‘ทีวีดิจิทัล’วอน กสทช.วางแผนแม่บท รองรับสิ้นสุดไลเซนส์ ปี 72

‘ทีวีดิจิทัล’วอน กสทช.วางแผนแม่บท  รองรับสิ้นสุดไลเซนส์ ปี 72

จัดเวทีสัมมนาแล้ว ไถ่ถามแล้ว กสทช.ยังไร้คำตอบให้กับ "ทีวีดิจัทล" ถึงทิศทางหลังสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการ ผู้ประกอบการวางแผนแม่บท ชี้อนาคตธุรกิจ

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดล่าสุด 21 เม.ย.2568 ได้ ที่เคาะประมูลคลื่น 4 ย่านความถี่ ส่วนคลื่น 3500 MHz ที่เป็นปมร้อนของผู้ประกอบการ “ทีวีดิจิทัล” ซึ่งกังวลหากนำคลื่นดังกล่าวไปประมูลจะเปรียบเหมือนดึงปลั๊กอ๊อกซิเจนออก ทำให้ธุรกิจล่มสลาย!

นอกจากการค้านไม่ให้ กสทช.นำคลื่น 3500 ไปประมูล สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องการคำตอบอีกประเด็นคือหาก “สิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล” หรือไลเซนส์ใน ปี 2572 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ชะตากรรมของทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สำหรับคลื่น 3500 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องการใช้ไปจนถึงปี 2572 ที่จะหมดไลเซนส์ เพราะเหมือนท่อออกซิเจน แต่อีกประเด็นที่ต้องดำเนินการคือหาวิธีการร่วมกัน หากสิ้นสุดไลเซนส์แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับทีวีดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อม

นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวล หากไม่มีแผนแม่บท หรือแนวทางหลังสิ้นสุดใบอนุญาตอาจทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลล่มสลายได้ เฉกเช่นกับระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และถือเป็นความล้มเหลวอีกด้วย

“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสอบถามไปกี่ครั้ง ก็ไม่มีคำตอบ หากปี 2572 สิ้นสุดไลเซนส์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ต้องการให้ภาครัฐมองอนาคต และจัดทำแผนแม่บทว่านโยบายเกี่ยวกับทีวีดิจิทัลจะมีอะไรบ้าง ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการอาจล่มสลายเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลคือความล้มเหลว”

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 11 ปีของการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล เดอะวันเอ็นเตอร์ไพร์ส ซึ่งมีช่องวัน31 และช่องจีเอ็มเอ็ม25 อยู่รอดมาได้ ยกให้ “ความทน” และ “การปรับตัว” ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป

จากเอ็กแซ็กท์ สู่เดอะวันเอ็นเตอร์ไพรส์ มีช่องทีวีดิจิทัล จุดแข็งที่ “ถกลเกียรติ” เคลื่อนธุรกิจให้เติบโตคือการเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์หรือ Content creator ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่ช่องทีวีเท่านั้น และการหารายได้ยังขยายสู่หลากหลายช่องทาง และหลากโมเดลธุรกิจ

“ทุกวันนี้ทุกคนทราบดีว่าเทคโนโลยีเปลี่ยน เจอดิสรัปชันมากมาย แน่นอนว่าคนดูทีวีน้อยลง แต่คนยังดูคอนเทนต์ และเราทำคอนเทนต์ตั้งแต่ก่อนประมูลทีวีดิจิทัล ไม่มีใครดูจอทีวีเปล่าๆ แต่นั่นคือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งซอฟต์แวร์คือคอนเทนต์ เราต้องหารายได้จากช่องทางอื่น ต้องรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ตลอด 11 ปีของการทำทีวีดิจิทัล เราอยู่รอดได้เพราะทน และปรับตัว อย่างช่องวันที่ดูแล เราทำผลงานได้ดีมาก

สำหรับทิศทางเม็ดเงินโฆษณาทางทีวี ยอมรับว่ายังคงลดน้อยลง บริษัทจึงมุ่งหารายได้จากช่องทางอื่นๆ สอดคล้องกับ นรัญจ์ พุ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม กลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งบโฆษณาปี 2567 ลดลง ด้วยสภาพเศรษฐกิจและคนดูที่เปลี่ยนไป เสพสื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่แนวโน้มตลาดอินฟลูเอนเซอร์ การตลาดผ่านไอดอลหรือไอดอล มาร์เก็ตติ้งยังมีแนวโน้มเติบโต สอดคล้องกับบริษัทมีไอดอลมาร์เก็ตติ้งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักร้างรายได้จากทั้งในและต่างประเทศ

ปี 2564 ไอดอล มาร์เก็ตติ้งของบริษัทเคยทำรายได้สัดส่วน 11.3% แต่ไตรมาส 4 ปี 2567 สัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 34.8% และทิศทางอนาคตคาดว่าจะเติบโตได้ดี

ภายใต้ ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง ยังมีการบริหารจัดการศิลปินที่มีร่วม 300 ชีวิต และไอดอลระดับท็อป 30-40 รายทำรายได้สูงสุด มีการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ การจัดอีเวนต์ คอนเสิร์ต แฟนด้อม และต่อยอดสู่สินค้าเพื่อสร้างรายได้ โดยปี 2567 สร้างรายได้รวม 2,223.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.93%

“ทีวียังเป็นสื่อแมสที่เข้าถึงผู้คนในวงกว้าง วันนี้สินค้าเราคือคอนเทนต์ ทีวีคือโชว์รูมนำสินค้าไปวาง ทีวียังครองเม็ดเงินโฆษณาสัดส่วนสูง ที่เราปล่อยไม่ได้ แต่เรามุ่งเจนเนอเรทรายได้ช่องทางอื่นด้วย ทั้งแพลตฟอร์มโอทีที ฯ อย่างไรก็ตาม ปี 2568 เป็นอีกปีที่ท้าทายทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา บริษัทจึงพยายามหารายได้จากหลายช่องทาง ภายในยังบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ”