จับตา 'เนสกาแฟ' ขาดตลาด! สะเทือนซัพพลายเชน 6 หมื่นล้านบาท

ยังคงต้องจับตาผลกระทบตลาดกาแฟ 6 หมื่นล้าน หลัง "เนสกาแฟ" ถูกห้ามผลิต จำหน่ายในประเทศไทย วิบากกรรม "เนสท์เล่" ต้องแก้ปัญหา ซึ่งซัพพลายเชนเดือดร้อน เกษตรกรถึงผู้บริโภค
ตลาดกาแฟ 6 หมื่นล้านบาท เกิดแรงกระเพื่อมใหญ่ เมื่อศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว “ห้ามมิให้เนสท์เล่” ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé หรือเนสกาแฟในประเทศไทย
คำสั่งศาลดังกล่าว เกิดจากนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดี หลัง “เนสท์เล่”ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิตเนสกาแฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567
ย้อนรอยข้อพิพาทปี 64
แหล่งข่าววงการธุรกิจ เปิดเผยว่า ปี 2564 ตระกูลมหากิจศิริ และ เนสท์เล่ เคยมีข้อพิพาทระหว่างกันมาก่อน โดยทายาท “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ได้ทำการฟ้องร้อง “เนสท์เล่” ในเป็นประเด็นการคิดค่าธรรมเนียมที่เกินจริง และดำเนินการถอนฟ้องภายหลังในเวลาไล่เลี่ยกัน
ขณะที่ข้อพิพาทล่าสุด การยกเลิกสัญญาผลิต “เนสท์เล่” ได้แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปีแล้ว
เจาะผลกระทบในซัพพลายเชน
แหล่งข่าววงการธุรกิจ กล่าวอีกว่า จากข้อพิพาทระหว่างเนสท์เล่ และตระกูลมหากิจศิริ นำไปสู่คำสั่งศาลห้ามมิให้ เนสท์เล่ ผลิต จ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้า “เนสกาแฟ” ทำตลาดในประเทศไทย ประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 1.ผู้บริโภคจำนวนนับล้านคน จะไม่ได้ดื่มกาแฟเนสกาแฟ เนื่องจากสินค้าจะเข้าสู่ภาวะ “ขาดตลาด” และประเมินไม่ได้จะเกิดขึ้นยาวนานแค่ไหน เนื่องจากขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหา
ภาพดังกล่าว สอดคล้องกับรายงานข่าว ระบุว่าตลาดกาแฟในบ้านไม่ว่าจะเป็นกาแฟปรุงสำเร็จ ทรีอินวัน กาแฟพร้อมดื่ม โดยรวม “เนสกาแฟ” เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่งเกินกว่า 50% (กรุงเทพธุรกิจ ก.ค.2567)
2.ร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้า “เนสกาแฟ” อย่างบริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ร้านค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดอุดรธานี มียอดขายจากสินค้าดังกล่าวราว 300-400 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ร้านค้าในประเทศไทยที่เป็นร้านทั่วไป(Traditional Trade) มีราว 6-8 แสนร้าน
3.ร้านกาแฟรถเข็นที่มีทั่วไทยด้วย ซึ่งแต่ละรายจะมีสูตรของตัวเอง จะไม่มีสินค้านำไปจำหน่าย และ 4.เกษตรกรที่เพาะปลูกกาแฟ ทั้งในภาคเหนือ ที่เป็นพันธุ์อาราบิก้า และภาคใต้พันธุ์โรบัสต้า ปลูกมากในจังหวัดชุมพร ระนอง เป็นต้น
ทั้งนี้ เนสท์เล่ รับซื้อเมล็ดกาแฟ ผลผลิตจากเกษตรเกินกว่า 50% ของตลาด การห้ามไม่ให้เนสท์เล่ ผลิต จ้างผลิต จำหน่ายเนสกาแฟ จะส่งผลกระทบมหาศาล รวมถึงผลิตภัณฑ์เนสกาแฟสูตรลาเต้ ที่ต้องใช้ “นม” เป็นส่วนผสม ซึ่งเนสท์เล่ มีการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรเช่นกัน
“ใครจะซื้อเมล็ดกาแฟล็อตใหญ่ได้ขนาดนี้ และยังกระทบต่อผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ ผลกระทบมีค่อนข้างมาก เป็นกลุ่มๆ”
สินค้าขาดตลาดนาน “เนสท์เล่” กระเทือนมหาศาล
แหล่งข่าวจากวงธุรกิจธุรกิจ กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลคือปัญหาสินค้าขาดตลาด เพราะหากปล่อยให้ข้อพิพาทยืดเยื้อ ไม่มีทางออก ผลิตสินค้าไม่ได้ จะยิ่งกระทบนาน ส่วนสินค้าที่มีอยู่ในสต๊อกของร้านค้าต่างๆ ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะจำหน่ายได้อีกนานเพียงใด
“หากทุกคนประเมินว่าสินค้าจะขาดตลาด ย่อมทำให้มีการซื้อกักตุน”
สอดคล้องกับนายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โดยปกติ เนสท์เล่ จะเป็นผู้ส่งสินค้ามาให้บริษัททุกต้นเดือน แต่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้ามายังร้านค้าได้ ส่วนลูกค้าที่ทราบเรื่องจะมาซื้อสินค้าตุนเหมือนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม
“แค่ไม่ส่งสินค้า 2-3 วัน ก็กระทบมากแล้ว แบรนด์อันดับ 1 ไม่สามารถขายได้ อาจเป็นโอกาสของแบรนด์รอง แต่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเพราะคุ้นชินรสชาติ”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากเนสท์เล่แก้ไขสถานการณ์ล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อรายได้มหาศาล เพราะเนสกาแฟ เป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ให้บริษัท อีกด้านอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน
รายงานข่าวระบุว่า ระหว่างปี 2561-2567 เนสท์เล่ลงทุนในประเทศไทยกว่า 22,800 ล้านบาท ที่ผ่านผู้บริหารเนสท์เล่ระดับโลกได้มีโอกาสพบปะนายกรัฐมนตรีของไทย ทั้ง “แพทองธาร ชินวัตร” และ “เศรษฐา ทวีสิน” พร้อมแสดงความเชื่อมั่นถึงในการลงทุนในประเทศไทยมาโดยตลอด
บทเรียน “พิซซ่า-น้ำดำ” ถึง “เนสกาแฟ”
บทเรียนจาก “พันธมิตร” สู่ “คู่ขัดแย้ง” กลายเป็นคู่แข่งในประเทศไทย เคยเกิดขึ้น ได้แก่ กรณี “พิซซ่า” แบรนด์ระดับโลก “พิซซ่า ฮัท” เข้ามาทำตลาดในไทย โดยอาศัยพลังพันธมิตร แต่ภายหลังเจ้าของแบรนด์ต้องการทำตลาดเองจึงทำให้แตกขั้ว เกิดแบรนด์ใหม่ “เดอะ พิซซ่า คัมปะนี” ท้าชนรายเดิมจนซวนเซ
เช่นเดียวกับ “น้ำดำ” เมื่อ “เป๊ปซี่” ปรับเปลี่ยนนโยบายผู้ผลิต และแยกทางกับ “เสริมสุข” ที่ผลิตและจัดจำหน่าย จากมิตรสู่ศัตรู ทำให้ “เป๊ปซี่” เพลี่ยงพล้ำในตลาดไทย ส่วนเสริมสุขที่ได้ทุนใหม่ “ไทยเบฟเวอเรจ” มาอุ้ม และปั้นแบรนด์ “เอส” เข้าแข่ง
“มีการเทียบเคียงกรณีเนสกาแฟกับพิซซ่าและน้ำดำ จริงๆแล้วแตกต่าง เพราะเนสกาแฟ เป็นเจ้าของแบรนด์ เจ้าของเทคโนโลยี สูตร ทั้งหมด การบริหารงาน การตลาด การจำหน่าย ฯ ท่อทั้งหมดมากจากเนสท์เล่” แหล่งข่าวกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า ตลาดกาแฟทุกประเภทมีมูลค่าราว 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดกาแฟในบ้านราว 3.3 หมื่นล้านบาท(กาแฟปรุงสำเร็จ ทรีอินวัน) และตลาดกาแฟนอกบ้าน 2.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส ทำรายได้ปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 1.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28% “กำไรสุทธิ” กว่า 3,067 ล้านบาท ลดลง 9.84%