เปิดศึก ! บีอีเอ็ม – อิตาเลียนไทย 1 ส.ค.นี้ ประเดิมเปิดซองชี้ชะตา
รฟม.ลุยเปิดซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1 ส.ค.นี้ บีอีเอ็ม – ไอทีดี พร้อมเปิดศึกงัดจุดแข็งประสบการณ์งานอุโมงค์และเทคโนโลยีเดินรถไฟฟ้า
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเดินหน้าขั้นตอนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายหลังเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา และพบว่ามีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่
1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
2. ITD Group
โดยขั้นตอนต่อไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะพิจารณาข้อเสนอ และดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจะเปิดซองข้อเสนอเอกชนในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และมีเป้าหมายลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนภายในปี 2565
สำหรับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มายื่นข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในนาม BEM โดยจะมอบหมายภาระหน้าที่ก่อสร้างงานโยธาให้กับบริษัทในเครืออย่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
วิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวถึงความพร้อมของกลุ่ม BEM ต่อการประมูลงานครั้งนี้ โดยระบุว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจต่อการยื่นข้อเสนอประมูลงานในครั้งนี้ ด้วยประสบการณ์ความรู้ในการทำงาน ในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่สะสมมาเป็นเวลานาน จากที่ผ่านมามีผลงานการพิสูจน์แล้วว่า BEM ดำเนินงานได้ดี มีการบริหารรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนของสายสีน้ำเงิน สีม่วง และกำลังก่อสร้างสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี
“เรามีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของบุคลากร และงบประมาณในการลงทุน หากว่า รฟม.จะลงนามสัญญาภายในปีนี้และเริ่มงานก่อสร้างเลย เราก็พร้อมที่จะดำเนินการ” นายวิทูรย์ กล่าว
ขณะที่กรณีหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการในครั้งนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากการประมูลครั้งก่อนและพบว่าเคร่งครัดเรื่องของประสบการณ์งานก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมถึงงานอุโมงค์นั้น บริษัทฯ มองว่าเรื่องนี้มีความมั่นใจในประสบการณ์ของ ช.การช่างอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมามีประสบการณ์ก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และมั่นใจว่า ช.การช่างจะสามารถบริหารจัดการงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
ด้าน ITD Group การยื่นข้อเสนอครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ ITD เปิดหน้าจับมือกับเอกชนต่างชาติเพื่อเข้าชิงงานก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากการประกวดราคาในรอบแรกนั้น ITD เข้าซื้อซองเสนอแต่ไม่ได้ร่วมวงประกวดราคา ส่งผลให้มีเพียงสองกลุ่มยักษ์ใหญ่ชิงงานในครั้งแรก คือ กลุ่ม BEM และกลุ่ม BTS
ประคิน อรุโณทอง รองประธานบริหาร สายงานธุรกิจก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า การยื่นซองข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมพันธมิตรกับ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีการหารือมาเป็นเวลานานแล้ว โดยบริษัทฯ เล็งเห็นถึงจุดแข็งของเกาหลีใต้ในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์เป็นตัวเลือกให้กับการประกวดราคาครั้งนี้
ส่วนกรณีที่ รฟม.ตั้งหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนด้านเทคนิคที่มีข้อกำหนดค่อนข้างสูงแตกต่างไปจากการคัดเลือกในครั้งแรกนั้น ส่วนตัวมองว่า ITD มีประสบการณ์ก่อสร้างด้านงานอุโมงค์รถไฟฟ้าอยู่แล้ว ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีส้ม จึงไม่น่าจะมีประเด็นอะไรที่กังวล โดยเฉพาะประสบการณ์ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี เป็นการยืนยันได้ว่าบริษัทฯ มีความพร้อม และการมาประมูลครั้งนี้จะสู้เต็มที่
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท และค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท
โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)