ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ชี้ 'เนสท์เล่' ถือสิทธิเครื่องหมายการค้า ขาย 'เนสกาแฟ' ได้

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีคำสั่งชี้ขาดให้ เนสท์เล่ (ไทย) เป็นผู้ถือสิทธิ์เครื่องหมายการค้า Nescafé และ เนสกาแฟ ทำให้กลับมาขายได้อีกครั้ง
“ฐานเศรษฐกิจ” รายงานว่า ความคืบหน้าข้อพิพาททางกฎหมายที่ระหว่าง “เนสท์เล่” บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ระดับโลก เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อ ผลิตกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533
ล่าสุดในวันที่ 12 เมษายน 2568 “เนสท์เล่” ลงนามโดย นางสาวเครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประเทศไทย ส่งหนังสือไปยังพันธมิตรทางการค้า เพื่อแจ้งความคืบหน้าล่าสุดถึงสถานการณ์ของธุรกิจเนสกาแฟ โดยระบุว่า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งชี้ขาด ให้เนสท์เล่เป็นผู้ถือสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “Nescafe” และ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศ ทำให้ “เนสท์เล่” สามารถกลับมาจำหน่ายเนสกาแฟ ได้ตามปกติ
สำหรับหนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงบริษัทขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนของท่านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทมีความยินดีที่จะเรียนให้ท่านทราบถึงความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟ
ตามที่ได้มีการสื่อสารกับท่านเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 บริษัทมีความยินดีที่จะเรียนให้ท่านทราบว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ทป 58/2568 ได้มีคำสั่งยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า "Nescafe" และ "เนสกาแฟ" ในประเทศไทย และสามารถใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งคำสั่งศาลนี้มีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568
ตามผลของคำสั่งข้างต้น ทางบริษัทมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า เนสท์เล่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทีมงานของเนสท์เล่พร้อมจะให้บริการและให้ความช่วยเหลือท่านในการปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่การดำเนินงานตามปกติ
บริษัทขอขอบคุณท่านสำหรับความเข้าใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากท่านมีคำถามหรือต้องการความช่วยเหลือ ท่านสามารถติดต่อได้โดยตรง
เนสท์เล่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างยั่งยืน และจะเดินหน้าลงทุนเพื่อประโยชน์แก่ลูกค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ร่วมงานกับเรา และพันธมิตรทางธุรกิจ และหวังว่าจะยังคงความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับท่านต่อไป