'บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย'ภารกิจล้างหนี้-ความต่างคือจุดขาย

"บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย" นายน้อยแห่งธุรกิจน้ำตาลวังขนาย น้องสุดท้องที่รับช่วงต่อจากผู้พี่ "ธีระ ณ วังขนาย" นำทัพองค์กรโบกมือลาแผนฟื้นฟู
บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย เจ้าของกิจการที่ปัจจุบันมีสถานะเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ที่มีหน้าที่นำพาธุรกิจน้ำตาลวังขนายทยอยใช้หนี้ 15,000 ล้านบาท หลังบริษัทเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ 2550 นับจากวันนี้ก็ 6 ปีกว่าแล้ว
เขาเลื่อนขั้นจากผู้บริหารฝ่ายงานด้านฝ่ายบุคคลและฝ่ายประชาสัมพันธ์ ขึ้นมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการแทนพี่ชาย ธีระ ณ วังขนาย ในช่วงรอยต่อที่ธุรกิจกำลังเผชิญมรสุมวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 การลอยตัวค่าเงินบาท ยังทำให้หนี้เงินกู้พุ่งสูงขึ้นทวีคูณ จากมูลหนี้เดิม 7,000-8,000 ล้านบาท
“ช่วงนั้นธุรกิจกู้เงินมาลงทุนหลายกิจการ มาเจออีกเด้งตรงที่ลอยตัวค่าเงินบาท ก็แค่นั้น" เจ้าตัวพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
เขานิยามภารกิจของเขาคือ กัปตันคุมทิศทางธุรกิจฝ่าวิกฤติรอบนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะการปลดภาระหนี้ที่แบกไว้เต็มบ่า
โดยเขายอมรับว่า ปีแรกกลัวลนลานกับกองหนี้มหาศาล แต่พอปีต่อมาเริ่มตั้งหลักได้ พร้อมเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งปวง โดยเริ่มปรับกระบวนทัพองค์กรน้ำตาลนามวังขนาย ในหลายภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การปรับวินัยการทำงาน วินัยทางการเงิน การวางแผนธุรกิจที่เข้มข้น รวมถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์
ทว่าสิ่งที่วังขนาย "ไม่ปรับ" แม้ในยามวิกฤติ คือ จะต้อง "บอกความจริง" ให้กับพนักงานทั้ง 1,300 ชีวิต ให้รู้สถานะทางธุรกิจ และอนาคตทางธุรกิจร่วมกัน
“บางคนคิดว่าอย่าเอาข่าวร้ายไปบอกลูกน้อง แต่คาแร็กเตอร์ของเรา มีอะไรต้องบอกกัน จะได้ตั้งตัวได้ทัน เราจะบอกหมดว่า หนี้มีอยู่เท่าไหร่ จะชำระเงินกู้ยังไงกับสถานะของบริษัทที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ภาษาที่เข้าใจง่ายๆ คือล้มละลาย นั่นละครับ"
อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรจะอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่บุญญฤทธิ์ บอกว่า ธุรกิจพยายามบริหารจัดการเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพนักงานน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือโบนัสยังอยู่ครบ เพียงแต่ปรับมีวิธีการประเมินผลการทำงานให้เข้มขึ้นเท่านั้น
“ธุรกิจไม่ได้ย่ำแย่ขนาดกู้เรือกลับไม่ได้ เรือมันไม่ล่ม แค่มีรูรั่ว หากเริ่มปะใบ ซ่อม ปรับหางเสือก็แล่นฉิวแล้ว ที่ผ่านมาผมพยายามหาศัพท์มาอธิบายง่ายๆ ไม่ให้พนักงานตื่นเต้น ว่าไม่มีอะไรกระทบองค์กร หนี้เยอะไม่ได้หมายความว่าผลประกอบการไม่ดี และไม่มีโบนัส พนักงานไม่ผิด จึงเอาหนี้มารวมกับผลประกอบการประจำปีไม่ได้” เขาระบุและว่า พนักงานทุกคนไม่ต่างจาก "ลูกเรือ" มีหน้าที่ช่วยอุดรูเรือและออกแรงพายให้องค์กรสร้างผลประกอบการและกำไรสูงขึ้น
ขณะที่การจัดทัพองค์กร เพื่อผลักดันรายได้ บุญญฤทิธิ์ เล่าแผนการว่า สิ่งที่วังขนายให้ความสำคัญคือการสร้าง "มูลค่าเพิ่มจากความต่าง" ของสินค้า กลายเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันแบรนด์วังขนายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดกลุ่มน้ำตาลสีธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 80% จากมูลค่าตลาดรวม 2,300 ล้านบาทในขณะนี้ ตลาดนี้ยังมีอัตราเติบโตปีละ 5-6 % สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภค ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
โดยปัจจุบันวังขนายมีกำลังการผลิตน้ำตาลธรรมชาติสัดส่วน 50% น้ำตาลทรายขาวสัดส่วน 45% และเหลืออีก 5% เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
“ตัวเลขมันโตขึ้นแสดงว่า คนเริ่มยอมรับการบริโภคว่าไม่เป็นมะเร็ง เพราะไม่มีเคมีราคาก็ไม่ต่างกัน” เขาเล่าจุดขายที่แตกต่าง
จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ใช้หนี้ได้รวดเร็วมากกว่าเป้าหมาย "บุญญฤทธิ์" ระบุ
เขายังบอกด้วยว่า การปรับทัพองค์กร ยังนำไปสู่การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นเหมือนการมอนิเตอร์การทำงานจากทุกฝ่าย ทุกสายการทำงานที่สัมพันธ์กัน ตั้งแต่ ฝ่ายชาวไร่ การเงิน จนถึงการตลาด โดยในแต่ละตำแหน่งงานจะมีตัวชี้วัดศักยภาพ และการทำงานของตัวเอง บนผลลัพธ์ "กำไรสูงสุด"
โดยระบบเหล่านี้ถูกจัดวางเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ERP (Enterprise resource planning)
กรรมการผู้จัดการวังขยาย ยังบอกว่า ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารงานในกิจการของตระกูล ไม่มีครั้งไหนที่คิดถึงความเป็นเจ้าของในแบบ “แฟมมิลี่ บิซิเนส” แต่เป้าหมายแรก (goal) ที่ท่องไว้ขึ้นใจ คือ "ต้องล้างหนี้" เพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมุ่งมั่นที่จะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ให้ได้ ไม่เกิน 1-2 ปีจากนี้ เร็วกว่ากำหนดเวลาในแผนที่กำหนดไว้ 12 ปี นับจากปี 2550
นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมาย "หนี้เป็นศูนย์" ให้ได้ภายในระยะ 7-8 ปีจากนี้ นั่นเพราะอยากสัมผัสความ "เป็นไท" รวมถึง รสชาติของความเป็น "อิสระ"
“คนมีหนี้มักพูดว่ามีหนี้เหมือนมีเครดิต อย่าไปเชื่อ โอ๊ย! มันทรมาน” บุญฤทธิ์ ลากเสียงยาว
กระนั้นก็ตาม การเดินตามกรอบแผนฟื้นฟูฯมานานจนชิน เขายังจินตนาการไม่ออกว่า "เมื่อปลอดหนี้แล้วจะเป็นยังไง"
“มันชินกับการถูกควบคุม จึงกังวลว่าหากอิสระแล้วเราจะกลับไปทำอะไรเหลวไหลเหมือนก่อนหรือเปล่า การมีคนมาควบคุมก็ดีตรงที่เหมือนมีครูบาอาจารย์ ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดตรวจสอบบัญชี มานั่งคุยกับเรา มีความสุขจะตายเหนื่อยหน่อย ฝึกเราก่อนที่เราจะออกไปเผชิญกับโลกภายนอก"
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายบทเรียนจากวิกฤติ ว่า “อย่าไปลงทุนกับอะไรที่ไม่ใช่ทางของตัวเอง"