โทเคนดิจิทัลกับผู้ออก ตอน 2
โทเคนดิจิทัลมีประโยชน์กับผู้ออกในหลายเรื่อง ดังนั้นทาง ก.ล.ต. จึงได้อนุญาตให้ผู้ออกสามารถออกโทเคนดิจิทัลได้ โดยทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
โทเคนดิจิทัลโดยส่วนใหญ่แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) ตามที่ ก.ล.ต. กำหนด ยกเว้นแต่โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แบบพร้อมใช้ (ready-to-use utility token) (แต่กำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงกฎให้โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แบบพร้อมใช้ก็ต้องผ่านกระบวนการ ICO ด้วยเช่นกัน) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้
- ผู้ระดมทุนต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
- การเสนอขายจะต้องทำผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
- มีหนังสือชี้ชวนที่ชัดเจน
- ผู้ลงทุนต้องมีคุณสมบัติ และวงเงินลงทุนตามกำหนด
ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงไม่ระดมทุนด้วยวิธีการตามปกติ และควรที่จะเลือกใช้วิธีนี้ในการระดมทุนแทน นั้นเป็นเพราะการออกโทเคนดิจิทัลมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ หรือหุ้นทุนดังนี้
- บริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนก็สามารถระดมทุนได้ตามที่เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
- บริษัทมีอิสระในการกำหนดสิทธิประโยชน์ของโทเคนดิจิทัล
- บริษัทไม่มีผลกระทบจากการเพิ่มทุน (dilution effect)
- บริษัทสามารถระดมทุนเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่งเฉพาะ โดยไม่ต้องตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ และไม่จำเป็นต้องมีผลการดำเนินงานที่ดีในอดีต
อย่างไรก็ตาม โทเคนดิจิทัลยังเป็นสิ่งใหม่อยู่ บริษัทส่วนใหญ่จึงไม่เคยมีประสบการณ์ในการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลมาก่อน บริษัทจึงมักจะต้องพึ่งพาที่ปรึกษาในการช่วยออกแบบโทเคนให้มีความน่าสนใจกับนักลงทุน โดยผ่านการกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ของโทเคนไม่ว่าจะเป็นจำนวนโทเคนที่ออก สัดส่วนการกระจายโทเคนที่เหมาะสม สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมไปถึงการจัดทำหนังสือชี้ชวน เพื่อจดทะเบียนกับ ICO Portal
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับบริษัทผู้ออกก็คือโครงการที่น่าสนใจ มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทน หรือมีสินค้า และบริการที่เป็นที่ต้องการที่แท้จริง ไม่เช่นนั้น การระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลก็จะไม่ยั่งยืน ทำให้โทเคนสูญเสียมูลค่า และทำให้นักลงทุนสูญเสียเงินลงทุนไปในที่สุด