‘อีดีเอ็ม’ ไทยบูม SIAM Songkran Music Festival ดึงทัวร์ริสต์

ไทยไม่เพียงเป็น “เมืองแห่งคอนเสิร์ต” แต่เป็นเวทีของเทศกาลดนตรีระดับโลกและ “สงกรานต์” ช่วงเวลาไฮไลต์ที่ผู้ประกอบการจะงัดกิจกรรมมาดึงผู้บริโภคเข้าร่วมงาน
“SIAM Songkran Music Festival” แม้จะถูกปลุกปั้นไม่นาน แต่ชื่อแบรนด์ติดท็อปของมิวสิค เฟสติวัล สายตื๊ด!หรืออีดีเอ็ม(EDM : Electronic Dance Music) ไม่พลาดที่จะเข้าไปสัมผัสประสบการณ์
ทว่า ผู้อยู่เบื้องหลังของงานดังกล่าวคือ รชต ธันยาวุฒิ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท วัน เอเชีย เวนเจอร์ส จำกัด ที่แต่ละปีมีการจัดงานอีเวนต์ งานเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติในประเทศไทย เช่น SIAM Songkran Music Festival และ Unseen Festival ฯ รวม 4 งานต่อปี สร้างเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ
ปี 2568 บริษัทยังเดินหน้าสร้างการเติบโต ด้วยการทุ่มงบราว 500 ล้านบาท จัด 4 อีเวนต์ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ โดยไฮไลต์ใหญ่เริ่มที่ “สงกรานต์” ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ผู้คน นักเดินทางทั่วโลกมาเยือนไทยถึง 12 ล้านคน ทำให้บริษัทจัดสรรงบลงทุน 250 ล้านบาท เพื่อจัด “SIAM Songkran Music Festival 2025” ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มจากปีก่อนใช้เงิน 200 ล้านบาท
การเพิ่มสเกลลงทุน เพราะมิวสิค เฟสติวัล อีดีเอ็ม ในประเทศไทยยังบูม และนักท่องเที่ยวยังตบเท้าเข้ามาร่วมงานต่อเนื่อง ซึ่งจากการเปิดขายบัตรล่วงหน้า ผลตอบรับดีมาก ยอดขายเติบโต 2.5 เท่า นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงไทยยังพร้อมเปย์ แต่ที่น่าสนใจคือ “มาเลเซีย” เป็นชาติที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะแรงโปรโมทจากเจ้าของพื้นที่อย่าง “บราโว่ บีเคเค มอลล์” ที่มีทุนมาเลเซีย(บอน กรุ๊ป) สร้างการรับรู้งานในประเทศมาเลเซีย
“แนวโน้มมิวสิค เฟสติวัล อีดีเอ็มในประเทศไทยผลตอบรับดี เห็นจากยอดขายบัตรของงาน SIAM Songkran Music Festival 2025 เติบโต 2.5 เท่า สอดรับกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาไทยมากขึ้น รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เป็นแรงส่ง”
ในปี 2567 เทศกาลดนตรีอีดีเอ็มในประเทศไทยมีราว 8 งานใหญ่ เฉพาะสงกรานต์สร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า “พันล้านบาท” ยอดจองโรงแรมที่พักคักคึก นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นบาท(กลุ่มเดินทางโลว์คอสต์) ส่วนที่เปย์หนักพุ่งถึง “หลักแสนบาท” และหากประเมินตลอดสงกรานต์อีเวนต์มีนับร้อยงานทั่วประเทศ ปลุกเศรษฐกิจไทยอย่างดี
“เทศกาลดนตรีอีดีเอ็มในไทยบูม หากมองพฤติกรรมโดยรวม คนไม่ได้แค่ไปงาน แต่ไปท่องเที่ยว สร้างประสบการณ์ตลอด Journey การเดินทาง พักผ่อน รับประทานอาหาร และปัจจุบันผู้บริโภคยินดีจ่ายหนักเพื่อสัมผัส สร้างประสบการณ์ที่ดี ยิ่งคนรุ่นใหม่ เจนเนอเรชันซีไม่ได้ซื้อสินค้าเป็นชิ้น เปย์แบรนด์เนม แต่จ่ายเพื่ออีโมชันนอลมากขึ้น”
งาน SIAM Songkran Music Festival 2025 บริษัทจึงผสานทั้งความเป็นไทยเข้ากับการแสดงของดีเจระดับโลก เน้นธีม “ฮีลใจ” ผู้คนมากขึ้นผ่านการนำเสนอสีชมพูสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ส่วนไฮไลต์ดีเจจัดเต็ม เช่น Hardwell, Steve Aoki และ Dimitri Vegas ฯ ยังมีการ “จับศิลปินเบอร์ใหญ่ประกบคู่” เอาใจคนดูเป็นครั้งแรก โดยงานปีนี้คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 100,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 70,000 คนในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศประมาณ 50% โดยขณะนี้การขายบัตรเข้าสู่เทียร์ 3 ยังมีแพ็คเกจเอาใจแขกวีไอพีราคา 5 ล้านบาท สำหรับ 30 คน เข้างานได้ตลอด 4 วัน พร้อมรับสิทธิประโยชน์พิเศษ และบริการภายในงาน
บริษัทยังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจ ด้วยการเจรจากับพันธมิตรเพื่อดึงมิวสิค เฟสติวัลระดับโลกมาจัดในเมืองไทย รูปแบบการ “ถือหุ้นร่วมกัน” ซึ่งดีลดังกล่าวคาดว่าจะเห็นความชัดเจนใน 3-4 เดือนข้างหน้า หากสำเร็จ ดึงงานมาจัดในประเทศไทยได้ คาดว่าจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน ตลอดการจัดงาน 2 วัน จึงจะคุ้มค่าลงทุน
โปรเจคดังกล่าว ยังเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันรายได้บริษัทในปี 2569 ทะลุ “พันล้านบาท” ขณะที่ปี 2568 คาดการณ์รายได้รวมอยู่ที่ 600 ล้านบาท ส่วนปี 2567 รายได้รวมอยู่ที่ 500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า มีรายได้ประมาณ 350 ล้านบาท
“ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นมิวสิค เฟสติวัล ฮับ เพราะมีความพร้อมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีทะเล ภูเขา ภูมิประเทศรองรับการจัดงาน คนไทยมีการต้อนรับ บริการหรือฮอสพิทัลลิตีที่ดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการมาเยือนต่ำ ขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุน มีการปลดล็อกมาตรการภาษีในการนำเข้าอุปกรณ์บางอย่างเพื่อจัดงาน เป็นต้น”