sacit โชว์เคส จัด 2 งานใหญ่ “อัตลักษณ์แห่งสยาม Crafts Bangkok”
sacit ประกาศความพร้อมจัด 2 งานใหญ่แห่งปี “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13” และ "Crafts Bangkok 2022" โชว์เคสศิลปหัตถกรรมครูศิลป์แผ่นดิน และคราฟต์ร่วมสมัยฝีมือคนไทยใหญ่ที่สุดในประเทศ 8-11 ก.ย. คาดเงินสะพัด 140 ล้านบาท พร้อมยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่สากล
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” เปิดเผยว่า sacit ได้เตรียมจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 งานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปีรวม 2 งานใหญ่ไว้ในงานเดียว เพื่อเป็นการประกาศความพร้อมกลับมาเปิดประเทศ และผลักดันผู้ประกอบการไทยสู่การค้าในเวทีโลก โดยงานครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ก.ย. 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “The power of Traditional and Modern Cultural Blend : ผสานภูมิปัญญาอย่างร่วมสมัย ส่งต่อฝีมือคนไทยสู่สากล” ซึ่ง sacit ยังคงคอนเซ็ปต์สืบสานองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้สูญหายไป ผสมผสานไปกับการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ทั่วถิ่นไทย และสินค้างานคราฟต์ฝีมือคนไทย ที่สร้างสรรค์อย่างร่วมสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ นับหมื่นรายการ กว่า 650 ร้านค้า
นอกจากนี้ ยังมีโซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 ส.ค. 2565 และส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงการสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตกรรม และทายาทช่างศิลปหัตกรรม ประจำปี 2565 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้าชมได้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่มาร่วมอนุรักษ์และสืบสานงานช่างฝีมือเหล่านี้
อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย sacit Lucky Box และโปรโมชั่นลุ้นรับของรางวัลต่างๆ มากมาย, มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินที่จะมาสร้างสีสันภายในงาน อาทิ แว่นใหญ่-มน, เบล วริศรา, ป๊อป ปองกูล, เอิ๊ต ภัทรวี รวมถึงกิจกรรม Work shop Share Your Crafts ให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้ DIY และแชร์ความสุขในทุกๆ วันอีกด้วย
นายพรพล กล่าวว่า การจัดงานหัตถกรรมและคราฟต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปีครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการประกาศความพร้อมของผู้ประกอบการไทย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงกระจุกตัวอยู่ในประเทศเท่านั้น ด้วยศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้จากนโยบายการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติทยอยเข้าไทยเพิ่มขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมของการเปิดตลาดการค้างานหัตถกรรมและคราฟต์ไทยสู่สากล
“ภารกิจสำคัญของ sacit ยังมีส่วนการส่งเสริม ซึ่งปีนี้เรามีเป้าหมายจะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าหัตถกรรมและงานคราฟต์มากฝีมือไปเปิดตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น ผ่านการจัด Business Matching จาก Buyer ทั้งไทยและต่างประเทศ สภาหอการค้าต่างประเทศ รวมไปถึงกลุ่ม Influencer ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์และแนวคิด รวมทั้งปรึกษาการขยายช่องทางจัดจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบตลาดออนไลน์ต่างๆ อีกด้วย”
ทั้งนี้ sacit คาดหวังว่าการจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ย. 2565 จะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย สามารถสร้างเงินสะพัดภายในงานกว่า 140 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันรายได้จากการจัดจำหน่ายงานหัตถกรรมและคราฟต์โดย พร้อมต่อยอดความสำเร็จ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้มากกว่าปี 2564 ที่สร้างยอดรายได้ราว 170 ล้านบาท จากการออกงานแฟร์ต่างๆ รวมถึงการจัดจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม
สำหรับงานแถลงข่าวได้จัดแสดงไฮไลต์บางส่วนที่จะนำมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน อาทิ ผอบแกะลายเครื่องปั้นดินเผาลงลายทอง เผยโฉมครั้งแรกในงานกับคอลเลคชั่น “ก้างปลาลงลายทอง 12 ราศี” ซึ่งเป็นลายโบราณกว่า 200 ปี ที่ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานร่วม 5 เดือน จากครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2565, สร้อยโชคเกอร์ Signature Collection เครื่องประดับเซรามิค เขียนลายเบญจรงค์ร่วมสมัย ผสมผสานวัสดุทองเหลือง เขียนลายดอกเดซี่ หรือ ลายจักรี ที่มีต้นกำเนิดจากสมัยรัชกาลที่ 5 จาก Ceraphon Jewelry เป็นต้น