2014:ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เมื่อ 8 ปีที่แล้ว คนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนให้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ได้มีทั้งการทำแผนปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ได้รายงานความคืบหน้าล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ดังนี้
ความก้าวหน้าตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 23 ประเด็นแบ่งเป็นเป้าหมายระดับประเด็น 37 เป้าหมาย (และเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยอีก 140 เป้าหมาย)
ในส่วนของเป้าหมายระดับประเด็น 37 ประเด็นนั้น สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่ามี
- 7 ประเด็นที่บรรลุตามเป้าหมาย
- 15 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย
- 4 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง
- 11 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ
ที่น่าสนใจที่สุดคือส่วนของประเด็นเป้าหมาย 7 ประเด็นที่บรรลุตามเป้าหมาย และ 11 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ ซึ่งมีดังนี้
7 ประเด็นที่บรรลุตามเป้าหมาย
- ความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น
- การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดได้รับการยกระดับ
- คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและมีความเป็นอยู่ดีเพิ่มขึ้น
- ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเพิ่มขึ้น
- สภาพแวดล้อมของประเทศไทยมีคุณภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืน
- ภาครัฐมีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพด้วยการนำนวัตกรรม
11 ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ
- ประชาชาติมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับเพิ่มเติม
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น
- การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในสาขาอุตสาหกรรมและบริการ
- ผลิตภาพ การผลิตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพิ่มขึ้น
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น
- ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ลดลง
- คนไทยมีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น มีทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 สามารถในการแก้ปัญหาปรับตัวสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น มีนิสัยไฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
- ผลิตภาพของน้ำทั้งระบบเพิ่มขึ้นในการใช้น้ำอย่างประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำ
- ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- ความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
อ่านดูแล้วก็จะเห็นว่าประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤตินั้นล้วนแล้วแต่จะเป็นประเด็นที่สำคัญๆ โดยเฉพาะในส่วนของศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทยในปัจจุบันและอนาคต
เช่น การขยายตัวในสาขาหลักของเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและผลิตภาพของน้ำ เป็นต้น
ผมพบข้อมูลทางเศรษฐกิจอีกชุดหนึ่งที่ยืนยันว่าประเทศไทยกำลังจะถูกทิ้งห่างโดยประเทศคู่แข่ง กล่าวคือตัวเลขการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี (Gross Fixed Capital Formation as a percent of GDP) ของไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
คือ 2014-2022 (ตัวเลขล่าสุด) นั้น ประเทศไทยลงทุนคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 23.3% ของจีดีพี ในขณะที่ในช่วงเดียวกันประเทศรายได้ปานกลางอื่นๆ ลงทุนคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 32.6% ของจีดีพี (ที่มา: ธนาคารโลก)
นอกจากนั้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ของไทยก็ปรับลดลงอย่างมากในช่วง 2014-2021 เมื่อเทียบกับช่วง 2010-2013 (เท่าที่มีข้อมูลจากอาเซียน) ซึ่งผมสรุปในตารางข้างล่าง
FDI นั้นต้องถือว่าเป็นเม็ดเงินลงทุนที่มีคุณภาพสูงเพราะจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการที่ทันสมัยที่สุดจึงเป็นการลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างงานที่มีคุณภาพ
ซึ่งในอดีต (2010-2013) นั้น ประเทศไทยสามารถดึงดูดเงินทุนประเภทดังกล่าวได้เป็นที่ 3 ในอาเซียนรองลงมาจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเม็ดเงินเข้าเฉลี่ย 11,520 ล้านเหรียญต่อปี
ในขณะที่เวียดนามจะได้รับเงินทุนดังกล่าวเพียง 7,220 ล้านเหรียญต่อปี อย่างไรก็ดีตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา FDI เริ่มไหลเข้าไปในเวียดนามมากกว่าไทยและส่วนต่างก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้
ทำให้ไทยได้รับ FDI เฉลี่ยเพียง 6,280 ล้านเหรียญต่อปีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ของ FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามคือ 13,850 ล้านเหรียญต่อปี (ณ วันนี้ไทยตกเป็นอันดับ 4 ในอาเซียนเพราะถูกมาเลเซียแซงหน้าไปอีกด้วย)
ในส่วนแผนปฏิรูปนั้น รายงานล่าสุดเมื่อปี 2564 นั้น การขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญนั้นรัฐบาลเรียกว่า “กิจกรรม Big Rock” คือไม่เกิน 5 กิจกรรมหลักในแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน (รวมกันเป็น 32 กิจกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญสูงสุด)
ในส่วนนี้รัฐบาลบอกว่ามีประเด็นปฏิรูปที่อยู่ในขั้นวิกฤติในการบรรลุเป้าหมายในปี 2565 อยู่ 2 เรื่องคือ
ด้านกฎหมาย: ความสะดวกในการเข้าถึงรับรู้และปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน
ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์: เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม
สำหรับประเด็นด้านปฏิรูปที่มีความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายอันพึงประสงค์ในปี 2565 มีอยู่ 5 ประเด็นหลัก คือ
ด้านการเมือง: ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ การเมืองมีเสถียรภาพและความมั่นคง ตลอดจนเกิดความปรองดอง
ด้านกระบวนการยุติธรรม: อำนวยความยุติธรรมอย่างโปร่งใส เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดและเข้าถึงง่าย การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่เลือกปฏิบัติและเป็นธรรม
ด้านเศรษฐกิจ: ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและกระจายความเจริญและความเข้มแข็งของภาคสังคม
ด้านสังคม: มีการออมเพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองหลังเกษียณ
ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต: หน่วยงานภาครัฐมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต
ดังนั้นจึงคงจะไม่มีการเรียกร้องให้รอปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีกต่อไปครับ.