เทรนด์อัปราคาห้องพัก ‘โรงแรม’ ชะลอ มั่นใจปี 68 ทัวริสต์ต่างชาติทะลุ 40 ล้านคน

เทรนด์อัปราคาห้องพัก ‘โรงแรม’ ชะลอ มั่นใจปี 68 ทัวริสต์ต่างชาติทะลุ 40 ล้านคน

“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ธ.ค. 2567” จัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจระหว่าง 11-25 ธ.ค. มีผู้ตอบแบบสำรวจ 92 แห่ง พบว่าโรงแรมทั้งระดับ 4 ดาวขึ้นไป และไม่เกิน 3 ดาว สามารถปรับ “ราคาห้องพัก” สูงขึ้นในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบกับ พ.ย.

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า เมื่อดูเฉพาะโรงแรมระดับ “4 ดาวขึ้นไป” มีโรงแรมสัดส่วน 15% สามารถขายราคาห้องพักเฉลี่ยที่ระดับ 5,000-7,499 บาทต่อคืน ขณะที่ส่วนใหญ่ 44% ขายราคาห้องพักเฉลี่ย 2,500-4,999 บาทต่อคืน และอีก 27% ขายราคาห้องพักเฉลี่ย 1,500-2,499 บาทต่อคืน

ด้านโรงแรมระดับ “ไม่เกิน 3 ดาว” พบว่า 7% สามารถขายราคาห้องพักเฉลี่ยที่ระดับ 2,500-4,999 บาทต่อคืน แต่ส่วนใหญ่ 39% ขายราคาห้องพักเฉลี่ย 1,500-2,499 บาทต่อคืน ขณะที่อีก 39% ขายราคาห้องพักเฉลี่ย 1,000-1,499 บาทต่อคืน และ 15% ขายราคาห้องพักเฉลี่ยได้ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อคืน

“ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราการปรับเพิ่มราคาห้องพักมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากเร่งขึ้นไปมากหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 หมดลงช่วงแรก”

เทรนด์อัปราคาห้องพัก ‘โรงแรม’ ชะลอ มั่นใจปี 68 ทัวริสต์ต่างชาติทะลุ 40 ล้านคน

สำหรับภาพรวม “ธุรกิจโรงแรมปี 2567” ที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก “อัตราการเข้าพัก” เฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนและเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดแล้ว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นในโรงแรมทุกระดับดาวและเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคเหนือ หลังได้รับผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4

เฉพาะเดือน ธ.ค. 2567 โรงแรมมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 76% โดยโรงแรมใน “ภาคตะวันออก” มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยมากอันดับ 1 ที่ระดับ 83.9% เพิ่มขึ้นจาก 70.9% ของเดือนก่อน รองลงมาคือ ภาคกลาง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 79.5% เพิ่มขึ้นจาก 77.8% ส่วนภาคใต้ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 76% เพิ่มขึ้นจาก 74.3% ด้านภาคเหนือ 66.6% เพิ่มขึ้นจาก 60.3% ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่แสดงข้อมูล เนื่องจากมีผู้ตอบน้อย

“ผลสำรวจคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือน ม.ค. 68 จะอยู่ที่ระดับ 73% เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกระดับดาวเช่นกัน”

เทรนด์อัปราคาห้องพัก ‘โรงแรม’ ชะลอ มั่นใจปี 68 ทัวริสต์ต่างชาติทะลุ 40 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ในเดือน ธ.ค.2567 โรงแรมที่มีสัดส่วน “ลูกค้าต่างชาติ” มากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับภาพรวมปี 2567 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักอย่างภาคกลางและภาคใต้ ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าต่างชาติหลักในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เอเชียและตะวันออกกลาง (ไม่รวมจีนและมาเลเซีย) และยุโรปตะวันตก ซึ่งเข้าพักโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปเป็นสำคัญ

“ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่คาดด้วยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40 ล้านคน สอดคล้องกับประมาณการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขณะที่ห้องพักในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย”

ด้าน “การจ้างงาน” ในเดือน ธ.ค. 2567 มีสัดส่วนโรงแรมที่เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานลดลงจากเดือนก่อน ทั้งในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปและไม่เกิน 3 ดาว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่กระทบเพียงคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบกับความสามารถในการรองรับลูกค้า

เทียนประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวช่วง “ปีใหม่ 2568” ที่ผ่านมาว่าเป็นไปอย่างคึกคัก เกิดจากความร่วมมือของทางภาครัฐและเอกชนในการจัดงาน “Amazing Thailand Countdown 2025” กิจกรรมแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกผ่านการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต จากศิลปินจากศิลปินที่มีชื่อเสียง และการแสดงพลุสุดยิ่งใหญ่อลังการ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน “Global Countdown Destination” จุดหมายที่สำคัญในการเฉลิมฉลองการนับถอยหลังปีเก่าสู่ศักราชใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ 

รวมทั้งมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) และยกเว้นบัตร ตม.6 สำหรับด่านชายแดนทางบก สายการบินเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ที่เป็นปัจจัยช่วยส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 35 ล้านคน ในปี2567

สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อน “ปีแห่งการท่องเที่ยวและกีฬา” หรือ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” โดยการสร้างสรรค์ประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว จะนำไปสู่การเพิ่มการใช้จ่ายนักท่องเที่ยว และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนยังคงต้องร่วมมือและใส่ใจในเรื่องผลกระทบต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมปัญหาความเสื่อมโทรม เพราะ “การท่องเที่ยว” เป็นสิ่งที่โดดเด่นในการหารายได้เข้าประเทศ