‘โรงแรมลักชัวรี’ โตเด่น แนะยึดจุดแข็ง ยก ‘กรุงเทพฯ’ เทียบชั้นเมืองระดับโลก

“เอสทีอาร์” เผยข้อมูลราคาห้องพักโรงแรมระดับลักชัวรีใน “กรุงเทพฯ” ปี 67 เติบโตน่าทึ่ง เพิ่มขึ้น 43% เทียบปี 62 ก่อนโควิด แตะระดับ 200 ดอลลาร์สหรัฐ/ห้อง/คืน แต่ยังห่างจาก “สิงคโปร์” และ “ลอนดอน” 2-3 เท่า กว่า 20% ทำราคาขายได้ถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐ/ห้อง/คืน หรือเหยียบ 1 หมื่นบาท
เอสทีอาร์ (STR) บริษัทวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ประเมินภาพรวมโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ พบว่ามีแนวโน้มเติบโตดี และแข็งแกร่งในทุกสภาวะ โดยตั้งแต่ปี 2553 หรือตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เห็นการเติบโตของซัพพลายโรงแรมเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี และคาดการณ์ไปข้างหน้าว่าการเติบโตจะช้าลง โดยโรงแรมที่เห็นการเติบโตเร็วที่สุดจะอยู่ในย่านสีลม และย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นายเจสเปอร์ ปาล์มควิช ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลการบริการ และรองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอสทีอาร์ (STR) เปิดเผยว่า “เทรนด์การเปิดโรงแรมใหม่ในไทยนับจากนี้ จะมีจำนวนห้องพักน้อยลง แต่จะมีจำนวนแบรนด์มากขึ้น โดยกว่า 58% เป็นแบรนด์โรงแรมระดับลักชัวรี”
สถานการณ์ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ในไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ถือเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นกับทุกประเทศ ยกเว้น ญี่ปุ่น ที่มีราคาห้องพักเฉลี่ยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้อานิสงส์เงินเยนอ่อนค่า มีจำนวนเที่ยวบินเข้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตโดดเด่น ส่วนภาพรวมรายได้ต่อห้องพัก (RevPAR) ของโรงแรมในไทยถือว่ายังดูดี
“สมุย” ค่าห้องโตแรงสุด 9%
สำหรับภาพรวมตลาดโรงแรมในไทยในปี 2567 มีการฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจน ถ้าดูอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ใน 7 เมืองท่องเที่ยวหลัก พบว่าทุกพื้นที่มีอัตราการเข้าพักเติบโตดี เชียงใหม่เติบโตสูงสุด 15.1% เทียบกับปี 2566 หลังจากก่อนหน้านั้นเบาบางไป รองลงมาคือ กระบี่ อัตราการเข้าพักเติบโต 13.2%, สมุย 11.9%, หัวหิน 7.7%, กรุงเทพฯ 6.5%, พัทยา 4.7% และภูเก็ต 4.4%
ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนของปีที่แล้ว สมุยเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตมากที่สุด 9.2% รองลงมาคือ ภูเก็ต 7.8%, กรุงเทพฯ 7.4%, พัทยา 6.3%, กระบี่ 5.1% และเชียงใหม่ 3% ยกเว้นหัวหิน เป็นพื้นที่เดียวที่มีราคาห้องพักเฉลี่ยติดลบเล็กน้อย 1.3%
ค่าห้องโรงแรมลักชัวรี “กรุงเทพฯ” โตพุ่ง 43%
นายเจสเปอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เฉพาะตลาดโรงแรมลักชัวรีในกรุงเทพฯ พบว่าเติบโตอย่างน่าทึ่ง โดยราคาห้องพักเฉลี่ยเมื่อปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 42.7% เทียบกับราคาห้องพักระดับ 5,000 บาทเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด และเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับราคาปี 2566 เพราะมีดีมานด์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
และเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ พบว่า สิงคโปร์ มีราคาห้องพักเฉลี่ย 427 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน ขณะที่ ลอนดอน มีราคาห้องพักเฉลี่ย 604 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน แม้จะห่างจากสิงคโปร์มากกว่า 2 เท่า และห่างจากลอนดอน 3 เท่า แต่มองอีกมุมคือ ยังมีส่วนต่างราคา และศักยภาพในการเติบโต ทั้งยังเป็นความได้เปรียบในเชิงแข่งขันด้านราคาอีกด้วย
“กว่า 20% ของโรงแรมลักชัวรีในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว สามารถขายห้องพักได้ในราคาเฉลี่ยคืนละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,000 บาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น สอดรับกับแนวคิดลักชัวรียุคใหม่ ที่เน้นเสน่ห์ของธรรมชาติ และเอกลักษณ์ด้านอาหารในย่านต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นจุดดึงดูดสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์”
ด้านภาพรวมธุรกิจโรงแรมในปีนี้ยังดูสดใส จากเศรษฐกิจไทยที่ดูมีเสถียรภาพมากขึ้น และยังคงมีดีมานด์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจองโรงแรมที่พักอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจพบว่าโรงแรมจะมีอัตราการเข้าพักในไตรมาส 1 ปี 2568 มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
“ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเดินทางมาเยือน แต่ธุรกิจโรงแรมยังคงมีโจทย์สำคัญ นั่นคือ เรื่องการบริหารต้นทุนที่ต้องกาดอกจันเอาไว้”
ยก “กรุงเทพฯ” เมืองระดับโลก เทียบชั้นดูไบ-ไมอามี
นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ (C9 Hotelworks) กล่าวในงาน ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม ฟอรั่ม 2025 เมื่อกลางเดือนม.ค. ว่า ตอนนี้กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองระดับโลกไปแล้ว สามารถดึงดูด และรองรับนักท่องเที่ยวได้มากมายจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย จากความพร้อมด้านโรงแรม ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ไม่ต่างจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากยุโรป และไมอามี สหรัฐ รองรับนักท่องเที่ยวฝั่งอเมริกาเหนือ
“คาดว่าในปี 2568 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะสดใส หลังเห็นภาพรวมปี 2567 เป็นปีที่ดี มีนักท่องเที่ยวชาติฟื้นตัวมากกว่า 35 ล้านคน จากมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) ของรัฐบาล โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามามากเป็นอันดับ 1 แม้จะยังไม่กลับมาเท่าปีก่อนโควิดระบาด แต่ตลาดดาวรุ่งอื่นๆ ก็มาแรง ช่วยผลักดันการฟื้นตัว”
บิล บาร์เน็ต
“ลักชัวรียุคใหม่” มุ่งดูแลสุขภาพ-อายุยืน
สำหรับกระแสใหม่ในตลาดลักชัวรีมีการขับเคลื่อนโดยกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) คิดเป็นมูลค่าในไทย 1.2 ล้านล้านบาท (34.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้านตลาดกลุ่มที่พักอาศัยแบรนด์หรู หรือ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ (Branded Residence) ปัจจุบันมีขนาดตลาดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ด้วยมูลค่ากว่า 1.91 แสนล้านบาท (5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สะท้อนให้เห็นความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบแบรนด์เนมด้านอสังหาฯ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ก้าวข้ามขอบเขตของสปา มาสู่การรักษาทางการแพทย์ที่ประเทศไทยกำลังเป็นผู้นำตลาด รวมถึงการใช้ชีวิตกลางแจ้ง และการสร้างไลฟ์สไตล์ที่ส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อนานขึ้น และปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยแนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพเพื่ออายุยืนกำลังก้าวขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดลักชัวรียุคใหม่” นายบิล กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์