เปิด 5 เมกะเทรนด์พลิกโฉมโลก แบรนด์ต้องตั้งรับ ติดสปีดโตยุคใหม่

พลวัตทางการค้าในโลกที่พลิกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และเข้าสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบระหว่างประเทศมหาอำนาจในโลก สร้างแรงกระเพื่อมต่อทุกแบรนด์
ต้องติดตามและเตรียมแผนในการรับมือ หากหยุดนิ่ง มีโอกาสตกยุค และตกขบวนการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้o
ดั่งใจถวิล อนันตชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จํากัด และกรรมการอำนวยการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน "GEN Z TOP BRAND AWARD 2025” จัดโดย อินเทจ และ BrandBuffet กับ 5 เมกะเทรนด์ (Megatrend) ที่ต้องจับตามองและมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว หรือมากกว่า 20 ปี รวมถึงมีผลต่อสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
5 เมกะเทรนด์ต้องติดตาม ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเศรษฐกิจ (Shift economic power) เป็นผลมาจาก โดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐ ประกาศขึ้นกำแพงภาษีประเทศทั่วโลก มีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ปรับขึ้น 36% กระทบต่อภาคเอกชนไทยและผู้บริโภคไทย
2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Technological breakthrough) โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีเอไอ (AI) ทำให้แบรนด์ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยเฉพาะในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก
3. การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม (Demographics & Social Change) มาจากกลุ่ม GEN Z ที่มีอายุ 13-31 ปี ต่างมีพลังอำนาจในการตัดสินใจและเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ประเมินว่า ภายในปี 2577 กลุ่ม GEN Z จะมีอำนาจในการใช้จ่ายมากกว่าเจนอื่นๆ คาดใช้จ่ายสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ รองลงมา เป็น GEN Y (อายุ 29-44 ปี) มีการใช้จ่ายราว 8.8 ล้านล้านดอลลาร์ GEN X (อายุ 45-60 ปี) 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ (อายุ 61-80 ปี) 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
4. การเป็นมหานครอย่างรวดเร็ว (Rapid Urbanization) ที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคนของเมืองในแต่ละแห่งเพิ่มขึ้นสูงมาก และ 5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขาดแคลนของทรัพยากร (Climate change & Resource scarcity) โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีทั้งผลกระทบจากน้ำท่วม อากาศร้อน ล่าสุด แผ่นดินไหว ส่งผลต่อผู้ประกอบการทุกกลุ่มในระดับแตกต่างกัน
เมื่อประเมินภาพรวมกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามองและผู้ประกอบการควรเร่งหาโอกาสทางการตลาดกับ กลุ่ม GEN Z จะกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงสุดในอีก หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มนี้สนใจในเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม สนใจการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ รวมถึงให้ความสนใจกับการติดตามดิจิทัลเทคโนโลยี และการใช้งานโทรศัพท์มือถือในการสร้างเอนเกจเมนต์ต่อเรื่องราวต่างๆ และสนใจการรีวิวข้อมูลผ่านโซเชียลต่างๆ
ทั้งหมดจึงทำให้เกิด Solo economy ที่มาแรง เนื่องจากให้ความสนใจใช้ชีวิตคนเดียวและไม่สนใจที่มีครอบครัว ทำให้เกิดการสร้างคอมมูนิตี้ของ เพ็ทซูเมอร์ (Petsumers) ที่มาแรง ทำให้ครอบครัวต่างๆ หันมาเลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อปีประมาณ 41,000 บาทต่อตัวต่อปี
กลุ่มนี้ยังทำให้เกิด SRM Economy (Social Relationship Management) ที่มาจาก CRM หมายถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระยะยาว ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ และเกิดคุณค่าในใจของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ต่างๆ
ทั้งนี้สิ่งสำคัญของทุกแบรนด์ควรปรับกลยุทธ์รับมือคือการใช้ สติ มาร์เก็ตติ้ง (SATI Marketing) ประกอบด้วย Segmentation of One การจับกลุ่มผู้บริโภคอย่างมีสติ ไม่ควรมุ่งตลาดแมส แต่ควรเลือกเซกเมนต์ที่เหมาะสมกับแบรนด์มากที่สุด ต่อมา Authentic Proposition การสร้างคุณค่าให้ตรงใจ แต่ไม่ควรที่จะตามใจผู้บริโภค จนทำให้แบรนด์ไม่มีจุดยืน Trend Sensing การรู้และพิจารณาทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ และไม่ควรทำตามกัน และ Impact การวางแนวทางสร้างการตลาดที่ได้ใจ คือ การเข้าไปอยู่ในใจของผู้คน