บลจ.พรินซิเพิล แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นจีน-หุ้นเอเชีย โตระยะยาว

บลจ.พรินซิเพิล แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นจีน-หุ้นเอเชีย  โตระยะยาว

บลจ.พรินซิเพิล จับทิศทางการลงทุนท่ามกลางความผันผวน ชูกลยุทธ์เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนและเอเชีย มองเศรษฐกิจแดนมังกรเติบโตเป็นเบอร์หนึ่งของโลกอีก 7 ปีข้างหน้า

นายศุภกร ตุลยธัญ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2022 ต้องจับตาการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หลังสถาบันการเงินนานาชาติ (IMF) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในหลายประเทศ

รวมถึงแรงกดดันของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด สูงสุดที่ระดับ 4.25% ในปีหน้า ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมอีก 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้

ดังนั้นทิศทางปี 2023 มองว่าเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวโดดเด่นกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยประเมินว่าจีนจะมีอัตราเติบโตของจีดีพีเฉลี่ย 4.87% ต่อปี ส่วนสหรัฐฯ จะมีอัตราเติบโต 1.5% ต่อปี ทำให้ในปี 2029 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตแซงหน้าสหรัฐฯ จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว มาจากการลงทุนด้านอุปทานการผลิตในระบบเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นอัตราการลงทุนที่ค่อนข้างสูงถึง 40% ต่อจีดีพี ซึ่งล่าสุดจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านหยวน ขณะที่กำลังซื้อของคนจีนยังขยายตัวได้ดีจากตัวเลขจีดีพีต่อหัวที่มีอัตราเร่งขึ้น

 

อีกทั้งการผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid ส่งผลให้เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทำให้ตลาดหุ้นจีนน่าสนใจยิ่งขึ้นและได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จึงเป็นโอกาสเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นจีนและเอเชีย เน้นบริษัทที่มีคุณภาพ กำไรแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ และปรับลดน้ำหนักหุ้นยุโรปและสหรัฐฯ เพราะยังเผชิญกับความผันผวนจากการปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการ 
     
บลจ.พรินซิเพิล แนะนำกองทุนที่เหมาะกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ดังนี้

1) “กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล มัลติ แอสเซท” (PRINCIPAL GMA) เน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพทั่วโลก บริหารพอร์ตเชิงรุก และมีความยืดหยุ่นในการปรับน้ำหนักลงทุน เพื่อรับมือตลาดที่ผันผวน

2) “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อินคัม อิควิตี้” (PRINCIPAL APDI) เน้นลงทุนหุ้นคุณภาพดีที่เติบโตสูง มีความสามารถทำกำไรที่ดี และมีการปรับเพิ่มสัดส่วนหุ้นจีนจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

3) “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้” (PRINCIPAL VNEQ) ลงทุนในหุ้นรายตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศ

4) “กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้” (PRINCIPAL GIF) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกประเภท Preferred Infrastructure เช่น ทางด่วน ไฟฟ้า รางรถไฟ ท่อส่งแก๊ส เป็นต้น ที่มีคู่แข่งน้อยราย มีสัญญารายได้ปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ อายุสินทรัพย์ยาวนาน และมีความเสี่ยงต่อกฎระเบียบและการเมืองต่ำ ทำให้รายได้และกำไรสม่ำเสมอ ถือเป็นหลุมหลบภัยของการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน 


นายอะนะ แพร่พิพัฒน์มงคล Head of Investment Strategy, บลจ.พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในหัวข้อการเลือกสินทรัพย์ลงทุน เมื่อเงินเฟ้อสูงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างว่า การที่เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้นในช่วงปี 2021-2022 เกิดจาก  1) การชะลอตัวของการผลิต ทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ 2) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาซื้อสินค้ามากกว่าออกไปใช้บริการ 3) นโยบายการคลังและการเงินขนาดใหญ่ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ 4) ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น และ 5) วิกฤติ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารแพงขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจใช้เวลานานพอสมควรหรือจะต้องขึ้นในอัตราที่สูงมาก เงินเฟ้อจึงจะกลับสู่ระดับปกติ อีกทั้งยังมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อให้สูงขึ้นในอนาตต เช่น ปัญหาการผลิตสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-ไต้หวัน, อำนาจการตั้งราคาสินค้าจากบริษัทขนาดใหญ่ และการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทำให้ต้นทุนราคาสินค้ากลุ่มโลหะสูงขึ้น 


ดังนั้น จึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความแข็งแกร่ง ผันผวนต่ำ หรือสามารถปรับราคาได้ตามเงินเฟ้อ เช่น หุ้นขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐาน TIPS (พันธบัตรสหรัฐฯ ที่ราคามีความสัมพันธ์กับเงินเฟ้อ) และสินค้าโภคภัณฑ์

โดยแนะนำ “กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล แบรนด์” (PRINCIPAL GBRAND) ที่เน้นลงทุนหุ้นแบรนด์คุณภาพสูงทั่วโลก และ “กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้” (PRINCIPAL GIF) ซึ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความแข็งแกร่งและผูกขาด 

นายชาตรี มีชัยเจริญยิ่ง หัวหน้าฝ่ายตราสารทุน, บลจ.พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในหัวข้ออัพเดทหุ้นเวียดนามและกลยุทธ์การลงทุนว่า การลงทุนในเวียดนามมีความน่าสนใจ กำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมาเติบโตเกินระดับ Pre-COVID ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องจากระดับการ Leverage ของทั้งผู้ซื้อและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น คนเวียดนามยังนิยมซื้อที่อยู่อาศัยด้วยเงินสดและต้องวางเงินดาวน์สูง ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้ก่อหนี้มากเกินไป โดยมี D/E หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเฉลี่ยเพียง 0.4 เท่า ในส่วนของราคาหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง เกิดจากการที่ตลาดรอความชัดเจนของภาครัฐในการออกมาตรการกำกับดูแลการออกหุ้นกู้เอกชน (Decree 153) ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้มองว่าตลาดหุ้นเวียดนามผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากการปรับฐานของ Valuation ลงมาอยู่ในราคาที่ถูกมาก (~2SD) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในระยะยาว จึงแนะนำให้ลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อตลาดหุ้นเวียดนามได้ โดย 


บลจ.พรินซิเพิล ใช้กลยุทธ์ Barbell บาลานซ์ระหว่างหุ้น Growth และ Defensive เน้นกลุ่มธุรกิจธนาคาร ค้าปลีก และเทคโนโลยี พร้อมแนะนำกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอย่าง “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้” (PRINCIPAL VNEQ) 

นางสาวซีรีน เฉิง Senior Portfolio Manager, Principal Asset Management (S) Pte Ltd. กล่าวในหัวข้อจับทิศทางการลงทุนหุ้นเอเชียในระยะยาวท่ามกลางตลาดผันผวนว่า ในปี 2022 จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชียที่ดีกว่ายุโรปและสหรัฐฯ โดยปัจจุบันเริ่มเห็นการปรับเพิ่มประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น จึงคาดการณ์ว่าปี 2023 อัตราเติบโตของกำไรตลาดหุ้นในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น (Asia Ex Japan) จะชนะทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น

และมองว่าการปรับฐานของตลาดหุ้น Asia Ex Japan รอบนี้ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดและเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว หลังจากดัชนีลดลงแล้ว 29% และปรับฐานมาแล้วถึง 525 วัน ซึ่งนานกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่มีระยะเวลาปรับฐาน 420 วัน โดยมีตัวแปรคือระยะเวลาการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของ Fed และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นแบบ Soft Landing (ค่อยเป็นค่อยไป) หรือ Hard Landing (ชะลอตัวรุนแรง) โดยเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของการปรับฐาน จะเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน


ปัจจุบัน Principal Asset Management มีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนหุ้นใน Asia Ex Japan เนื่องจากราคายังไม่แพง โดยเลือกหุ้นที่เห็นการเติบโตชัดเจน คาดการณ์กำไร มีเงินสดจำนวนมาก จ่ายเงินปันผล สามารถเอาชนะเงินเฟ้อและปรับขึ้นราคาสินค้าได้ โดยสนใจตลาดหุ้นในเอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานทางเลือก โรงพยาบาล และอุตสาหกรรมที่หันมาใช้ระบบ Automation

จึงแนะนำ “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อินคัม อิควิตี้” (PRINCIPAL APDI) ที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่เติบโตและมีผลกำไรชัดเจน ให้ผลตอบแทนและติดลบน้อยกว่าดัชนีอ้างอิง

นายราช สิงห์ Portfolio Manager, Principal Global Asset Allocation กล่าวในหัวข้อการจัดสรรการลงทุนและกระจายความเสี่ยงว่า การลงทุนแบบ Multi Asset Approach ที่เน้นกระจายการลงทุนหลากหลายสินทรัพย์เพื่อผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่เหมาะสม พิสูจน์แล้วว่าให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สามารถเอาชนะตลาดได้ โดยหากลงทุนตั้งแต่ปี 2000 - 2020 จะได้รับผลตอบแทน 206% สูงกว่าดัชนี S&P500 ที่ให้ผลตอบแทน 197% โดยจุดเด่นของการลงทุนรูปแบบดังกล่าวคือ กระจายความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่ดี ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะหุ้นหรือตราสารหนี้ ปรับสัดส่วนการลงทุนแต่ละทรัพย์สินให้เหมาะกับสถานการณ์ จึงมีความยืดหยุ่นและผลตอบแทนในระยะยาวไม่ขึ้นลงตามตลาดมากจนเกินไป 


ทั้งนี้ แนวทางการลงทุนแบบ Multi Asset Approach ของ Principal จะมีด้วยกัน 3 ขั้นตอนคือ 1.Strategic asset allocation ศึกษาบทวิเคราะห์เชิงลึกและทำ research ของแต่ละสินทรัพย์ เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมในระยะยาว 2. Tactical asset Allocation ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามสภาวะตลาดในขณะนั้นๆ 3. Active implementation คัดสรร ETFs หรือกองทุนรวมที่เหมาะสมในสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน ซึ่งแนวทางการลงทุนดังกล่าวถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดการลงทุนในช่วงนี้อย่างมาก โดย “กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล มัลติ แอสเสท ฟันด์” (PRINCIPAL GMA) เป็นกองทุนที่มีกระบวนการลงทุนตามแนวคิดที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยมีเป้าหมายการลงทุนผสมผสาน 


ทั้งมุ่งหวังมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในระยะยาว (capital appreciation) และสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ (Income) กองทุนนี้สามารถลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือก เช่น REITs โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พอร์ตการลงทุนของกองทุนเปิด PRINCIPAL GMA ได้ลดน้ำหนักลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) ตราสารหนี้ระยะยาว และ REIT พร้อมทั้งได้เพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเฉพาะหุ้นจีน เนื่องจากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลและ Valuation ที่น่าสนใจ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเป็นกลุ่ม Defensive รายได้ไม่แปรผันตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งเหมาะสมในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว