‘แว่นท็อปเจริญ’ คนเข้าร้านน้อย แต่รายได้ ‘5 พันล้าน’ รวยเงียบๆ ตัดวันละ 3 อันก็อยู่ได้

เส้นทาง “นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์” แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” เริ่มจากทำหน่วยรถเร่ตัดแว่น ชีวิตพลิกผันเพราะพ่อแม่เสียชีวิต สวมหมวกเถ้าแก่ตั้งแต่อายุ 16 ติดปีก “แว่นท็อปเจริญ” สู่หลักร้อยสาขา ปัจจุบันครอบคลุม 2,100 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าเป็น Local Brand แห่งอาเซียน
KEY
POINTS
- “แว่นท็อปเจริญ” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 78 แล้ว ปัจจุบันบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 2 ผู้พาร้านแว่นที่จังหวัดขอนแก่นติดปีกกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ
- เจ้าของแว่นท็อปเจริญเข
“แว่นเป็นปัจจัย 4 ยืมใส่กันไม่ได้ ต่อให้เศรษฐกิจไม่ดีแค่ไหนคนก็ต้องใส่แว่น”
อายุ 16 คือช่วงปีที่คาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นตอนกลางและกำลังเดินทางสู่วัยรุ่นตอนปลาย เทียบกับเด็กยุคนี้คงอยู่ระหว่างเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่สำหรับเด็กชายนพศักดิ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขาจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียนทั้งที่มีวี่แววเป็นตัวเต็งสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เพราะมีผลการเรียนดีเยี่ยม ได้ที่ 1 ของโรงเรียนแทบทุกปี ทว่า ชีวิตเกิดพลิกผันเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตทั้งคู่
ท่ามกลางความโชคร้ายก็มีความโชคดีที่ “คุณพ่อเจริญ” ทิ้งมรดกทางความคิดให้ลูกชายต่อยอดได้อีกไกล “นพศักดิ์” สวมบทบาทเถ้าแก่ร้านแว่นตาของพ่อในวัย 16 ปี ได้เก็บเล็กผสมน้อยองค์ความรู้มาบ้างจากการออกหน่วยรถเร่ พร้อมกับเรียนวิชาทำแว่นกับพี่ๆ พนักงานในร้านไปพลาง
ยุคสมัยนั้นบริบทครอบครัวคนจีนมีวิธีคิดเรื่องการสร้างกิจการและส่งต่อให้ทายาทด้วยสัดส่วนเท่าๆ กัน หากคนพ่อทำร้านขายยา มีลูก 3 คน ก็จะเปิดร้านขายยาให้ลูกๆ อีก 3 ร้าน หรือถ้ามีลูกคนเดียวก็เปิดอีก 1 ร้านเท่านั้น “นพศักดิ์” ที่เป็นลูกชายคนเดียวเกิดนึกสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเขาคิดอยากเปิดร้านแว่นตาหลายๆ ร้าน จะทำได้หรือไม่ ติดปัญหาตรงไหน และต้องวางแผนอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จแม้ไม่มีญาติพี่น้องช่วยดูแลสักคนเดียว
ใครๆ ก็บอกว่าเจ๊ง ผ่านไป 3 ปี เปิดได้ 100 สาขา ขยายไวเพราะแหกขนบซื้อ-เซ้ง
จากที่พ่อแม่อยากให้สอบเข้าหมอ แต่เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิด “นพศักดิ์” จึงนึกถึงคำสอนพ่อที่ว่า “ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือ ให้ทำธุรกิจแว่นตาจะดีที่สุด” เพราะร้านแว่นตาคู่แข่งน้อย กำไรดี และเป็นงานสบาย เขาจำไว้ขึ้นใจและเร่งสานต่อธุรกิจ “เจริญการแว่น” ตั้งแต่อายุ 16 ปีทันที
ศึกษางานไปสักพักก็คิดอยากเปิดร้านเพิ่มอีกหลายสาขา นพศักดิ์มานั่งกางแผนดูความเป็นไปได้ว่า จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร เปิดร้านต้องมีคนทำงานที่เป็นทักษะเฉพาะ ต้องวัดสายตาเป็น เจียระไนเลนส์ได้ เลือกโปรดักต์ให้เข้ากับลูกค้า ฯลฯ สารพัดอย่างที่ทำให้รู้ว่า การเปิดร้านแห่งที่ 2 ไม่ใช่เรื่องง่าย
40 ปีที่แล้ว คำว่า “ร้านสาขา” หรือการขยายรูปแบบเชนสโตร์ยังไม่มีในไทยด้วยซ้ำ ร้านฟาสต์ฟู้ดที่ขยายหลักร้อยหลักพันแห่งก็ยังไม่เข้ามาตีตลาดในไทยแม้แต่เจ้าเดียว นพศักดิ์ไม่มี “Role Model” ให้เดินตามแต่เขาก็ไม่คิดล้มแผนเปิดร้านใหม่ ขาดคนก็ต้องเร่งรับคนใหม่มาเทรนนิ่ง ระดมเฟ้นหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดสายตา ช่างเทคนิคเจียระไนเลนส์ พนักงานขายมือฉมัง ฯลฯ เพื่อให้คนเหล่านี้ฝึกเด็กใหม่แล้วกระจายไปตามร้านสาขาในอนาคต
ท่ามกลางยุคสมัยที่การทำธุรกิจแบบคนจีนต้องมีพี่มีน้องล้อมรอบ ไปคุยไอเดียเปิดร้านใหม่กับใครก็มักได้รับคำเตือนกลับมาว่า “ระวังเจ๊ง” เพราะไม่มีใครนึกภาพออกว่า การเปิดร้านที่เจ้าของหรือญาติพี่น้องไม่ได้ลงไปดูแลด้วยตัวเองจะเป็นอย่างไร ประกอบกับทุนในการหาทำเลเปิดใหม่ที่ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียเรื่องการเช่าเข้ามาเกี่ยวข้อง “ซื้อ” หรือ “เซ้ง” เท่านั้น ที่จะทำให้ได้พื้นที่ไปต่อยอด
เด็กอายุเพียง 16-17 ปี ไม่มีเงินทุนหลักล้านในการซื้อตึกทีเดียวหลายๆ แห่ง หากเป็นการซื้อขาดราคาก็สูงถึง 10-20 ล้านบาท หรือเซ้งเพื่อเช่าระยะยาวก็ต้องใช้เงินก้อน 7-8 ล้านบาท ทำแบบนี้อย่างไรก็ขยายกิจการไม่ได้ “นพศักดิ์” จึงใช้ลูกตื๊อเปิดใจคุยกับอาแปะเจ้าของตึกตรงไปตรงมาเพื่อขอเช่าด้วยการจ่ายล่วงหน้า 3 เดือน เขาบอกว่า ยุคนั้นคนจีนถือเรื่องนี้มากเพราะกลัวโดนเบี้ยวค่าเช่า แต่ด้วยวาทศิลป์ของนพศักดิ์สุดท้ายจุดเริ่มต้นของการขยายสาขาจึงใช้เงินทุนไปเพียง 15,000 บาทเท่านั้น
“คุณพ่อเคยบอกไว้ว่า ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือจะทำธุรกิจอะไรให้ทำแว่นตาดีที่สุด เพราะเป็นงานสบาย กำไรเยอะ อย่าไปทำอย่างอื่นให้ทำแว่น ผมเลยจำฝังหัวว่า ถ้าจะอดตายให้ทำแว่น แต่ก่อนคุณพ่อใช้ชื่อ “เจริญการแว่น” มีหน่วยรถเร่ขายแว่นตาอยู่ทั่วประเทศเราก็มาทำต่อ จริงๆ ผมจบน้อย จบแค่ม.ศ. 3 พอมารับช่วงเราก็ดูว่า คุณพ่อมีร้านอยู่ร้านเดียว แล้วก็มีหน่วยรถเคลื่อนที่ ก็คิดว่า ทำไมร้านแว่นเปิดหลายๆ สาขาไม่ได้ ซึ่งธุรกิจแว่นตาเป็นธุรกิจสายเลือด คนนอกวงการไม่มีใครมาทำ ณ วันนี้ก็ยังไม่มี ที่มีก็ต้องจบจักษุแพทย์เท่านั้นถึงมาทำได้”
เมื่อได้พื้นที่มาแล้ว “นพศักดิ์” ทำการยกเครื่องรีโนเวทใหม่ทุกอย่าง ร้านแว่นสมัยก่อน ไม่สวย ไม่ทันสมัย เจริญการแว่นปรับใหม่ทั้งตีฝ้า ปูพื้น ติดแอร์ เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ให้ดูสะอาดตา รวมทั้งยังมีการว่าจ้างสถาปนิกมาออกแบบภายในเพื่อนำต้นแบบไปขยายสร้างร้านสาขาอื่นๆ ต่อ และไม่ลืมที่จะใส่ใจเรื่องคน แต่ก่อนคนทำงานร้านแว่นแต่งตัวสบายๆ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ มองว่า แบบนี้ทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ พนักงานร้านท็อปเจริญ จึงต้องใส่ยูนิฟอร์มสีขาวให้เรียบร้อย ลุคดูดีลูกค้าก็ไว้ใจ ส่วนพนักงานเองก็ได้แต่งตัวสวยด้วย
กินรวบร้านแว่น เปิดต่างจังหวัด 300 แห่ง โดนก๊อปจนยอมเปลี่ยนชื่อเป็น “ท็อปเจริญ”
ไม่ใช่แค่สถาปนิก แต่นพศักดิ์เติมทุกอย่างให้ครบถ้วนเพื่อลบคำสบประมาทเสี่ยงเจ๊ง ช่วงอายุ 16-17 ปี เขาจ้างนักบัญชีมาวางระบบงานบัญชีภายในทั้งหมด ไปรับ-ส่งนักบัญชีจากสนามบินทุกเสาร์อาทิตย์ ทำวนอยู่แบบนี้เป็นเวลา 6 เดือน พอระบบเข้าที่ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น “เจริญการแว่น” ขยายได้อย่างรวดเร็วถึง 10 แห่ง ใช้วิธี “เงินต่อเงิน” เปิดสาขาแรกได้กำไรเท่าไหร่ก็เก็บหอมรอมริบมาเช่าตึกอื่นๆ ต่อ
ช่วงแรกที่เจรจาเรื่องเช่าแทนซื้อกับเซ้งเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ผ่านไปสัก 10 สาขา ทุกอย่างก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม จะไปเช่าตึกที่ไหนเมื่อไหร่ “นพศักดิ์” ให้แลนด์ลอร์ดต่อสายคุยกันเองเพื่อเช็กเครดิตจ่ายค่าเช่าของตน ถัดจากสาขาที่ 10 เขาประกาศกับลูกน้องว่า จะทำให้ถึง 100 สาขาให้ได้ ใช้เวลาหลังจากนั้นเพียง 3 ปี “เจริญการแว่น” ทำได้สำเร็จ เริ่มกระจายออกจากจังหวัดบ้านเกิดอย่าง “ขอนแก่น” ไปรอบทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นโคราช อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ แถบภาคอีสาน
ถัดจาก 100 ก็เข้าสู่หลักไมล์ 300 สาขาโดยที่ยังไม่เข้ากรุงเทพฯ แม้แต่แห่งเดียว “นพศักดิ์” พูดเปรียบเปรยว่า กรุงเทพฯ เหมือน “กระดูก” มีความยากโหดหิน เวลาทำธุรกิจต้องกินเนื้อก่อนค่อยกินกระดูกทีหลัง แต่ช่วงที่ยังไม่เข้ากรุงเทพฯ ก็มีโจทย์ใหม่เข้ามาท้าทายเถ้าแก่อายุน้อย เมื่อทำดี กระแสดังก็ต้องมีคนทำตาม เขาไปเจอร้าน “เจริญการแว่น” ในพื้นที่ที่ยังไม่เคยไป นั่นหมายความว่า มีร้านแว่นเปิดใหม่ใช้ชื่อ “เจริญการแว่น” เหมือนกับร้านเขาเอง
เห็นเช่นนั้นนพศักดิ์จึงคิดเรื่องจดลิขสิทธิ์พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อร้านที่ยังคงคำว่า “เจริญ” เอาไว้ เพราะนี่คือชื่อของพ่อ ส่วน “ท็อป” มีความหมายว่า สูงสุด บนสุด นำชุดคำมาประกอบกันด้วยไอเดียง่ายๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง ถ้าจะทำต่อจากพ่อก็ต้องทำให้ดีกว่า เก่งกว่า จึงเป็นที่มาของชื่อ “ท็อปเจริญ”
“ผมไปจดลิขสิทธิ์ได้แต่ยังไม่กล้าเปลี่ยนชื่อ ไปประชุมกับลูกน้องทั่วประเทศเป็นพันๆ คนเขาบอกว่า ผู้จัดการอย่าเปลี่ยนเลย ร้านเราก็ดังแล้วจะเปลี่ยนทำไม ผมก็มานั่งคิดว่าหรือไม่เปลี่ยนดี เฉพาะค่าเปลี่ยนป้ายก็เกือบสิบล้านบาทแล้ว มี 300 สาขาก็ต้องเปลี่ยนหมด แต่สุดท้ายตัดสินใจกล้าฟันธงเปลี่ยนเป็นแว่นท็อปเจริญทั้งประเทศ หลังจากนั้นผมให้พนักงานเดินชูป้ายตามตลาด 1 เดือนเต็ม ชูป้ายว่า “เจริญการแว่นคือแว่นท็อปเจริญ” ผ่านไป 1 เดือน ลูกค้าจำได้แล้ว กลับมาขายดีเหมือนเดิม สบายใจแล้วชื่อเรามีลิขสิทธิ์”
เปลี่ยนชื่อร้านแล้ว ติดตลาดจนคนจำได้แล้ว ถึงคราวบุกกรุงเทพฯ เต็มตัว แค่ร้านสวยทันสมัยไม่พอ ต้องแต่งตัวใหม่นำร้านขึ้นไปอยู่บนจอแก้วให้คนเห็นทั้งประเทศ ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต สื่อที่ดีที่สุด คือ “โฆษณาทีวี” มาพร้อมกับเดิมพันเรื่องการขยายเพิ่มอีก 500 สาขา เขาให้คำมั่นกับพนักงานว่า ถ้าแว่นท็อปเจริญไปถึง 500 สาขา จะทำโฆษณาลงทีวีทันที “นพศักดิ์” รับหน้าที่ผู้กำกับ เขียนบท ครีเอทีฟด้วยตัวเอง กลายเป็นร้านแว่นร้านแรกที่มีโฆษณาบทสื่อโทรทัศน์ จากนั้นจึงตัดสินใจเปิดสาขาแรกในกรุงเทพฯ ต่อเนื่อง
เปิด “แว่นบิวตี้ฟูล” เพื่อกันซีนคู่แข่ง ปิดร้านเพราะกินแชร์ 40% ใครก็ตามไม่ทัน
ยุทธการณ์งัดข้อคู่แข่งไม่ได้โฟกัสที่ “ท็อปเจริญ” เท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า “แว่นบิวตี้ฟูล” ก็มี “นพศักดิ์” เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งด้วย เขามองว่า สมัยก่อนทุกอย่างต้องมี 2 แบรนด์ มีโค้กต้องมีเป๊ปซี่ มีฟูจิต้องมีโกดัก ถ้าอย่างนั้นมีท็อปเจริญแล้วก็ต้องมีแว่นบิวตี้ฟูลด้วย ทุกพื้นที่ที่ท็อปเจริญไปจะมี “แว่นบิวตี้ฟูล” ขนาบข้างเสมอ โดยที่หลายคนไม่เคยรู้เลยว่า ทั้ง 2 แห่ง มีเจ้าของคนเดียวกัน
ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการสกัดกั้นคู่แข่ง ไม่เข้าท็อปเจริญก็ต้องเข้าอีกร้าน หรือถ้ามีคู่แข่งมาเปิดละแวกเดียวกันก็ต้องเพิ่มกลยุทธ์เพื่อซื้อใจลูกค้ามากขึ้น เช่น ให้พนักงานไปยืนเรียก-ต้อนรับหน้าร้าน อีกทั้งการเปิดหน้าร้านเยอะขึ้นก็ทำให้เกิด “Economy of scale” นพศักดิ์บอกว่า ตั้งแต่เปิดร้านมาเขาไม่เคยรับซื้อสินค้าจากตัวแทนในประเทศไทย สั่งจากผู้ผลิตที่ประเทศต้นทางโดยตรง รวมถึงไม่ได้เลือกอยู่กับค่ายใดค่ายหนึ่ง ทั้งท็อปเจริญและแว่นบิวตี้ฟูลมีให้เลือกครบทุกแบรนด์ชั้นนำ
ผ่านไปสักพักก็เริ่มทำ “House Brand” เป็นของตัวเอง กรอบแว่น “Percy” หรือ คอนแทคเลนส์ “Duna” ล้วนเป็นสินค้าในเครือท็อปเจริญ จนถึงตอนนี้ร้านแว่นบิวตี้ฟูลก็มีอันต้องปิดตัวลงไปแล้ว สาขาเดิมถูกฉาบทับด้วยแบรนด์ท็อปเจริญทุกแห่ง โดยเหตุผลที่เหลือเพียงร้านเดียวก็เป็นเพราะตอนนี้ไม่มีคู่แข่งเจ้าไหนวิ่งตามท็อปเจริญทันแล้ว ทั้งในแง่ผลประกอบการและจำนวนสาขาที่ครอบคลุมทั้งประเทศ
“แต่ก่อนลูกค้าเข้าร้านผมเสิร์ฟน้ำส้มกับกาแฟ และมีแจกคูปองกินก๋วยเตี๋ยวด้วย ลูกค้ารอนานก็แจกคูปองให้กินราดหน้าก๋วยเตี๋ยว ลูกค้าก็ชอบมาก พอเขาทานแล้วก็เกรงใจยังไงก็ต้องซื้อแว่นผม ตอนนี้เรามีแชร์ในตลาด 40% กว่า คู่แข่งอันดับสองและสามห่างกันหลายช่วงตัว แสดงว่า ได้แว่นบิวตี้ฟูลมาช่วยกันคู่แข่ง ไม่เดินผ่านท็อปเจริญก็ต้องเดินผ่านบิวตี้ฟูลทำให้ท็อปเจริญเติบโตได้”
ไม่ได้มีแต่โชค เจอวิกฤติมาเยอะ แต่ผ่านได้เพราะ “ไม่เอาไข่ใส่ในตะกร้าใบเดียว”
ธุรกิจดำเนินมา 78 ปี จึงผ่านมาแทบทุกยุคตั้งแต่ต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ มาถึงโควิด-19 ทว่า ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คือช่วงที่ร้านแว่นท็อปเจริญเติบโตมากที่สุด เพราะธุรกิจเจ๊งเยอะ ตึกแถวจึงว่างและมาพร้อมกับราคาถูก ส่วนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 “นพศักดิ์” ยอมรับว่า เป็นช่วงที่เจอหนักเหมือนกัน หน้าร้าน 500-600 สาขา น้ำท่วมขังหลายเดือน หรือตอนสึนามิปี 2547 ร้านที่ภูเก็ตก็พังชนิดที่ว่ามีเรือจอดอยู่ในร้านกันเลยทีเดียว
กระทั่งวิกฤติโรคระบาดใหญ่ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ร้านแว่นท็อปเจริญในห้างต้องปิดลงตามมาตรการของรัฐบาล แต่เป็นเพราะร้านแว่นไม่ได้มีแค่ในห้างเท่านั้น “นพศักดิ์” บอกว่า สาขาอื่นๆ ที่อยู่ตามตึกแถว ปั๊มน้ำมัน มหาวิทยาลัย เหล่านี้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า กลายเป็นว่า ในช่วงเวลาวิกฤติของภาคธุรกิจ กลับเป็นช่วงที่ “แว่นท็อปเจริญ” คว้าโอกาสไว้ได้ ด้วยหลักการ “ไม่เอาไข่ใส่ในตะกร้าใบเดียวกัน”
“ช่วงโควิด-19 ยอดขายผมไม่เคยตก พนักงานไม่เคยออกแม้แต่คนเดียว แล้วให้พนักงาน 8 พันกว่าคนช่วยกันไลฟ์สด ไม่น่าเชื่อตอนนั้นแว่นขายดีมาก ขายแบบขายตรงเลย อันดับแรกก็ขายเพื่อนก่อน ขายอย่างน้อยให้เพื่อนรอบตัวสิบคน พนักงานมี 8 พันคน ก็ขายได้ 8 แสนอันแล้ว แว่นเป็นปัจจัยสี่ ยืมมาใส่กันไม่ได้ ถามคนอื่นเหมือนถามเวลาบนนาฬิกาก็ไม่ได้ ต่อให้เศรษฐกิจแย่แค่ไหนคนก็ต้องใส่แว่น”
นอกจากนี้ ทายาทรุ่นที่ 2 ร้านแว่นท็อปเจริญยังบอกด้วยว่า เคล็ดวิชาที่ทำให้ผ่านมาทุกวิกฤติได้เป็นเพราะตนใช้เงินสดทำธุรกิจเท่านั้น ตั้งแต่เปิดร้านมาไม่เคยกู้แบงก์แม้แต่ครั้งเดียว ถือคติ “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” บอกว่า กู้แบงก์แล้วนอนไม่หลับ เพราะดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน อนาคตก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดความเสี่ยงขึ้น ภัยพิบัติ หรือสงครามขึ้นอีกหรือไม่ มีแค่ไหนลงทุนแค่นั้น ซื้อมาแพงก็ขายแพง ซื้อมาถูกก็ขายถูก ไม่มีเงินก็ยังไม่ต้องลงทุน
ร้านแว่นไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ขายวันละ 2-3 อันก็อยู่ได้แล้ว
เติบโตทั่วประเทศกว่า 2,000 สาขา ขณะเดียวกันก็ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดถึงทราฟิกในร้านที่ดูบางตา สวนทางกับจำนวนสาขาและรายได้หลักพันล้านทุกปี เรื่องนี้ “นพศักดิ์” อธิบายไว้ว่า เพราะแว่นตาเป็นสินค้าที่มาร์จิ้นสูง กำไรดี ที่สำคัญแว่นตาแทบจะเป็นสินค้าอย่างเดียวในโลกที่เช็กราคาไม่ได้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนเข้าร้านไม่มากแต่ผลประกอบการเป็นบวกตลอด
มากไปกว่านั้น การเอาธุรกิจร้านแว่นไปเทียบกับร้านค้าประเภทอื่นๆ ก็คงจะดูผิดฝาผิดตัวอยู่สักหน่อย ร้านสะดวกซื้อขายได้ปริมาณเยอะแต่ราคาต่อหน่วยไม่ได้สูงเท่ากับแว่นตา ส่วนร้านแว่นขายเพียงวันละ 1-2 อันก็อยู่ได้แล้ว ราคาตัดแว่นพร้อมเลนส์ตีสัก 5,000 บาท หากมีคนเข้าร้าน 3 คน วันนั้นร้านก็มีรายได้ 15,000 บาท
“เราต้องทำธุรกิจที่มาร์จิ้นสูงจะได้บริหารงานง่าย และอย่างที่คือสองเช็กราคาไม่ได้ แว่นเปรียบเสมือนยารักษาโรค ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ 5 คน ถ้าไปวัดสายตาต้องใส่แว่นทั้ง 5 คน เพราะเล่นแท็บเล็ต-โทรศัพท์มือถือ ถึงตอนเด็กไม่ใส่อย่างไรอายุ 40 ก็ต้องใส่ แต่ร้านแว่นจะให้คนเต็มร้านแบบร้านสะดวกซื้อเป็นไปไม่ได้ แว่นตาตัดครั้งหนึ่งอยู่ได้ 1-2 ปี แล้วเคยเห็นร้านแว่นร้านไหนคนเต็มร้านมั้ย ไม่มี”
นอกจากขายดีในกลุ่มคนไทย “แว่นท็อปเจริญ” ยังเน้นเปิดย่านท่องเที่ยว เฉพาะภูเก็ตมีทั้งหมด 50 สาขา พัทยา 40 สาขา และย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ ราวๆ 10-20 สาขา “นพศักดิ์” บอกว่า ต่างชาติที่มาเมืองไทยจะมีไกด์บุ๊กลิสต์สิ่งที่ต้องทำหลักๆ คือตัดสูท ทำฟัน และตัดแว่น เพราะมีราคาถูกกว่าประเทศบ้านเกิด 3-4 เท่า
แว่นหนึ่งอันตัดที่ท็อปเจริญราคา 5,000 บาท ขณะที่ยุโรปคิดราคาทุกกระเบียดนิ้วตั้งแต่ค่าวัดสายตา ค่าเจียระไนเลนส์ ค่าประกอบเลนส์แยกกันต่างหาก เข้าไปวัดสายตาอย่างเดียวก็เสียเงินแล้ว ขณะที่เมืองไทยวัดสายตาให้ฟรีๆ
มีในไทย 2,000 สาขา อยากเป็น “Local Brand”
ปัจจุบันธุรกิจในเครือแว่นท็อปเจริญไม่ได้มีแค่ร้านตัดแว่นเท่านั้น แต่ยังมี “ศูนย์รักษาตา ท็อปจักษุ” ครอบคลุมรักษาดวงตา โรคต้อกระจก-ต้อเนื้อ และยังเป็นศูนย์เลสิค รวมถึงยังมี “แว่นตาเอไอ” ภายใต้แบรนด์ท็อปเจริญที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้
ถัดจากในประเทศ “นพศักดิ์” บอกว่า ตนวางแผนคิดเรื่องขยายไปยังประเทศต่างๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปักหมุดเป็น “Local Brand” เบื้องต้นเข้าไปทำการตลาดและเปิดสาขาในลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มองว่า การเป็น Global Brand อาจเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป แต่ตำแหน่งที่ 1 ในอาเซียนอาจจะเป็นฝันที่ใกล้ความจริงมากกว่า