‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

กลุ่ม “เซนเตอร์ พอยต์” (Centre Point Group) เครือโรงแรมสัญชาติไทย ภายใต้การบริหารงานของ “คิวเฮ้าส์”​ ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านฮอสพิทาลิตี้มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส” (Centre Point Plus Hotel) เป็นโรงแรมระดับอัปสเกล 4.5 ดาว

ภายใต้แนวคิด “Your Plus Happiness” เพื่อตอบโจทย์นักเดินทางทุกกลุ่มเป้าหมายที่มองหาประสบการณ์พักผ่อนทั้งคุณภาพ ความสะดวกสบาย และบริการเหนือระดับ

มัลลิกา ทัศนนิพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท คิว.เอช. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารกลุ่มเซนเตอร์ พอยต์ กล่าวว่า ในปี 2568 ได้นำร่องเปิดให้บริการโรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ พลัส พร้อมกัน 2 แห่งแรกในทำเลศักยภาพ ได้แก่ “สีลม ริเวอร์วิว” ขนาดห้องพัก 214 ห้อง และ “ประตูน้ำ” ขนาดห้องพัก 254 ห้อง หลังจากเริ่มรีโนเวตเมื่อไตรมาส 2 ปีที่แล้ว พร้อมรีแบรนด์จากเดิมชื่อ “เซนเตอร์ พอยต์” (Centre Point) เปลี่ยนมาใช้ชื่อใหม่ “เซนเตอร์ พอยต์ พลัส”

“โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ พลัส ทั้งสองแห่งแรก ใช้งบปรับปรุงโฉมใหม่รวม 550 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น แหล่งชอปปิง และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างสะดวกสบาย ตั้งเป้ารายได้จากโรงแรมสองแห่งนี้ในปี 2568 อยู่ที่ 700 ล้านบาท จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 85-90%”

สำหรับโครงสร้างลูกค้าต่างชาติที่นิยมเข้าพักโรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส ทั้งในสีลมและประตูน้ำ พบว่า 70% เป็นชาวเอเชีย ส่วน 15% เป็นชาวสหรัฐและยุโรป ขณะที่อีก 15% เป็นชาวตะวันออกกลางและอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อดูเฉพาะโรงแรมตรงสีลม ส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรปเข้าพักมากที่สุด ขณะที่ประตูน้ำ ส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้านรูปแบบการเดินทางของลูกค้าทั้งสองแห่ง สัดส่วนกว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยว ทั้งกลุ่มพักผ่อน (Leisure) และกลุ่มครอบครัว (Family) และอีก 20% เป็นนักเดินทางเพื่อธุรกิจ

‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

ทั้งนี้ช่วง 3 ปีข้างหน้า วางแผนรีแบรนด์โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ อีก 2 แห่งในทำเล “ใจกลางกรุงเทพฯ” เปลี่ยนมาใช้แบรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พลัส เช่นกัน ได้แก่ ทำเล “สุขุมวิท 10” ใช้งบปรับปรุงโฉมใหม่ 480 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จในปี 2569 และ “ชิดลม” อยู่ระหว่างสรุปงบปรับปรุง กำหนดแล้วเสร็จในปี 2570 ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทสนใจลงทุนพัฒนาโรงแรมใหม่เพิ่มในทำเลดีมีศักยภาพ มองทั้งโมเดลการซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารใหม่ และเข้าซื้อกิจการโรงแรมมาปรับปรุงและรีแบรนด์

‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

สำหรับโครงสร้างธุรกิจโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้ของ “กลุ่มเซนเตอร์ พอยต์” (Centre Point Group) มีดังนี้

  • โรงแรมภายใต้เครือ เซนเตอร์ พอยต์

กลุ่มที่ 1 โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ (Centre Point Hotel)
โรงแรมระดับกลาง 4 ดาว ปัจจุบัน มี 2 โครงการ  

-โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 10 (Centre Point Hotel Sukhumvit 10) – 226 ห้อง 
-โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ ชิดลม (Centre Point Hotel Chidlom) – 178 ห้อง 

กลุ่มที่ 2 เซนเตอร์ พอยต์ พลัส (Centre Point Plus Hotel) 
โรงแรมระดับอัพสเกลระดับ 4.5 ดาว โดยในปี 2568 เปิดให้บริการพร้อมกัน 2 โครงการ  

-โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส สีลม (Centre Point Plus Hotel Silom) – 214 ห้อง 
-โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส ประตูน้ำ (Centre Point Plus Hotel Pratunam) – 254 ห้อง 

กลุ่มที่ 3 เซนเตอร์ พอยต์ ไพร์ม (Centre Point Prime Hotel)
โรงแรม Limited Edition รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัว มี 1 โครงการ 

-โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ ไพร์ม พัทยา (Centre Point Prime Hotel Pattaya) – 475 ห้อง

 

  • รับจ้างบริหาร (Managed by Centre Point Hotel)

-เซนเตอร์ พอยต์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ทองหล่อ (Centre Point Serviced Apartment Thong Lo) - 156 ห้อง 

-โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ เทอร์มินอล21 โคราช (Centre Point Terminal21 Korat) - 190 ห้อง 

-โรงแรม แมนดารินกรุงเทพ (Mandarin Hotel Bangkok) – 367 ห้อง 

-เซนเตอร์ พอยต์ เรสซิเด้นท์ พร้อมพงษ์ (Centre Point Residence Phromphong) – 76 ห้อง 

-โครงการ แอล แอนด์ เอช วิลล่า สาทร (L&H Villa Sathon) – 37 ห้อง 

 

‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

“เมื่อปี 2567 กลุ่มเซนเตอร์ พอยต์ มีรายได้เกือบ 1,600 ล้านบาท เติบโต 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อน และประเมินว่าปีนี้จะมีรายได้เติบโตตามเป้าหมาย จากกลยุทธ์รีแบรนด์โรงแรม 2 แห่งในสีลมและประตูน้ำ ที่เปลี่ยนมาใช้แบรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พลัส เต็มปีแรก ทำให้สามารถอัปราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (ADR) เพิ่ม 15-20% ขายได้ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคืน จากปัจจัยหนุนกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเดินทางเข้าไทยในปีนี้มากถึง 40 ล้านคน โดยในเดือน ม.ค. กลุ่มเซนเตอร์ พอยต์ มีรายได้เติบโต 20% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว”

‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

ฉลอง เพียกุดเพ็ง ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส สีลม และโรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส ประตูน้ำ เล่าเสริมถึงกลยุทธ์ “3C Plus” ของแบรนด์โรงแรมใหม่ “เซนเตอร์ พอยต์ พลัส” ว่า มีด้วยกัน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.Plus Comfort ลูกค้าสัมผัสความหรูหราตั้งแต่ก้าวแรกที่ล็อบบี้ ด้วยบริการจากพนักงานอาคันตุกะสัมพันธ์(Guest Relation Officer) ห้องพักกว้างขวาง เตียงท็อปเปอร์(Topper) สองชั้นหนานุ่มพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเหนือระดับ อาทิเครื่องชงกาแฟสดแบบแคปซูล โถสุขภัณฑ์อัตโนมัติ สระว่ายน้ำสำหรับเด็ก บริการรถรับส่ง (Hotel Shuttle Service) โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ และห้องเล่นเกม

2.Plus Culture นำเสนออัตลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวรอบโรงแรม ถ่ายทอดผ่านภาพจิตรกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย พร้อมบริการแบบที่อบอุ่น สร้างประสบการณ์แบบ “Exclusive Hospitality”  และ “Local Experience” ในทุกช่วงเวลาที่เข้าพัก

และ 3.Plus Care ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด “ESG” มุ่งสู่การเป็นโรงแรมที่ยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น และสนับสนุนวัสดุจากธรรมชาติ ตอบโจทย์นักเดินทางที่ใส่ใจความยั่งยืน

‘คิวเฮ้าส์’ รีแบรนด์ 4 โรงแรมใจกลาง ‘กรุงเทพฯ’ อัปเกรดสู่ ‘เซนเตอร์ พอยต์ พลัส’

นอกจากนี้ โรงแรม เซนเตอร์ พอยต์ พลัส ยังใช้กลยุทธ์ “ออมนิชาแนล” (Omnichannel) สื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และมอบสิทธิพิเศษแก่ลูกค้าที่จองตรงกับโรงแรมผ่านลอยัลตี้โปรแกรม “เซนเตอร์ พอยต์ ออลเวย์ส รีวอร์ด” (Centre Point Always Rewards) มอบส่วนลดค่าห้องพัก ร้านอาหาร และร้านค้าจากพันธมิตร โดยปัจจุบันมียอดสมาชิกลอยัลตี้โปรแกรมดังกล่าว 4-5 แสนคน ตั้งเป้ากระตุ้นยอดสมาชิกเพิ่ม 20% เพื่อต่อยอดการจองของลูกค้ากลุ่มเข้าพักซ้ำซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40%