สแน็ค 5.04 หมื่นล้านโตแผ่ว 2-4% 'เลย์' อยู่ไทย 30 ปี เร่งโตเหนือตลาด

ตลาดขนมขบเคี้ยวไทยมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน ปี 2568 ขยายตัวต่ำ 2-4% ผลจากเศรษฐกิจ ลูกค้าเลือกใช้จ่ายสินค้าคุ้มค่า 'เลย์' เพิ่มปริมาณสินค้า 20% รีเทิร์นรสชาติยอดนิยม
ส่องตลาดขนมขบเคี้ยวของประเทศไทยในปี 2568 เผชิญความท้าทายหลายด้าน จากเศรษฐกิจและพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม “เน้นความคุ้มค่า” มากที่สุด ทำให้แบรนด์ใหญ่ในตลาดอย่าง “เลย์” เจ้าตลาดมันฝรั่ง เร่งแผนการตลาด และนำสินค้ายอดนิยมรีเทิร์นกลับมาสู่ตลาดอีกครั้ง
สำหรับแบรนด์ เลย์ (Lay's) มันฝรั่ง อยู่ในตลาดไทยมา 30 ปี โดยมีโรงงานในไทยสองแห่ง ในการผลิตมันฝรั่ง และขนมขบเคี้ยว ทั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงงานที่ลำพูน ส่วนมันฝรั่ง เป็นการรับซื้อจากเกษตรกรในประเทศไทย หลากหลายพื้นที่ด้วยสัดส่วน 70% ของการผลิตทั้งหมด ที่เหลือ 30% มาจากมันฝรั่ง นำเข้าจากต่างประเทศ
ชลกร อภิชาติธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยว เป๊ปซี่โค ภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดขนมเคี้ยวของไทย หริอ ตลาดสแน็ค มีมูลค่าประมาณ 5.04 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีการขยายตัวประมาณ 2-4% ใน 2568 มีการขยายตัวแบบชะลอตัวลง จากในปีก่อนที่มีการขยายตัว 6% มาจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นผลมาจากการภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกที่อาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก และผู้บริโภคต่างมุ่งเน้นในเรื่องความคุ้มค่าคุ้มราคาในเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น
สำหรับภาพรวมการแข่งขันในตลาดขนมขบเคี้ยวของประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากแบรนด์ต่างๆ มุ่งนำเสนอรสชาติของสินค้าและการทำโปรโมชั่นเพื่อร่วมดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย โดยในตลาดขนมขบเคี้ยว จะมีตลาดรวมของมันฝรั่งมีมูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และแบรนด์ เลย์ อยู่ในตลาดมันฝรั่งมายาวนานถึง 30 ปี เป็นหนึ่งในแบรนด์หลักของตลาดมันฝรั่งของไทย ได้ประเมินสถานการณ์ของตลาดอย่างรอบด้าน ทำให้ได้เพิ่มปริมาณของสินค้า 20% ในบางขนาดสินค้าตั้งแต่ปีก่อน เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าอย่างรอบคอบมากขึ้น
“ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีผลต่อภาคใหญ่ของประเทศ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่า โดยทุกแบรนด์สินค้าในตลาดต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้อง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่ได้มองในเรื่องราคาที่ต้องถูก แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาสินค้าและความคุ้มค่าคุ้มราคาที่ต้องไปด้วยกัน”
ขณะที่นโยบายของภาครัฐ โดยกรมสรรพสามิต ที่เตรียมพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็ม ในปี 2568 ในกลุ่มขนมขบเคี้ยวตามปริมาณโซเดียม แบบขั้นบันไดนั้น โดยเลย์ ได้กำหนดนโยบายของอาหารตามที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้อยู่แล้ว
เลย์ อยู่ในไทยครบ 30 ปี รีเทิร์นรสชาติยอดนิยมสู่ตลาด
ทางด้านแผนของเลย์ในปี 2568 ได้วางงบการตลาดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เพื่อร่วมฉลองการที่แบรนด์อยู่ในตลาดมาครบรอบ 30 ปีแล้ว และให้น้ำหนักในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงได้นำรสชาติยอดนิยม 5 รสชาติที่เคยทำตลาด กลับมาทำตลาดอีกครั้ง ประกอบด้วย รสไข่เค็ม รสชีส หัวหอม กะเพรากรอบ และลาบทอด มาจากทำการสำรวจของกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจ 5 รสชาตินี้มากที่สุด
สำหรับแผนช่วงครึ่งปีหลังนำรสชาติยอดนิยมเข้ามาทำตลาดในไทยอีก 1-2 รสชาติ เน้นรสชาติยอดนิยมของกลุ่มลูกค้าที่สร้างยอดขายได้สูง โดยที่ผ่านมาเลย์ มีการเปิดตัวสินค้ารสชาติใหม่เข้ามาทำตลาดไทยรวม 201 รสชาติ ในตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
รวมถึงได้ร่วมมือกับ คาแรกเตอร์ยอดนิยมกับ B21 จาก IPX ที่อยู่ภายใต้ บริษัท LINE จัดทำคอลเลคชั่นพิเศษร่วมฉลอง 30 ปี ทั้งนี้การร่วมมือกับแผนการร่วมมือกับ LINE มาจากการเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่มีฐานลูกค้าคนไทยใช้งานในสัดส่วนถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งเตรียมออกสินค้าพรีเมี่ยมพิเศษในการเฉลิมฉลอง มูลค่าของรางวัลมากกว่า 30 ล้านบาท
เจาะอินไซต์ตลาดขนมขบเคี้ยวของไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินภาพรวมพฤติกรรมของคนไทยในช่วงเวลาที่นิยมขนมขบเคี้ยวมากที่สุด อยู่ในช่วงเวลา 13.00-16.00 น. เนื่องจากในเวลาบ่าย กลุ่มลูกค้าอาจจะมีเอเนอร์จี้ลดลง จึงต้องการขนมและเครื่องดื่มมาเพิ่มพลัง
สำหรับเลย์ รสชาติยอดนิยมในไทย เป็นเลย์สีเหลือง รสชาติมันฝรั่งแท้ และเลย์สีเขียว รสชาติโนริสาหร่าย โดยเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มลูกค้า Gen Z จะชื่นชอบมันฝรั่งแผ่นหยัก ส่วนลูกค้ากลุ่มคนทำงาน จะชื่นชอบมันฝรั่งแผ่นเรียบ
ทั้งนี้ประเมินว่าจากแผนการตลาดที่วางไว้ จะทำให้ภาพรวมของบริษัทในปี 2568 สามารถสร้างการเติบโตมากกกว่าตลาดรวม พร้อมการทำให้แบรนด์ “เลย์” ครองใจกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย ทำให้สามารถก้าวสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดมันฝรั่งของประเทศไทย รวมถึงสร้างผลประกอบการขยายตัวมากกว่าตลาดรวม