"ประวิตร" นั่งหัวโต๊ะ ประชุม ครม.นัดแรก อนุมัติ 6.3 พันล้าน อัดงบฯลงท้องถิ่น
ประวิตร นั่งหัวโต๊ะ ครม.นัดแรก อนุมัติ 6.3 พันล้านบาท อัดงบฯลงท้องถิ่น จ่าย อสม. - อสส. -ซ่อมแหล่งน้ำ - ถนนจากอุทกภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (30 ส.ค.) เป็นการประชุม ครม.ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีวาระการพิจารณาขออนุมัติงบประมาณวงเงินรวมกว่า 6.3 พันล้านบาทใน 2 โครงการได้แก่
1.อนุมัติ 1,050.31 ล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ฯเพิ่มเติม 2565 เพื่อเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,039,729 คน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้น 1,050,306 คน ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลาเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ภายใต้ โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในชุมชน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้อสม.และอสส. ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการดำเนินงาน เช่น การให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลสุขภาพตนเองแก่ประชาชน การเฝ้าระวังและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การเคาะประตูบ้านต้านภัยโควิด-19 ร่วมทีมแพทย์ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แยกจากรักษาตัวในชุมชน (CI) และแยกกักรักษาตัวที่บ้าน (HI) แนะนำกลุ่มเป้าหมายตรวจ ATK และรายงานผลผ่านแอพพลิเคชั่น “สมาร์ท อสม.”
รวมทั้ง เชิญชวนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัวมารับวัคซีนเข็มที่ 1/2/3 ด้วย ทั้งนี้รัฐบาลได้เคยให้ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่อสม. และ อสส.ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชนไปแล้วก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 แล้วจำนวนเงิน 3,150.92 ล้านบาท
2.อนุมัติงบประมาณ 5,282,570,100 บาท เพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนพื้นที่ใน 69 จังหวัด จำนวน 2,086 โครงการ เพื่อเร่งฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง ถนน และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ของ อปท. ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติและมีประสิทธิภาพโดยเร็ว โดยครอบคลุมทั่วประเทศทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 12 จังหวัด 414 โครงการ วงเงิน 528,498,100 บาท
เทศบาลนคร จำนวน 1 จังหวัด 2 โครงการ วงเงิน 20,989,000 บาท เทศบาลเมือง จำนวน 10 จังหวัด 19 โครงการ วงเงิน 67,192,100 บาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 68 จังหวัด 1,651 โครงการ วงเงิน 4,665,890,900 บาท เทศบาลตำบล จำนวน 58 จังหวัด 430 โครงการ วงเงิน 1,230,243,800 บาท องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 68 จังหวัด 1,221 โครงการ วงเงิน 3,435,647,100 บาท
ส่วนวงเงินงบประมาณ จำแนกตามภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด 183 โครงการ วงเงิน 346.13 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 19 จังหวัด 883 โครงการ วงเงิน 1,884.28 ล้านบาท ภาคกลาง จำนวน 16 จังหวัด 580 โครงการ วงเงิน 1,146.00ล้านบาท
ภาคตะวันออก จำนวน 7 จังหวัด 52 โครงการ วงเงิน 142.02 ล้านบาท ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด 65 โครงการ วงเงิน 325.90 ล้านบาท และภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด 323 โครงการ วงเงิน 1,438.24 ล้านบาท
“โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความร่วมรับผิดชอบของ อปท. เช่น ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซ่อมแซมถนนลาดยางมะตอย ปรับปรุงผิวจราจรจากลูกรังเป็นถนนหินคลุกบดอัด ซ่อมแซมไหล่ถนน ขุดลอกคูคลองและขุดสระน้ำเป็นต้น ซึ่งที่ประชุม ครม. เน้นย้ำ ให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของราชการและประชาชนด้วย”