรัลรีเทล โดยมือหนึ่งกับ "ญนน์ โภคทรัพย์" ได้ครบกำหนดเกษียณอายุการทำงาน หลังกุมบังเหียนบริหารองค์กรมาร่วม 8 ปี ทำให้มีการแต่งตั้ง “สุทธิสาร จิราธิวัฒน์” ซีอีโอจากไทวัสดุ ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง เซ็นทรัลรีเทล มีผลทางการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2568 เคลื่อนอาณาจักรค้าปลีกแสนล้าน
รวมถึง โรบินสัน ห้างไทยเก่าแก่ ที่มี “เลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์” เข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ เคลื่อนแผนธุรกิจของ 24 สาขาในเครือ พร้อมด้วยการปรับพื้นที่ไปสู่มิกซ์ยูส และรีโนเวทสาขาเดิม ทั้งกาญจนบุรีและสมุทรปราการ เป็นต้น
อีกทั้งสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เช่นกัน กับการมี "ณัฐ วงศ์พานิช" จากปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เข้ามารับตำแหน่ง ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ แทน "ญนน์ โภคทรัพย์" ร่วมขับเคลื่อนค้าปลีก และนำเสนอนโยบายต่างๆ ต่อภาครัฐ เพื่อทำให้ค้าปลีกของประเทศไทยแข็งแกร่งมากขึ้น
การอำลาของ ตั้งฮั่งเส็ง ธนบุรี! ตำนานห้างไทย
เป็นข่าวที่ทุกคนติดตามอย่างมากกับ ห้างใหญ่ "ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี" ประกาศปิดทางการ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2567 หนึ่งในตำนาน ห้างไทยย่านฝั่งธนบุรีที่เปิดให้บริการมายาวนาน 30 ปี เนื่องจากประสบกับภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่มากขึ้น โดยมีทุนใหม่เข้ามาบริหารกับ “บริษัท เอ็มพีวี โฮลดิ้ง” มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท หลายฝ่ายมองว่าทุนใหม่อาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญค้าปลีก จึงต้องติดตามว่าทุนใหม่ จะเข้ามาฟื้นฟู หรือ ปรับพื้นที่อย่างไรต่อไป
ทิ้งไว้บทเรียนให้แก่ผู้ประกอบการ ทุกธุรกิจมีทั้งยุครุ่งเรืองและช่วงเวลาโรยรา หรือเรียกว่า Product Life Cycle เป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไร ให้ธุรกิจที่เข้าสู่ช่วงขาลง กลับมาผงาดขึ้นได้อีกครั้ง โดยต้องยอมรับว่าการทำค้าปลีกต้องทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในแต่ละปี เพื่อทำให้ศูนย์การค้ายังคงความโมเดิร์น มีร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาร่วมดึงดูด และการจัดอีเวนต์ต่างๆ มาเรียกลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่า ต้องจัดอีเวนต์ในแทบทุกสัปดาห์
นอกจากตั้งฮั่วเส็งที่ปิดฉากแล้ว ในกลุ่มบิ๊กซี มีการปิดสาขาเดิม 2 แห่ง สาขาสุขาภิบาล 3-2 (แยกบ้านม้า) และ บิ๊กซี สาขารังสิต 2 ส่วน บิ๊กซี สาขาราษฎร์บูรณะ ย้ายไปทำเลใหม่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตามตลาดและลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ซูเปอร์มาร์เก็ต “ฟู้ดแลนด์” มีการปิดสาขาที่ นครราชสีมา เรียกว่าทำเลมีส่วนสำคัญในการขยายกลุ่มลูกค้าเช่นกัน
การเข้ามาของทุนจีน สมรภูมิเพิ่งเริ่ม ศึกชิงลูกค้า-นักท่องเที่ยว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลื่นทุนต่างชาติที่เข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยสูงมากคือ นักลงทุนจากประเทศจีน มีทั้งการเข้ามาลงทุนเอง การร่วมลงทุนกับพันธมิตรไทย และการขยายแฟรนไชส์ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ สำหรับในพื้นที่ของศูนย์การค้าต่างๆ ได้มีแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์ จากประเทศจีนเข้ามาเปิดสาขา รวมถึง POP Mart อาร์ตทอยส์ที่กำลังมาแรงในตลาดอาเซียน
นอกจากการมีแบรนด์จีนเข้ามาแล้ว หากไปสำรวจหลายทำเลของย่านการค้า ต่างมีผู้ประกอบการจีนเข้ามาเปิดธุรกิจ ทั้งร้านค้าส่งและค้าปลีก ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งในทำเลสำเพ็ง ห้วยขวาง ประตูน้ำ เป็นต้น ไปจนถึงการเปิดศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่กับ ซามาเลีย พลาซ่า ในย่านบางนาเช่นกัน
ทั้งหมดเป็นอีกปีที่ค้าปลีกไทย ปรับแผนบริหารกลยุทธ์ครั้งใหญ่ จึงมีทั้งธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และธุรกิจที่เผชิญกับการแข่งขันที่มีมากขึ้น เข้าขั้นชะลอตัวเช่นกัน!