“เกษียณ” แบบมีคุณภาพ ต้องมีเงิน 6-12 ล้าน จริงไหม? แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
อยากใช้ชีวิตหลัง “เกษียณ” แบบมีคุณภาพ 2 กูรูการเงินแนะ ยิ่งลงมือทำเร็วยิ่งได้เปรียบ พร้อมโชว์ตัวเลขเงินที่ต้องมี และวิธีการไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ไม่ต้องเหนื่อยจนเกินไป
คำถามโลกแตกของคนใกล้ "เกษียณ" คือ "ต้องมีเงินเกษียณเท่าไรถึงจะพอ?" ไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับทุกคน
แต่คำตอบของคำถามนี้ เบื้องต้นจากคำนวณพบว่า "6-12 ล้านบาท" คือตัวเลขที่ทำให้ผู้เกษียณอายุ สามารถมีชีวิตหลังเกษียณที่คุณภาพได้
ตามทฤษฎีการวางแผนการเงิน ถ้ามีการวางแผนการเงินที่ดีตั้งแต่ต้นเงินหลักล้านเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และไม่ยากเย็นจนเกินไป แต่ถ้าเตรียมตัวช้าหรือไม่เตรียมตัวเลย นั่นแหละ! ปัญหาโลกแตกของจริง
แล้วพนักงานเอกชน หรือคนทำงานอิสระทั้งหลาย ที่ไม่มีบำนาญ จะเตรียมเงินเกษียณหลายล้านบาทที่ว่านี้อย่างไรได้บ้าง ?
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในงาน Wealth & Health Forum เกี่ยวกับการเตรียมเกษียณ ที่ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งเหนื่อยน้อย ไม่เบียดเบียนความสุขของตัวเองมากจนเกินไป
หลังเกษียณควรมีเงินใช้เท่าไรกันแน่ ?
สาเหตุที่ไม่สามารถระบุตัวเลขตายตัวได้ เพราะแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้เงินในวัยเกษียณย่อมแตกต่างกันไปด้วย โดยยกตัวอย่างการคำนวณ 2 แบบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ
1. 50-70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
2. วิธีคิดแบบ Minimum Lump Sum (มินิมัมล่ำซำ) จำนวนเงินจากการคิดว่าหลังเกษียณ อยากใช้เงินต่อเดือนเท่าไร แล้วคูณระยะเวลาที่ต้องใช้หลังเกษียณ
หากตั้งต้นแบบนี้ ภาพรวมจำนวนเงินที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณที่มีคุณภาพจึงเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ล้าน 9 ล้าน และ 12 ล้าน ความสะดวกสบายย่อมแปรผันตามจำนวนเงิน ซึ่งตัวเลขนี้ขยับจากตัวเลขเดิมที่ 4 ล้าน 7 ล้าน และ 9 ล้าน ที่เคยเป็นค่าเฉลี่ยในอดีตด้วยสภาวะเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนไทย
ด้าน วศิน วณิชย์วรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ก็ได้ฉายภาพเพิ่มเติมให้เห็นภาพรวมในอนาคต ที่พบว่าคนแต่ละช่วงวัยจะต้องเตรียมเงินไว้เท่าใดบ้าง โดยคำนวณเงินเฟ้อเป็นเลขกลมๆ ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
สมมติว่า หลังเกษียณจะใช้ 20,000 บาทต่อเดือน เมื่อวันนั้นมาถึง มูลค่าจริงๆ แล้วอาจต้องใช้เงินมากกว่า 20,000 บาทเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ
เช่น อายุ 50 ปี อีก 10 ปีข้างหน้า เงิน 20,000 จะกลายเป็น 27,000 บาท, คนอายุ 25 ปี อีก 35 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นเงินประมาณ 56,000 บาท เป็นต้น
ตัวเลขเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำกว่า สำหรับพนักงานเอกชนที่ไม่มีเงินบำนาญ ยิ่งจำเป็นต้องรีบวางแผนการเงินให้ดีตั้งแต่วินาทีนี้ คำถามต่อมาคือ แล้วจะไปถึงเป้าหมายเงินเกษียณจำนวนมากขนาดนี้ได้อย่างไร ?
ออมอย่างมีวินัย
เห็นตัวเลขหลักล้าน ฟังดูแล้วก็อดท้อไม่ได้ แต่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินยืนยันว่าสามารถ “ทำได้จริง” เพียงแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง มีวินัย และยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรยิ่งดี
โดยได้ยกตัวอย่างตารางการวางแผนเก็บเงินเกษียณ ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นได้ตามเวลาที่สะสมตามทฤษฎี "ดอกเบี้ยทบต้น" ที่เป็นผลลัพธ์ของ "ระยะเวลาออม" "จำนวนเงินออม" และ "ผลตอบแทน"
4 ทางเลือกการออมเงินเพื่อการเกษียณ รูปแบบต่างๆ ได้แก่
- โปรแกรมออมเงินต่อเนื่อง 10 ปี เป็นแพ็คเกจของธนาคารออมสิน ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.1% ต่อปี
- ประกันบำนาญ
- Reverse Mortgage ที่อยู่อาศัยเพื่อการเกษียณ ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีที่อยู่อาศัยสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ส่วนนี้เป็นเงินบำนาญให้กับตัวเองได้ไปจนสิ้นชีวิต
- ประกันเพื่อการเกษียณอายุ
ลงทุนอย่างชาญฉลาด
ด้าน วศิน ได้กล่าวถึงแนวทางวางแผนเพิ่มผลตอบแทนให้เงินเกษียณ โดยตัวเลขที่ควรคำนึงถึงเมื่อมีการวางแผนเกษียณ คือ รายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน และเงินเฟ้อในอนาคต
ยกตัวอย่างคนที่มีรายได้ 15,000 ในการเริ่มวางแผนเตรียมเงินเกษียณ โดยสะท้อนให้เห็นตัวเลขรายได้ควรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 5% เพื่อให้ชนะเงินเฟ้อที่คำนวณไว้คร่าวๆ เฉลี่ย 3% ต่อปี
หลายคนอาจมองว่าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะ "เด็กจบใหม่" ที่เพิ่งทำงาน เงินเดือนยังไม่สูง ทว่า "อายุน้อย" คือแต้มต่อที่ทำให้สามารถค่อยๆ ทยอยเก็บเงินในระยะยาวที่เหนื่อยน้อยกว่าการเร่งเก็บเงินไม่กี่ปีหลังเกษียณ
“อันหนึ่งที่ผมอยากจะบอกคือคนเริ่มยิ่งอายุน้อย จะใช้เงินไม่เยอะ เพราะว่าผลตอบแทนที่เป็นทบต้น มันจะช่วยให้การออมมีประสิทธิผลที่ดีขึ้นกว่าเดิม” วศิน กล่าว
ทำให้รายได้เติบโตอย่างน้อย 7% ต่อปี
นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ หาโอกาสให้เงินเดือนของเราเติบโตได้อย่างน้อย 7% เพราะยิ่งมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ออมเพิ่มขึ้น ก็สามารถไปถึงเป้าหมายของการเกษียณได้ง่ายขึ้นด้วย
“ให้เงินเดือนของเราสามารถโตได้อย่างน้อย 7% ผมคิดว่าหลายๆ คนทำได้ เริ่มต้นจากรักษาสุขภาพ พัฒนาตัวเองให้ทันสมัยเสมอ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะเงินเดือนไม่ได้ปรับตามเงินเฟ้อ แต่สามารถปรับตามศักยภาพของเรา”
ลงทุนอย่างไรให้ผลตอบแทนได้เฉลี่ย 5% ต่อปี
1. ลงทุนในตลาดหุ้นไทย
แนะนำการลงทุนระยะยาว โดยกระจายการลงทุนทั้งตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยยังสามารถขยายตัวได้ตลอดมีแค่การหดตัวเฉพาะบางช่วงเท่านั้น
ดังนั้น หากมีการลงทุนโดยปรับตัวไปตามของเศรษฐกิจของประเทศ ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ใกล้ๆ กับเศรษฐกิจของประเทศไทย คือผลตอบแทนอยู่ประมาณ 2-3%
โดยอาจจะลงทุน "SET50" หรือไปลงทุนกองทุนหุ้นใหญ่ๆ ย่อมมีโอกาสให้ผลตอบแทน 2-3% ได้ไม่ยากในระยะยาว
2. ลงทุนในตลาดโลก
ตัวเลขของ "MSCI World Index" ที่เป็นการลงทุนทั่วโลก พบว่าการเติบโตของการลงทุนเฉลี่ย 7%
เพราะฉะนั้น หากต้องการผลตอบแทนประมาณ 5% จึงลงทุนในประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องลงทุนในต่างประเทศ และกระจายหลากหลายสินทรัพย์ด้วย
ตัวอย่างการกระจายการลงทุนต่างประเทศในหลายสินทรัพย์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญลงทุนให้ เช่น กองทุน K-GINCOME เป็นการกระจายการลงทุนทั่วโลก มีสัดส่วนตราสารหนี้ประมาณ 41% ส่วนที่เหลือเป็นตราสารทุน
ทั้งนี้ สำหรับใครที่อยากลงทุนเอง สามารถจัดพอร์ตเองได้ โดยใช้แอปพลิเคชันเป็นตัวช่วย เช่น แอปฯ K-MyFunds ของ บลจ.กสิกรไทย ที่มีการแนะนำการลงทุนให้ โดยเทียบกับผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนเป็นคนจัดพอร์ตให้ คล้ายๆ เอาผู้จัดการกองทุน เป็นโค้ชสอนการลงทุนให้ได้ตามผลตอบแทนที่มุ่งหวัง
เช่น ต้องการผลตอบแทนประมาณ 7% ต่อปีขึ้นไป ก็ลงทุนล้อตามข้อมูลที่ปรากฏในแอปฯ ได้ไม่ยาก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้จัดการเงินลงทุนของตัวเองได้
จะเห็นได้ว่าการวางแผนเงินเพื่อการเกษียณ แม้จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากแต่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยจำนวนเงินน้อยที่ต้องอาศัยทั้งความมีวินัยสม่ำเสมอและมีความรู้ในการบริหารเงินให้งอกเงย ที่จะช่วยทำให้สามารถไปถึงเป้าหมายของการเกษียณได้ไม่ยากจนเกินไป