“อู่ตะเภา” ผนึก “เอไอเอส” ยกชั้น “สมาร์ท เทอร์มินอล”
“เอไอเอส” ขยายความร่วมมือ “กองทัพเรือ” ชูเทคโนโลยี “5จี-หุ่นยนต์เอไอ” ยกระดับการให้บริการ“สมาร์ท แอร์พอร์ต เทอร์มินอล” หนุน“สนามบินอู่ตะเภา”ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” พร้อมต่อยอดนวัตกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ขนส่ง คมนาคม หนุนเศรษฐกิจประเทศ
“สนามบินอู่ตะเภา” อยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาเพื่อผลักดันเมืองการบินภาคตะวันออก โดยจะพัฒนาเป็นสนามบินอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมากใช้มากขึ้นทั้ง AI หรือ ระบบอัตโนมัติ
ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า AIS ขยายความร่วมมือกับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนา Smart Airport Terminal เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ด้วยนวัตกรรมใหม่ ช่วยเสริมการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย ในช่วงก่อนการสร้างและเปิดใช้อาคาร 3 ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ลำดับที่ 3 ของกรุงเทพฯ ในอนาคต
ทั้งนี้ สนามบินอู่ตะเภาจะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแผน เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้นโยบาย Thailand 4.0
อย่างไรก็ตาม จากการที่ AIS เปิดตัวเทคโนโลยี 5G ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงได้วางแผนว่า 5G จะไม่ใช้แค่การให้บริการด้านเสียงหรือข้อมูล แต่จะต้องเป็นยูสเคสภาคอุตสาหกรรมด้วย
“เรามีนโยบายต้องการให้ 5G ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยยูสเคสทางบกจะบริการกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ สมาร์ทซิตี้ การแพทย์ และเพื่อทางการศึกษา เป็นต้น ส่วนยูสเคสทางน้ำ คือ ท่าเรือ โดย AIS ใช้ 5G กับระบบเครนยกตู้คอนเทนเนอร์สร้างความเสถียรลดอัตราการเกิดอันตราย เมื่อกดปุ่มระบบจะหยุดทันที จะไม่เหมือนเทคโนโลยีสมัยเก่าที่ดีเลย์”
สำหรับสนามบินอู่ตะเภาเป็นยูสเคสทางอากาศ ยอมรับว่ายูสเคสนี้ยากสุด เพราะมีระบบเซฟตี้ กฎเกณฑ์ และการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่เข้มงวด ดังนั้น จึงร่วมมือกับกองทัพเรือมาแล้ว 2 ปี อาทิ ใช้ 5G บริหารจัดการอาคารผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยี Video Analytics ผ่านเครือข่ายกล้องวงจรปิดทั่วอาคาร วิเคราะห์ประมวลผลภาพปัญญาประดิษฐ์ และ Big Data ประยุกต์ใช้เป็นระบบตรวจจับและจดจำใบหน้าบุคคล (Face Recognition) เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีระบบแสดงข้อมูลความหนาแน่นของผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบรักษาความปลอดภัย การบริการของการภายในอาคาร พร้อมนำหุ่นยนต์อัจฉริยะ AI (Artificial Intelligence) มาตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายในการป้องกันโควิด-19 พร้อมพัฒนาแอพพลิเคชั่น Thailand Smart Airport บริการข้อมูลด้านการบิน ช่วยให้ผู้โดยสารบริหารจัดการเวลาได้ เมื่อต้องขึ้นเครื่องจะมีการแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่น
“2 ปีที่ผ่านมาคือโควิด-19 เที่ยวบินถูกระงับ ซึ่งตอนนี้กำลังจะกลับมาคึกคัก เราจึงได้ทำ MOU พัฒนายูสเคสต่ออีก 3 ปี ถือเป็นช่วงเวลาตามกำหนดที่เทอร์มินอลแห่งใหม่จะเปิดบริการ ดังนั้น ระหว่างนี้จะร่วมหายูสเคสใหม่เพื่อบริการในอนาคต ซึ่งได้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเข้าไปบริการ โดยอัพเกรดเป็นไวไฟ 6 พร้อมกับปล่อยเทคโนโลยี 5 จี ในเทอร์มินอล”
ทั้งนี้ ปัจจุบันอู่ตะเภายังให้บริการผู้โดยสารเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่บินมาลงอู่ตะเภาเพื่อมาท่องเที่ยวที่พัทยา โดยในอนาคตเมื่อรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อถึงกันหมด จะมีกลุ่มผู้โดยสารทั่วไปเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ อีกกลุ่มผู้ใช้งานคือคนที่อยู่ใน EEC มีจุดเด่น คือ การบินตรงไปเชียงใหม่ และภูเก็ตได้ แต่จุดเด่นที่จะดึงนักท่องเที่ยวมาที่สนามบินอู่ตะเภา คือ การทำให้เป็นสนามบินที่ทันสมัย จะช่วยส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขนส่ง คมนาคม ให้แข็งแกร่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
“การร่วมมือนี้ AIS ทำให้ฟรี เพราะมองว่าเป็นการร่วมศึกษายูสเคส 5จี และสิ่งที่เราได้ทางอ้อมคือ 1.ได้ความรู้ ทดสอบระบบ 2.ต่อยอดธุรกิจโดยการขายซิมกับนักท่องเที่ยว อนาคตอุตสาหกรรมการบินจะแข่งขันกันด้านนวัตกรรม ความเป็น Smart Airport คือ คิวต้องสั้น บริหารจัดการต้นทุนที่ดี ดังนั้น 5G และ AI จะช่วยพยากรณ์ความหนาแน่นของผู้โดยสาร ช่วยบริหารบุคลากรอย่างคุ้มค่า"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 AIS ได้ลงนามกับ พล.ร.อ.วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในการ MOU ความร่วมมือต่อเนื่องในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและเสริมขีดความสามารถของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสู่ Smart Terminal เต็มรูปแบบ