‘กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ’ ปั้นชิค รีพับบลิคด้วยPassion สู่ผู้นำโฮมแฟชั่นสโตร์
ถอดสูตรความสำเร็จฉบับซีอีโอ ของ “กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ ” ผู้ปลุกปั้นชิค รีพับบลิค ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง “ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์” ในแบบฉบับที่แตกต่างจนสำเร็จ และเป็นรู้จักในระดับประเทศ และต่างประเทศด้วย Passion สู่ผู้นำ‘โฮมแฟชั่นสโตร์’
“กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) หรือ ชิค รีพับบลิค สมญานาม “เจ้าพ่อ” วงการเฟอร์นิเจอร์ สำเร็จภารกิจสำคัญนำพาองค์กรแห่งนี้ติดป้าย “มหาชน” นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา
ด้วยประสบการณ์ในแวดวงเฟอร์นิเจอร์มากว่า 30 ปี มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งและส่งออกสินค้าไปอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศ เป็นจุดตั้งต้นให้เกิดความสนใจและศึกษาธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อย่างจริงจัง ก่อนเริ่มปลุกปั้น “ชิค รีพับบลิค” ที่มาพร้อมกับ Passion ในสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ และในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยมองว่าลูกค้าคนไทยมีทางเลือกน้อย เฟอร์นิเจอร์และแบรนด์ส่วนใหญ่มีแนวทางคล้ายกัน ฉะนั้นต้องสร้างจุดขายที่แตกต่าง!
จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเป็นศูนย์รวมจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้านในรูปแบบ “สแตนด์อโลน” ขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ “ชิค รีพับบลิค” เพื่อดึงให้ลูกค้ามาในจุดเดียวเป็น "วัน-สต๊อบช้อปปิ้ง" ที่มีสินค้าทุกอย่างครบวงจร บนที่ดินติดถนนใหญ่ และโลเคชั่นต้องเป็นไพร์มแอร์เรียเท่านั้น
“แทนที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่แค่ 1,000-2,000 ตร.ม. กลายเป็นสแตนด์อโลนที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 8,000-12,000 ตร.ม.ทำให้ลูกค้าที่เข้ามามีทางเลือกมากขึ้น เพราะสามารถมีสินค้าที่ครบวงจร เป็นจุดขายอย่างหนึ่ง”
ที่สำคัญสินค้าต้องแตกต่าง “เมื่อเฟอร์นิเจอร์มีความแตกต่าง ลูกค้าก็มีความรู้สึกว่า มีที่นี่ที่เดี่ยวไม่ต้องไปเปรียบเทียบ เพราะเราครีเอทดีไซน์ทุกอย่างด้วยความเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้มีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจนี้ได้ดี เพราะถ้าเราทำอะไรเหมือนคนอื่น ไม่มีเหตุผลที่ลูกค้าจะมาหาเรา ฉะนั้นต้องแตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”
ขณะเดียวกัน “สโตร์คอนเซ็ปต์” ในแต่ละพื้นที่ของ ชิค รีพับบลิค แต่ละสาขาต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าที่เข้ามาแล้วรู้สึกอยากแต่งบ้าน กิจจา มองว่า pain point ของร้านเฟอร์นิเจอร์คือลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้านเฟอร์นิเจอร์หรือร้านตกแต่งบ้าน
เพราะเขารู้สึกว่า มาทุกครั้งทุกอย่างเหมือนเดิม โซฟาสีเดิม ตำแหน่งเดิม จึงแก้ปัญหาด้วยการออกคลเลคชันใหม่ทุก 3-4 เดือนเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาแล้วเห็นว่า มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาตามเทรนด์ พร้อมจัดสินค้าในร้านให้ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้คนที่เข้ามารู้สึกว่ามีของแปลกใหม่ตลอดเวลา เข้ามาได้เรื่อยๆ
“วิธีการง่ายๆ ในการทำตลาดคือทำอย่างไรให้ลูกค้าเกิดกิเลส หรืออารมณ์ซื้อ เกิดความอยากได้ขึ้นมา ประกอบกับลูกค้าชิค รีพับบลิค มีกำลังซื้อระดับบี-เอ ขึ้นไป ถ้าเห็นแล้วชอบก็พร้อมซื้อ”
คอนเซ็ปต์ของชิค รีพับบลิค เป็น The First Home Fashion Store in Thailand ด้วยการสร้างตลาดเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นแฟชั่น ทำให้คนรู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ในบ้านสามารถ สะท้อนถึงรสนิยม ความชอบ ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งนำเสนอ เทรนด์ใหม่ ๆทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีทางเลือก แทนที่ไปเล่นสงครามราคา
โควิด-19 เปลี่ยนแนวคิดธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ห้วง 2 ปีวิกฤติโควิด-19 ชิค รีพับบลิค ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่น โดยเฉพาะปี 2563 เกิดโควิดครั้งแรกตามมาตรการภาครัฐสาขาของ ชิค รีพับบลิค ถูกปิดทั้ง 5 แห่ง หมายความว่า “ไม่มีรายได้" ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลา 60 วัน!
กิจจา ปรับองค์กร โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้วมาเริ่มขยายช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังทำให้มีรายได้ส่วนหนึ่งจากออนไลน์มาชดเชย แต่ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้หมด ต่อมาปี 2564 เผชิญโควิดระลอก 2 ต้องปิดสาขาอีก 40 วัน ตามมาตรการรัฐ แต่โชคดีที่ช่องทางออนไลน์แข็งแรงขึ้น
แต่ปีนั้นรายได้หลักอีกช่องทางหนึ่ง คือ รายได้จากงานโครงการที่รับผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับโครงการคอนโดมิเนียม ถือเป็นรายได้อันดับต้นๆ ของบริษัทสะดุด! เพราะไซด์งานก่อสร้างถูกปิดเป็นระยะเวลา 1 เดือน ทำให้ไม่มีรายได้ในช่วงนั้นเมื่อเทียบกับปี 2564 จึงได้รับผลกระทบหนักกว่าปี 2563
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ ชิค รีพับบลิค ปรับโมเดลธุรกิจด้วยการขยายและแตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างรายได้ หนึ่งในนั้นคือ โมเดลธุรกิจ O2O หรือ Online to Offline "มุ่งผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์" และ "การนำคุณภาพของออฟไลน์มาช่วยยกระดับออนไลน์”
กิจจา ยอมรับว่า ออนไลน์เป็นเทรนด์ใหม่และเป็นช่องทางที่สำคัญ O2O Marketing ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจ Online to Offline ผสมผสานระหว่างข้อดีของการขายของบนโลกออนไลน์ และนำจุดแข็งการขายแบบออฟไลน์มาช่วยยกระดับการบริการบนโลกออนไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากยิ่งขึ้น
เพื่อให้ลูกค้าได้ของที่ถูกใจผ่านช่องทางออนไลน์ หรือจะมาช่องทางออฟไลน์ทำให้เกิดความเชื่อมโยงออนไลน์ออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ ลูกค้าสั่งสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจออนไลน์เติบโต 100% เพราะพฤติกรรมลูกค้าและลูกค้าเองมีความเชื่อมั่นสินค้าของ ชิค รีพับบลิค เพราะไม่ได้ขายแค่ออนไลน์อย่างเดียว แต่มีออฟไลน์ มีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือเป็นส่วนเสริมให้กันและกัน
สร้างโอกาสใหม่ต่อยอดธุรกิจ
กิจจา กล่าวว่า วิกฤติ 2 ปีที่ผ่านมายังทำให้เห็นว่ามี “โอกาส” ในการเสริมรายได้ธุรกิจ โดยปีที่ผ่านเปิด "Chic Design Studio" ให้บริการออกแบบและตกแต่ง ซึ่งมีลูกค้าคอนโดมิเนียม บ้าน ร้านอาหาร เข้ามาใช้บริการ และอีกธุรกิจ "Chic Rent In Style" เป็นธุรกิจเช่าของแต่งบ้านสำหรับบริษัทจัดอีเวนท์ ทำให้เกิดการบอกต่อปากต่อปาก
“เป็นการแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกครั้งและเลือกแบบได้หลากหลาย ไม่ต้องเก็บดูแลเพราะทุกอย่างมีต้นทุน โดยเปิดให้เช่าแบบครบวงจร มีขนส่ง ติดตั้ง งานเสร็จไปเก็บ หรือแม้แต่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ทำบ้านตัวอย่างอยากซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่มีความแตกต่างก็มาเช่า รวมถึงโบรกเกอร์คอนโดมิเนียมเช่าแต่งเพื่อถ่ายรูปขายคอนโดมิเนียม หรือบ้า ก็เข้ามาใช้บริการ”
เชื่อว่าอนาคต Chic Rent In Style จะเหมือนในต่างประเทศ ไม่ว่าอเมริกา ยุโรป ที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งชิคเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่แตกธุรกิจนี้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า คาดว่าจะเติบโต 200-300% จากเดิมมีคนมาเช่าเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นดีไซน์เนอร์ งานอีเวนต์ต่างๆ ที่บอกต่อกันปากต่อปาก
ล่าสุด การนำ ชิค รีพับบลิค เข้าตลาดฯ แผนการระดมทุนส่วนหนึ่งจะนำเงินมาปรับปรุงสโตร์ 2 สาขา จาก 5 สาขา ได้แก่ ราชพฤกษ์ และ บางนา โดยสาขาราชพฤกษ์จะมีร้านอาหารใหม่ๆ ซูเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาให้บริการ จึงต้องขยายพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันที่บางนามีร้านอาหารใหม่เข้ามาเสริม
“ช่วงหลังร้านอาหารสนใจเข้ามาเช่าพื้นที่มากขึ้น หากเราปรับพื้นที่ มีรีเทลมากขึ้น ค่าเช่าเพิ่มขึ้น และร้านที่เลือกเข้ามาจะมีแบรนด์ ทั้งหมดจะช่วยดึงลูกค้าให้เราทำให้คนเข้ามามากขึ้น รู้จักเรามากขึ้น”
และอีกหนึ่งแหล่งรายได้ ของ ชิค รีพับบลิค คือ การลงทุนขยายสาขาใน “กัมพูชา” เมื่อ 3 ปีที่แล้วถือหุ้น 100% เปิดบริการในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เมืองพนมเปญ เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่ส่งออก 100% จากไทยไปกัมพูชา ได้เรียนรู้การทำธุรกิจในต่างประเทศ อนาคตหากประเทศไหนที่มีโอกาสทางธุรกิจพร้อมที่เข้าไปลงทุนขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น
“จากประสบการณ์การทำธุรกิจมากว่า 30 ปี สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจคือ ต้องทำด้วยความรักอย่างมีความสุข มองให้ไกล สร้างฐานให้ดีและบริษัทต้องมีความแข็งแรงยั่งยืน”กิจจา กล่าวทิ้งท้าย