'ประตูน้ำ' ฮับค้าส่งเอเชีย ขุมทองธุรกิจ ลุยลงทุน พลิกโฉม

ธุรกิจปลุกเศรษฐกิจย่านการค้าประตูน้ำกลับมาบูมรอบใหม่ ยกระดับสู่ ‘ชินจูกุ’ เมืองไทย ดึงนักท่องเที่ยว รับรถไฟฟ้าสายสีส้มเสริมศักยภาพทำเลทอง ตอกย้ำฮับค้าส่งเอเชีย
กลุ่มแพลทินัม ขยายอาณาจักรคลุมพื้นที่ เร่งบิ๊กโปรเจกต์ “เดอะ แพลทินัม สแควร์” มูลค่า 7.8 พันล้าน บนที่ดินตลาดเฉลิมลาภเดิม “กรุงทองพลาซา-ใบหยก” ทุ่มงบรีโนเวต หนุนยกระดับสู่ชินจูกุเมืองไทย ดึงนักช้อป นักลงทุน นักท่องเที่ยว นายกสมาคมโรงแรม แนะต่อจิ๊กซอว์ปั้นสตรีทฟู้ดลายแทงร้านดังสู่ “บรรทัดทอง 2”
“ประตูน้ำ” ย่านการค้าปลีกค้าส่งสำคัญ เป็นแลนด์มาร์กของการค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมายาวนาน มากกว่า 30 ปีแล้ว จาก “ตลาดดั้งเดิม” พัฒนาสู่ศูนย์การค้าส่งสมัยใหม่ขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางค้าส่งแห่งภูมิภาค ดึงดูดการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม เข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังถูกต่อยอดอีกครั้งจากการขยายโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก เส้นทางบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างเป็นรูปธรรม โดยมี “ประตูน้ำ” เป็นหนึ่งสถานีหลักสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ทำเลทองแห่งอนาคต เป็นทั้ง “จุดเปลี่ยน” และ “โอกาส” ของธุรกิจในย่านการค้าประตูน้ำที่จะกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง
นางสุฐิตา ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภูมิทัศน์ (แลนด์สเคป) ธุรกิจการค้าประตูน้ำก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากโครงการรถไฟฟ้าสีส้มที่จะเปิดให้บริการในอนาคต ส่งผลดีต่อลูกค้า และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกในการเดินทาง ช่วยกระตุ้นการค้าขาย การท่องเที่ยวย่านประตูน้ำ ทำให้ย่านการค้าแห่งนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ตอกย้ำความเป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
รวมทั้งส่งผลดีโดยตรงกับธุรกิจในเครือแพลทินัม กรุ๊ป ซึ่งขยายอาณาจักรธุรกิจหลากหลายครอบคลุมพื้นที่ภายใต้โครงการศูนย์การค้าแพลทินัม แฟชั่น มอลล์ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ รวมถึงศูนย์การค้า เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ราชประสงค์ โรงแรมม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์ อาคารสำนักงานให้เช่า Pier111 ในย่านราชประสงค์ ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสะดวก ทราฟิก และการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
พร้อมกันนี้ กลุ่มแพลทินัม ได้มีการลงทุนเมกะโปรเจกต์มิกซ์ยูส “เดอะ แพลทินัม สแควร์” มูลค่าโครงการกว่า 7,800 ล้านบาท บนที่ตลาดเฉลิมลาภเดิม เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และโรงแรม ปัจจุบันได้ยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) เรียบร้อยแล้ว ประเมินว่าการก่อสร้างส่วนรีเทลจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี ข้างหน้า และโรงแรมจะแล้วเสร็จในอีกปีถัดไป
“เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสีส้มแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้โครงการใหม่ของบริษัทแข็งแกร่งมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินภาพรวมธุรกิจศูนย์การค้าแพลทินัมในย่านประตูน้ำ มีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแรงสนับสนุนหลักจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ธุรกิจสินค้า และบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวดีขึ้น ล่าสุดศูนย์การค้าแพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ได้ปรับเวลาเปิดให้บริการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาการเปิดให้บริการของศูนย์การค้าอื่นๆ ที่อยู่ภายในย่านการค้าราชประสงค์ และย่านการค้าใกล้เคียง รวมถึงตอบโจทย์กับพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบันมากขึ้น เป็นเวลา 10.00-21.00 น. จากเดิม 09.00-20.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2568 เป็นต้นไป
ยกระดับประตูน้ำ “ชินจูกุ” เมืองไทย
นายปิยะเลิศ ใบหยก รองประธานกรรมการกลุ่มโรงแรมใบหยก กล่าวว่า หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ คาดหวังย่านเศรษฐกิจการค้าขาย และชอปปิงของประตูน้ำจะพลิกโฉมแน่นอน และยกระดับเมืองเป็นเหมือนต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ญี่ปุ่น เช่น ย่านชินจูกุ ที่มีทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก ส่วนไทยยังมีย่านราชประสงค์ที่อยู่ใกล้ประตูน้ำ ซึ่งมีโรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ที่ช่วยส่งเสริมกัน
“ย่านเศรษฐกิจประตูน้ำมีการเปลี่ยนแปลงทุก 5 ปี 10 ปี เสน่ห์ของย่านมีทั้งการขายส่งสินค้า การขายปลีก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น หากรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการจะทำให้มีความไฮเอนด์ สร้างความคึกคักมากยิ่งขึ้น อีกด้านยังทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดี อยากให้เดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะถือเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย
กลุ่มใบหยกเทพันล้านรีโนเวทโรงแรม
ด้านแผนธุรกิจของกลุ่มโรงแรมใบหยก ได้วางงบประมาณหลักพันล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงแรม ทั้งในส่วนห้องพัก ห้องอาหาร ล็อบบี้ และไม่ได้ทำเพียงโรงแรมใบหยกสกายเท่านั้น แต่บริษัทมองโรงแรมอื่นในพื้นที่เชื่อมต่อย่านประตูน้ำด้วย เช่น โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทยังเปิดโรงแรมใหม่ภายใต้ชื่อ ควีนส์แลนด์ ตรงถนนศรีอยุธยาด้วย
สำหรับกลุ่มโรงแรมใบหยก มีโรงแรมย่านประตูน้ำ ราชเทวี เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 1,500-1,600 ห้อง ส่วนใหญ่อัตราการเข้าพักอยู่ระดับ 80% จากนักท่องเที่ยวทั้งเอเชีย จีน สิงคโปร์ อินเดีย
“เฉพาะโรงแรมใบหยกสกาย เราเตรียมงบหลักร้อยล้านบาทไว้รีโนเวทใหญ่ห้องพัก ห้องอาหาร เพราะมีจำนวนห้องพักค่อนข้างมากเกือบ 700 ห้อง และมีอัตราการเข้าพักเกือบเต็ม ลูกค้าเข้ามาตลอด ทำให้ต้องทยอยปิดโซนปรับปรุง ไม่จำเป็นต้องปิด ซึ่งหากรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จ มองว่าธุรกิจโรงแรมจะสามารถปรับราคาห้องพักได้อีกเท่าตัว หลังการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริษัทยังมองการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น ไม่มองยาว 5 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในบทเรียนที่ได้รับจากการเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาดที่ต้องมองกลยุทธ์เคลื่อนธุรกิจระยะสั้น
หนุนปั้นสตรีทฟู้ดสู่ “บรรทัดทอง 2”
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า อดีตย่านประตูน้ำเป็นการค้าขายส่ง และคนต่างจังหวัดมาซื้อสินค้ากลับไปจำหน่ายในพื้นที่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนโฉมสู่การค้าขายออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ลูกค้ากลุ่มเดิมมาซื้อสินค้าบ้าง ขณะที่กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาชอปปิงส่วนใหญ่คือ ตลาดอาเซียนถือเป็นดาวเด่น แม้รายประเทศไม่มาก แต่รวมทั้งภูมิภาคถือว่ามาก ช่วยส่งเสริมการค้าขายย่านนี้อย่างดี
หากรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จเปิดให้บริการ คาดหวังว่าจะยกระดับความเป็นเมือง และทำเลประตูน้ำจะน่าสนใจยิ่งขึ้น หากมีร้านอาหารอร่อย เพิ่มขึ้น 10-20 ร้าน เป็นลายแทงให้นักกิน จะพลิกโฉมเป็นน้องๆ ย่านบรรทัดทองได้ นอกเหนือจากจุดเด่นที่มีตลาดเก่าให้ผู้คนมาท่องเที่ยว เดินดูบรรยากาศได้
“ย่านเศรษฐกิจการค้าในต่างประเทศอย่างชินจูกุ ชิบูย่า จะมีร้านอาหารดัง ที่นักท่องเที่ยวชี้เป้าไปสถานีนี้เพื่อกินอาหารร้านนี้ ไทยมีสตรีทฟู้ดดีๆ สร้างภาพนั้นให้เกิดได้ หากค่าเช่าราคาสมเหตุสมผล”
โดยปัจจุบันตึกแถว 1 ห้อง ย่านประตูน้ำซื้อขายกันระดับ 50-100 ล้านบาท ส่วนค่าเช่าอยู่ระดับแสนบาทต่อเดือน
ปลุกเส้นทางเศรษฐกิจแห่งใหม่
สำหรับสถานีประตูน้ำ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนวัดพระแก้วได้ อีกทั้งอาคารเก่าย่านราชดำเนินที่มีแผนจะพัฒนา จะเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชัน อนาคตยังเชื่อมต่อสถานที่สำคัญอย่างราชมังคลากีฬาสถาน หากทำเป็นมิกซ์ยูสเป็นมากกว่าสนามกีฬา สู่พื้นที่จัดคอนเสิร์ต เอื้อการเดินทางสะดวกมากขึ้นดึงดูดนักท่องเที่ยว กลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจอีกแห่งได้
อนาคตยังมองราคาห้องพักของโรงแรมหลังรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จจะอยู่จะเพิ่มขึ้น 20% กรณีไม่มีการรีโนเวท หรือทำอะไรเลย จากปี 2567 โรงแรมระดับ 4 ดาวย่านประตูน้ำขายห้องพักผ่านโอทีเอ (โรงแรมที่มีใบอนุญาต) ราคาอยู่ระดับ 2,500-7,000 บาทต่อคืน ส่วนช่วงเคานต์ดาวน์ทะลุหมื่นบาทต่อคืน
กระตุ้นค้าปลีกเสื้อผ้าสำเร็จรูปกลับมาโต
นางสาวปานทิพย์ เสือเทศ ผู้ร่วมดูแลโครงการค้าปลีกใบหยก ประตูน้ำ กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกในย่านประตูน้ำมีแรงหนุนสำคัญจากกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศ สัดส่วนมากกว่า 50% ทั้งอาเซียน ตะวันออกกลาง สหรัฐ และแอฟริกา เป็นการซื้อทั้งปลีก และส่ง เมื่อรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือช่วงปี 2572 จะพลิกค้าปลีกค้าส่งย่านประตูน้ำกลับมาขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการร่วมกระตุ้นให้เดินทางเข้ามาได้สะดวก ทำให้เศรษฐกิจย่านนี้กลับมาขยายตัวดีขึ้น
“พร้อมตอกย้ำการเป็นทำเลแลนด์มาร์กของค้าปลีกค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันย่านนี้มีร้านค้ากลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งค้าปลีกและค้าส่งจำนวนหลายพันร้านค้า ผู้ค้าส่งแต่ละรายมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน มีฐานลูกค้าประจำที่สั่งซื้อสินค้ามายาวนาน ทำให้ค้าปลีกประตูน้ำยังอยู่ได้ต่อเนื่องท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปแตกต่างจากทำเลค้าปลีกค้าส่งเสื้อผ้าแฟชั่นในแห่งอื่นๆ ของประเทศที่มีการซบเซาลง”
ย่านประตูน้ำนับเป็นศูนย์กลางค้าปลีกค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีจุดแข็ง และความโดดเด่นแตกต่างกัน จึงมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายเข้ามาในย่านนี้ โดยใบหยก มีทั้งใบหยก 1 ใบหยก 2 และบี-แกลเลอรี หรือ ใบหยก 3 เน้นกลุ่มเสื้อผ้าที่มีฐานลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เน้นสินค้าคุณภาพ
ตั้งเป้า “ฮับ” เสื้อผ้าพลัสไซส์อาเซียน
นางสาวอัญชลี ตันติวงษากิจ กรรมการผู้จัดการ ห้างกรุงทองพลาซา กล่าวว่า ช่วงปี 2572 ที่รถไฟฟ้าสีส้มจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ส่งผลดีต่อกรุงทองพลาซา ที่มีทำเลอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าในระยะทางเพียง 160 เมตร ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้สะดวก และเพิ่มทราฟิก รวมถึงทำให้ย่านประตูน้ำกลับมาคึกคักในระยะยาว
“ภาพรวมค้าปลีกค้าส่งย่านประตูน้ำปี 2568 มูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท แม้กำลังซื้อในประเทศจะอ่อนแรง แต่มีแรงหนุนจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เป็นกลุ่มค้าส่ง และค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ภาครัฐมีการประเมินว่าจะมีจำนวนกว่า 35 ล้านคน”
หากย้อน 10 ปีก่อนหน้านี้ ย่านประตูน้ำมีร้านค้าเปิดให้บริการประมาณ 1,000 ร้านค้า ปัจจุบันร้านค้าเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 5,000 ร้านค้า อีกทั้งเมื่อย้อนกลับไปในยุคแรกๆ ของย่านประตูน้ำ มีผู้ประกอบการหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ใบหยก กรุงทองพลาซา และ ซิตี้เซนเตอร์ ประตูน้ำ หรือ ซิตี้ คอมเพล็กซ์ ก่อนการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆ แสดงถึงโอกาสของตลาดค้าปลีกค้าส่งที่มีการขยายตัวมาตลอด
กรุงทองพลาซา เป็นห้างค้าปลีก และค้าส่งเสื้อผ้าแฟชั่น เปิดบริการมากว่า 24 ปี เป็นห้างยุคแรกของประตูน้ำที่ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับตลาด และกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุค จากยุคแรกเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นเป็นหลัก ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขยายสู่เสื้อผ้าแฟชั่นเน้นกลุ่มลูกค้า “พลัสไซส์” เพื่อสร้างความแตกต่างในทำเลย่านประตูน้ำ และเน้นแบรนด์จากผู้ผลิตเสื้อผ้าไทยโดยตรง
ปี 2568 จะใช้งบ 10 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสดใส และทันสมัยมากขึ้น พร้อมเตรียมงบการตลาดเพิ่มขึ้น 10% ในการจัดอีเวนต์ และส่งเสริมการขายต่อเนื่องทุกเดือน โดยมีลูกค้าหลักคนไทย 40% ต่างชาติ 60% ทราฟิก 10,000 คนต่อวัน และ 20,000 คนในวันหยุด ด้านลูกค้าผู้ประกอบการ มียอดซื้อสินค้าเฉลี่ย 1-5 แสนบาทต่อคนต่อเดือน
“กรุงทองพลาซา วางเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของเสื้อผ้าพลัสไซส์ในตลาดอาเซียนภายใน 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีร้านค้าให้บริการ 400 ร้านค้า มีพื้นที่ให้เช่ามากกว่า 10,000 ตร.ม.”
AWC ปลุกชีพ “ห้างฟีนิกซ์” มูลค่าหมื่นล้าน
ก่อนหน้านี้ นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ได้เปิดตัวโครงการ “ฟีนิกซ์” (Phenix) เมื่อเดือนมิ.ย.2567 เป็นการรีแบรนด์จาก “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ห้างไอทีในตำนาน สู่ศูนย์กลางด้านอาหารครบวงจรระดับโลก มูลค่ารวมลงทุนปรับปรุงกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งเป้าดึงทราฟิก 20,000 คนต่อวัน เข้าใช้บริการ
“ฟีนิกซ์ วางคอนเซปต์เป็นศูนย์กลางการด้านอาหารครบวงจรระดับโลก มีทั้งค้าส่ง ค้าปลีก รวมถึงร้านสตรีทฟู้ดระดับตำนาน และมิชลินสตาร์ เรามองว่าเรื่องอาหารไม่ได้มีแค่เรื่องรสชาติความอร่อยเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยี ความปลอดภัย มาตรฐานต่างๆ รวมไปถึงอาหารแห่งอนาคต เราจะทำให้เรื่องอาหารให้ดูเข้าถึงง่าย เป็นเชิงไลฟ์สไตล์ คนมาเดินกินเดินช้อปแล้วรู้สึกสนุก”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์