‘อาชวิณ’ เจน 3 แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กับคติเตือนใจ...อย่าทำเจ๊ง! ที่ ‘เจ้าสัวอนันต์’ ไม่ได้พูด

“อย่าทำเจ๊ง!” คือวลีเตือนใจของ ‘เต้ย - อาชวิณ อัศวโภคิน’ ทายาทเจน 3 แห่งอาณาจักร ‘แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์’ บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย หลังสั่งสมประสบการณ์ด้านการเงินการธนาคารจากหลายค่ายกว่า 20 ปี กระทั่งเข้ามานั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เมื่อปลายปี 2566
อาชวิณ บุตรชายคนโตในวัยย่าง 50 ปีของเจ้าสัวอนันต์ อัศวโภคิน ปรากฏตัวในฐานะผู้บริหารในงานแถลงข่าวประจำปีของ แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ เป็นครั้งแรก เมื่อ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงคำสอนเจ้าสัว เขาตอบในทันใดว่า “อย่าทำเจ๊ง...ตรงนี้คุณพ่อไม่ได้พูด ผมคิดเอาเอง (ยิ้ม)”
“แต่สิ่งที่คุณพ่อให้แนวคิดและนำมาปรับใช้ในการบริหาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คือ ด้วยองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ผู้บริหารอาจห่างจากตลาดไปในบางที ผมจึงมองว่าจุดสำคัญคือการทำความเข้าใจลูกค้าอยู่เสมอ เอาใจใส่ และทำการบ้านเยอะๆ เราขายบ้าน เราขายคุณภาพ”
โมเดล 'กระจายเสี่ยง' มุ่งโรงแรม ฝ่าโจทย์ยากอสังหาฯ
หากมองย้อนไปยัง “โมเดลธุรกิจ” ที่เจ้าสัวอนันต์วางไว้ อาชวิณ ย้ำว่า “เป็นโมเดลที่ดี” เพราะแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทอสังหาฯ ที่มี “การกระจายความเสี่ยง” (Diversify) ในช่วงเศรษฐกิจหรือธุรกิจอสังหาฯ “เริ่มยากขึ้น” ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากด้านอื่นๆ ด้วย ถือเป็นกลยุทธ์ที่มองมานานแล้ว หลังเห็นเทรนด์อัตราการเกิดของครอบครัวยุคปัจจุบันที่มีลูกไม่ถึง 2 คน
แนวทางการบริหารอาณาจักร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จึงย่อผ่าน 3 คีย์เวิร์ด ได้แก่ “ระบายสต็อกอสังหาฯ - ลดระดับหนี้สินต่อทุน - กระจายความเสี่ยง” นั่นเอง!
อาชวิณ อัศวโภคิน ทายาทเจน 3 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
เมื่อเจาะลึกมิติกระจายความเสี่ยง ที่ผ่านมามีการลงทุนใน “โฮมโปร” (HomePro) และการขยายธุรกิจ “โรงแรม” ซึ่งเติบโตโดดเด่น ล้อไปกับคลื่นการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวเทียบเท่ายุคก่อนโควิดระบาด โดยปัจจุบันเปิดให้บริการโรงแรมระดับลักชัวรีภายใต้แบรนด์ “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์” (Grande Centre Point) แล้ว 7 แห่ง
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างพัฒนาก่อสร้างโรงแรมอีก 3 แห่งใหม่ใน “กรุงเทพฯ” และ “พัทยา” เดสติเนชันที่ไม่มีคำว่าโลว์ซีซัน คนเที่ยวตลอดทั้งปี แต่ละแห่งมีขนาดใหญ่ประมาณ 500 ห้องพักซึ่งตอบโจทย์การประหยัดทางขนาด มูลค่าลงทุนรวม 13,700 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการมิกซ์ยูส แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี ลงทุน 4,800 ล้านบาท ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 12,700 ตารางเมตร กับโรงแรม 512 ห้อง เปิดบริการ 1 เม.ย.นี้ ส่วนโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2 (เดิมคือ เดอะ เพนนินซูล่า พลาซ่า ห้างหรูยุค 80) ลงทุน 4,600 ล้านบาท กำหนดเปิดไตรมาส 1 ปี 2569 และโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา 3 ลงทุน 4,300 ล้านบาท กำหนดเปิดไตรมาส 1 ปี 2570
เลือดดีเวลลอปเปอร์ข้น! ทำโรงแรมสู้เชนต่างชาติ
“ด้วย แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นดีเวลลอปเปอร์มาก่อน ถ้าไปดูทางเดินภายในโรงแรมที่เราทำ จะปูกระเบื้อง 3 แผ่นพอดี ไม่มีเศษ หรือตัวประตูห้องพัก เราจะใช้วัสดุค่อนข้างแข็งแรงเพื่อลดการกระแทก หรือแม้แต่ผนังภายในห้องพักก็เป็นน็อกดาวน์ที่สามารถเปลี่ยนได้ภายใน 2 ชั่วโมงหากเกิดความเสียหาย ทำให้ต้นทุนในการรันธุรกิจโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ค่อนข้างต่ำกว่าที่อื่น”
“และเมื่อเราไม่ได้ว่าจ้างเชนโรงแรมมาบริหาร ทำให้ต้องเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ควบคู่กับการให้บริการที่ดี โรงแรมตั้งอยู่บนโลเกชันที่ดี มอบบริการห้องพักแบบลักชัวรีในราคาจับต้องได้ ตอบสนองลูกค้าได้ทันที ใส่ใจทุกรายละเอียด ลูกค้าไม่ชอบอะไรก็ต้องเร่งปรับปรุง” อาชวิณ เล่าถึงเคล็ดลับการทำโรงแรมสู้กับเชนต่างชาติ
เปิดสูตรรันธุรกิจโรงแรม สไตล์ 'แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์'
ขณะเดียวกัน แนวทางการทำธุรกิจโรงแรมคือ “การขายเข้ากองทรัสต์ แล้วรับกลับมาบริหาร” โดยตอนนี้กลุ่มบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) ในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรมและศูนย์การค้า มีโรงแรมเดียวในพอร์ตโฟลิโอคือ “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์” ที่ยังไม่ได้ขายเข้ากองทรัสต์ เพราะเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2566 อยู่ระหว่างสร้างอัตราเข้าพักให้สูงขึ้นในช่วง 3 ปีแรกก่อนขายเข้ากองทรัสต์ นี่คือ “สูตรการรันธุรกิจโรงแรม” ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์!
“ความตั้งใจของเราคือจะขายโรงแรมเข้ากองทรัสต์ทุกแห่ง เพราะเคยมีคนทำการศึกษาว่า ถ้าเราต้องการขยายพอร์ตโรงแรม หากเลือกเก็บเงินที่ได้มาจากโรงแรมเพื่อนำไปสร้างแห่งใหม่ ต้องใช้เวลาเก็บนานถึง 7 ปี แต่วิธีนี้คือเราสร้างโรงแรม ดูแลให้โตแล้วขายเพื่อนำเงินมาสร้างใหม่ จะทำให้เราขยายพอร์ตได้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่โรงแรมในเครือที่เราบริหาร ถ้าเทียบกับเงินลงทุน สร้างผลตอบแทนเกือบ 20% ในบางแห่ง ต่ำสุดก็ประมาณกว่า 10% ถือว่าไม่น้อย”
ด้านโรงแรมนอกบ้านเกิดใน “สหรัฐ” ปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่ สปริงฮิลล์ (SpringHill) และ เรสซิเดนซ์ อินน์ (Residence Inn) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ภายใต้การบริหารโดยแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล อาชวิณ เล่าว่า ยังคงศึกษาตลาดว่ามีโรงแรมไหนน่าลงทุน “เทคโอเวอร์” เพิ่ม ตามเป้าหมายการรุกธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ในอนาคต
“ปัจจุบัน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีโรงแรมในเครือคิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 3,000 ห้อง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 1 ล้านรูมไนต์ (Room Night) เมื่อคำนวณจากอัตราเข้าพักเฉลี่ย 85% จากโรงแรมทุกแห่งในเครือ ถ้ามีลูกค้าเข้าพัก 2 คนต่อห้อง เท่ากับว่าเรามีลูกค้า 2 ล้านคนต่อปี”
ประสบการณ์ 'การเงิน' กว่า 20 ปี ซัพพอร์ตหลังบ้าน
อาชวิณ เล่าเพิ่มเติมถึง “ประสบการณ์ด้านการเงินกว่า 20 ปี” นับตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐ เริ่มทำงานเมื่อปี 2542 กับโกลด์แมน แซคส์ นิวยอร์ก วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ก่อนจะตีตั๋วกลับประเทศไทย ทำงานธนาคารพาณิชย์ เป็นเทรดเดอร์บ้าง ดูแลกลุ่มผลิตและตราสารหนี้ต่างประเทศ ค่อยๆ เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ นำมาปรับใช้กับการบริหารจัดการ “การเงิน” คอยซัพพอร์ตหลังบ้านของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคุมต้นทุนทางการเงินให้ไม่แพงเกินไปในยุคเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
“แม้เพิ่งมารับตำแหน่งผู้บริหารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แต่ใช่ว่าผมต้องเริ่มนับหนึ่ง เพราะผมเป็นบอร์ดทั้งที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รวมถึงโฮมโปร และควอลิตี้เฮ้าส์ เป็น 10 ปีแล้ว ต้องเข้ามาเรียนรู้เยอะเหมือนกันจากทีมพี่ๆ บริหารที่เขาอยู่มานาน ถามว่าหนักใจไหมในฐานะทายาทเจน 3 จริงๆ ทำที่ไหนก็หนักใจหมด เพราะทุกที่ที่เคยทำมา เป็นงานที่มีความรับผิดชอบสูง กดดัน ต้องใช้ความตั้งใจ”
'เจ้าสัวอนันต์วางหมาก' = วางรากฐานองค์กร
เขาเล่าย้อนถึงเกร็ดประวัติการก่อตั้ง แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ด้วยว่า “จริงๆ แล้วคุณย่า (เพียงใจ หาญพาณิชย์) ผู้ก่อตั้งธุรกิจ มีส่วนทำให้คุณพ่อมาทำธุรกิจอสังหาฯ มีเรื่องเล่าว่าคุณพ่อกลับเมืองไทยแล้วตั้งใจจะไปเรียนต่อ แล้วตอนนั้นคุณย่ากำลังทำหมู่บ้านอยู่ จึงพาคุณพ่อไปดู แล้วคุณพ่อก็บอกว่าอันนี้ทำไม่ได้นะ อันนี้ทำไม่ถูกหลักการ สุดท้ายแทนที่จะกลับไปเรียนต่อ ก็ทำยาวเลย ผมว่าคุณย่าท่านวางแผนไว้แล้ว (ยิ้ม)”
เมื่อถามว่า เจ้าสัวอนันต์ ได้ช่วยวางหมากและสนับสนุน อาชวิณ อย่างไรบ้าง? เขาเล่ากลั้วเสียงหัวเราะว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมว่าจริงๆ แล้วที่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีพี่ๆ ที่มีประสบการณ์และความสามารถอยู่มาก คำว่า ‘คุณพ่อวางหมาก’ คงหมายถึงการวางรากฐานพี่ๆ ผู้บริหารเอาไว้ ผมเองก็แค่หมากตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนบริษัทมากกว่า”