นายจ้างชี้ปรับค่าแรงต้นปีหน้า 3-4% ‘เหมาะสม’

นายจ้างชี้ปรับค่าแรงต้นปีหน้า 3-4% ‘เหมาะสม’

ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีส่วนกลาง เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้มีผลบังคับเดือนตุลาคม 2565 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ระบุ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม คาดว่าถ้าปรับในระดับ 3-4% สามารถปรับขึ้นได้และมีความเป็นไปได้ในระดับที่ไม่สูงมากนัก หากขึ้นระดับสูงผู้ประกอบการจะเดือดร้อน เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ต่อได้ และคนที่เดือดร้อนก็คือลูกจ้าง 

ขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีกำลังหารือและพิจารณาถึงตัวเลขที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันนายจ้างมีปัญหาพอสมควร และพยายามปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ

ตัวเลขที่จะออกมาต้องเหมาะสม และมองว่าอัตราค่าแรงงานที่เตรียมปรับขึ้น 5-8% เป็นกรอบอัตราที่ค่อนข้างสูง ถ้ามองกลางๆ 3-5% ค่อนข้างเหมาะสม อีกทั้งไม่อยากให้มองเรื่องค่าแรงเป็นหลัก อยากให้มองเรื่องการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับการทำงานมากกว่า

การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้กำหนดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนตุลาคมนี้ มองว่ายังปรับขึ้นได้ยากเนื่องจากประเมินด้วยขั้นตอนกระบวนการทำงานของไตรภาคีจนถึงการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และกว่าจะมีมติออกมาอาจต้องใช้ระยะเวลาและอาจไม่ทันในการประกาศใช้ อีกทั้งได้คำนึงถึงภาคธุรกิจที่ได้การกำหนดงบประมาณไว้สำหรับบริหารจัดการในธุรกิจไว้ก่อนแล้ว ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะมีการปรับขึ้นจะเป็นผลกระทบที่ทำให้ภาพธุรกิจหยุดชะงักในช่วงเวลาดังกล่าว โดยคาดว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปี 2566 ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเวลาที่มีความเหมาะสม

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล จึงไม่อยากให้นำเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากจะกระทบต่อการทำธุรกิจ