ถอดสูตร“วิทัย”นำทัพออมสินสร้างเครดิตการเงินคนฐานราก

ถอดสูตร“วิทัย”นำทัพออมสินสร้างเครดิตการเงินคนฐานราก

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชนระดับฐานราก เป็นหนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ธนาคารออมสิน ภายใต้แกนนำของ”วิทัย รัตนากร”ผู้อำนวยการธนาคาร ตั้งเป้าหมายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข

โดยในระยะกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เขาได้สร้างผลลัพธ์ของงานที่เด่นชัดผ่านการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินถึง 45 โครงการ ดึงกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและคนฐานรากเข้าระบบกว่า 13 ล้านราย

ชี้โควิดหนุนโอกาสสร้างธนาคารเพื่อสังคม

วิทัยเข้ามารับตำแหน่งกว่า 2 ปีเศษ ซึ่งมาในยุคโควิดเกิดขึ้นพอดี แต่ว่าสำหรับเขาแล้ว มองว่า วิกฤตโควิดได้ทำให้กลายเป็นโอกาสที่ทำให้ธนาคารสามารถปรับองค์กรได้และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนขึ้น เพราะวิกฤตโควิดทำให้ทุกคนเดือดร้อน เอสเอ็มอีก็เดือดร้อน ผู้คนก็เดือดร้อน โดยเฉพาะคนฐานรากที่เดือดร้อนมาก

ปัจจุบันออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยคนในมิติต่างๆได้มากขึ้น เพราะการมาของโควิดทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เราจึงได้ดึงคนเข้าระบบด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมมากขึ้น พร้อมกับสร้างประวัติทางเครดิตใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีและกลุ่มคนฐานราก

ขณะเดียวกัน ปัญหาดิสรัปชันที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้ลักษณะการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เราทำตอนนี้ ก็สอดคล้องกับภารกิจเทรนด์ของโลก เพราะธนาคารในรูปแบบเดิมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตอบโจทย์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ฉะนั้น ถ้าทำธุรกิจที่เหมือนเดิม ก็หมายความว่า แก้ปัญหาไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราทำจะเน้นที่ผลลัพธ์ และ ต้องเป็นผลลัพธ์ที่มีพลังด้วย

“ผมเองก็ปรับให้ออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม ความหมายก็ชัดเจน ซึ่งหมายถึง เราก็ทำธุรกิจของเราไปด้วย เอากำไรจากธุรกิจและกำไรจากการลดต้นทุนมาช่วยหนุนภารกิจเชิงสังคม ฉะนั้น เราก็เป็นแบงก์ที่ทำธุรกิจปกติด้วย และ นำกำไรมาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม”

เขาระบุว่า ด้วยความใหญ่โตของธนาคาร ซึ่งมีสาขาถึง 1,050 สาขา มีสินทรัพย์กว่า 3 ล้านล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 2.2 ล้านล้านบาท เมื่อสามารถลดต้นทุนได้มาก ก็มีกำไรเพิ่มขึ้น กำไรอันนั้น ก็นำมาจุนเจือภารกิจเชิงสังคม ทำให้สามารถช่วยสังคมได้มาก เป้าหมายหลัก คือ พ่อค้าแม่ค้า เอสเอ็มอีฐานราก คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเต็มๆ

2 ปีที่ผ่านมา ก็ช่วยคนกลุ่มนี้เป็นกอบเป็นกำ เป็นความภาคภูมิใจของธนาคารที่มีบทบาทชัดเจน และด้วยความใหญ่ของธนาคาร เราเข้าไปลดการบริหารจัดการองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายส่วนเกิน ลดค่าพีอาร์ มาร์เก็ตติ้ง และ บริหารจัดการต้นทุน วางเงินฝากสั้น ยาว สามารถลดต้นทุนได้ในช่วงที่สภาพคล่องล้นระบบ เราก็แบ่งกำไรไปช่วยสังคม ก็เลยได้อิมแพคค่อนข้างสูง”

ดึงรากหญ้าเข้าระบบการเงินลดเหลื่อมล้ำ

วิทัยย้ำว่า ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น ในฐานะที่เราเป็นธนาคารก็ได้เข้าไปดูแลเรื่องการเงินและปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ด้วยกันมานานแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นปัญหาใหญ่โตมากของประเทศ ไม่ได้เกิดที่รัฐบาลชุดนี้ แต่มีความลึกและใหญ่โตมากขึ้นในช่วงโควิด

ทั้งนี้ ปัญหาที่ว่านี้ เป็นครึ่งหนึ่งของธุรกิจอยู่ในภาคบริการของประเทศและ 60%-70% อยู่ในธุรกิจบริการและค้าขาย ซึ่งการที่เราสูญเสียนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน และการที่คนไทยไม่สามารถเดินทางหรือใช้บริการได้ ภาคบริการก็ได้รับผลกระทบ คนเหล่านี้ ก็จะตกงานและกลับถิ่นฐาน ไม่มีรายได้ ค่าครองชีพ จะเห็นว่า ผลกระทบสูงมาก เราก็เข้าไปดูแลส่วนนี้

คลอด45โครงการช่วยฐานราก13ล้านราย

ใน 2 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกโครงการเข้าไปช่วยเอสเอ็มอี และประชาชนฐานราก 45 โครงการ มีคนเข้ามาใช้กว่า 13 ล้านราย ถือว่า เป็นภารกิจของรัฐบาลที่มอบหมายให้เราเข้ามาดูแล เราก็ทำเต็มที่ เป้าหมายต้องการให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก ไม่ต้องการภาพลักษณ์ ฉะนั้น ทุกโครงการต้องการให้เกิดความชัดเจนว่า ช่วยคนได้เท่าไหร่

“ยกตัวอย่างรายย่อย โควิดที่ผ่านมาเราปล่อยสินเชื่อรายย่อย 5.7 ล้านคน ถ้าเป็นปีปกติเราปล่อยแค่ 7-8 แสนรายเท่านั้น ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เข้ามาเรื่องหนี้เสียให้เราด้วย ทำให้คนที่ขาดรายได้ 2-3 หมื่นบาท ต่อชีวิต หรือพ่อค้าแม่ค้าก็ต่อวงจรการทำธุรกิจให้เขาได้”

ตั้งเป้าสร้างเครดิตการเงินใหม่ให้คนจน

ที่สำคัญ ที่เราภาคภูมิใจ คือ การดึงคนเข้าระบบ โดยใน 2 ปีนั้น เราดึงคนฐานรากเข้าระบบสินเชื่อได้ถึงกว่า 5.7 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่มีประวัติทางการเงินถึง 2.7 ล้านราย ตรงนี้ ถ้าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เขายังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ อาจจะมี 1-2 ล้านคน ที่จะถูกดึงเข้าสู่ระบบทันที หมายความว่า เขาก็จะสามารถไปขอกู้จากสถาบันการเงินอื่นได้ เพราะเขามีประวัติการเงินที่ดีแล้ว

นำดิจิทัลพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน

ปัจจุบันธนาคารออมสินมีโมบายแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า MyMo มีคนเข้ามาใช้บริการแล้ว 12 ล้านคน และ  12 ล้านคนนี้ ได้เข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์การเงินที่หลากหลาย เช่น การปล่อยสินเชื่อทำได้ 1.6 ล้านคน โดยไม่ต้องเข้าสาขา และปรับโครงสร้างหนี้ได้ประมาณ 6 แสนคน

“สองเรื่องนี้ ทำให้งานด้านดิจิทัลเราดีขึ้น แต่ต้องทำต่อ ปลายปีเชื่อว่า จะปล่อยสินเชื่อผ่านโมบาย โดยไม่ดูเรื่องของเงินเดือน แต่จะดูปัจจัยอื่น โดยให้เงินสินเชื่อไม่มากเพื่อควบคุมความเสี่ยงให้ได้ ถ้าทำได้ จะช่วยคนได้เยอะ”

แผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์การเงินใหม่

วิทัยเผยว่า ความตั้งใจที่จะเป็นธนาคารเพื่อสังคม ช่วยฐานรากและเอสเอ็มอีต่อไป ดังนั้น เราจะเพิ่มความลึกและความกว้างในการช่วยเหลือ แต่ว่า ตัวที่ประกาศออกไปจะขึ้นให้ได้ในไตรมาสสี่ คือ การตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำสินเชื่อที่ดิน โดยไม่ดูประวัติทางการเงิน แต่ดูเรื่องหลักประกันเป็นหลัก ที่ผ่านมา เราปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท ชื่อโปรดักส์ คือ มีที่มีเงิน

ทั้งนี้ โครงการนี้หมดไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา  ตอนนี้จะไปที่บริษัทลูก ซึ่งจะช่วยเอสเอ็มอีทำมีที่มีเงิน หลักๆ คือ จะทำสินเชื่อที่ดิน โดยไม่ตรวจเครดิต เงินสินเชื่อที่ให้ราคาจะต่ำกว่าหลักประกันนิดนึง หรือ 50% ของราคาประเมิน เพื่อให้มีสภาพคล่องเข้าธุรกิจ นอกจากนี้ ยังจะทำธุรกิจขายฝาก ถือเป็นการต่ออายุและขยายธุรกิจในอนาคต

“ธุรกิจใหม่ที่เรากำลังจะทำนี้ จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วย เพราะขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามดอกเบี้ยเกิน 15% แต่ชีวิตจริงจะอยู่ที่ 20-30% แต่เป็นหนี้นอกระบบ บางแห่งนายทุนก็ยึดโฉนด เราก็เข้าไปแก้ปัญหา เข้าไปตัดราคาให้เหลือ 7-9% เพื่อช่วยคน”

นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะให้บริษัทลูกดังกล่าวทำธุรกิจนอนแบงก์ เพื่อปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยในระบบอยู่ที่ 25% เราจะเข้าไปแข่งขันเพื่อลดราคาลงซัก 5% เหลือ 20% ก็จะช่วยดึงคนเข้าระบบด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม ฉะนั้น บริษัทใหม่ ก็จะทำสินเชื่อที่ดิน ขายฝาก และ สินเชื่อส่วนบุคคล

เดินหน้าดึงเงินฝากระยะยาว

ในปีนี้เราจะกลับมาทำเรื่องการออม ซึ่งจริงๆแล้ว เราเติบโตมาจากธนาคารเพื่อการออม แต่ช่วงโควิด คนเดือดร้อนเยอะ เราก็เบาเรื่องการออม เพราะคนไม่มีเงิน ตอนนี้สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย เราก็กลับมาทำเรื่องการออมใหม่ แต่ว่า เปลี่ยนการออมจากเน้นเด็ก มาเพิ่มการออมระยะยาว

“คือ เราเห็นว่า ในช่วงที่เกิดโควิด หน่วยงานรัฐที่ส่งเสริมการออมมาตลอด เพื่อเกษียณ แต่ถึงเวลาธุรกิจปิด คนไม่มีเงินเลย 1-2 เดือน เงินหมด แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมการออมระยะยาวไม่สำเร็จ”

สำหรับโปรดักส์เงินออมเพื่อสังคม ตัวแรกที่ออกไป คือ เงินฝาก 10 ปี ครั้งแรกออก 1.1 หมื่นล้านบาท ขายไม่ถึงครึ่งวันหมดเลย วิธีการก็ง่ายมาก คือ เราเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐวิสาหกิจระยะยาว 10 ปีในตลาดเก็บไว้ และเอาตัวนี้ไปปล่อยให้ประชาชนโดยไม่หักดอกเบี้ยเลย นอกจากนี้ ยังมีเงินฝาก 2 ปีครึ่ง เป็นเงินฝากระยะกลาง เป็นโปรดักส์เชิงสังคม ไม่ได้เอากำไร

มอง3ปัญหาท้าทายธุรกิจ

ที่จริงแล้วมีหลายเรื่อง แต่ชัดเจน คือ 1.ปัญหาการมาของโควิด ซึ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ลึกและรุนแรง คนตกงานเพิ่มมากเป็นล้าน และไม่กลับเข้าสู่ระบบแล้ว ฉะนั้น ปัญหาโครงสร้างเรื่องการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งที่ผ่านมา หนี้นอกระบบเพิ่ม 1.5 เท่าจากของเดิม ถ้าดูในภาพรวม ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจของแบงก์รัฐจริงๆ

2.เรื่องดิสรับชันต่างๆไม่ว่า ทรานฟอร์เมชัน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนตอนนนี้ อยู่บนโมบายหมด นำมาซึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ความชอบก็เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้เป็นยุดที่ไม่มีการคอย ซื้อของอาหารก็ต้องเดี๋ยวนี้ ทำให้ลักษณะการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่ปรับตัว ความสามารถแข่งขันระยะยาวยืนไม่อยู่ กำไรไปช่วยคนก็ลดลงไปด้วย

3.ธุรกิจจะต้องอยู่ในเทรนด์เรื่องความยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่มาทางนี้ ก็จะอยู่ลำบาก แต่บังเอิญก็เป็นทางของเรา เราเป็นธนาคารเพื่อสังคม เรามีกำไรพอสมควร แต่กำไรตอนนี้ สูงกว่าปี 62 ก่อนโควิด หนี้เสีย 2.7% บริหารจัดการได้

วางเป้าช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างประเทศ

ท้ายที่สุดวิทัยบอกว่า เป้าหมายที่ต้องการจากการเป็นธนาคารเพื่อสังคม คือ การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ปัญหาความยากจน บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและใช้เวลา