อีอีซี จับมือ JETRO ชูความก้าวหน้าและสิทธิประโยชน์ จูงใจญี่ปุ่นเร่งลงทุน
สกพอ. ร่วมกับ เจโทร กรุงเทพฯ จัดงานสัมมนาดึงตัวแทนผู้บริหาร 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษในอีอีซี (EECi, EECa, EECh) ชูความก้าวหน้าโอกาสการลงทุน และเป้าหมายขับเคลื่อน BCG สู่นวัตกรรมขั้นสูง พร้อมเจรจาสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในงานสัมมนา “Business Opportunities in Eastern Economic Corridor” ในวันที่ 31 ส.ค.2565 ว่า ภายหลังจากที่ สกพอ. ได้ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เมื่อเดือน ม.ค. 2565 เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เน้นด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนา ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มการลงทุนคาร์บอนต่ำ และกลุ่มโลจิสติกส์
รวมทั้งการเร่งรัดการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนญี่ปุ่น ตามนโยบาย “Asia-Japan Investing for the Future Initiative” หรือ AJIF เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ปัจจุบัน คำขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) มีนักลงทุนญี่ปุ่นรั้งลำดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในพื้นที่อีอีซี ที่มีความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโลจิสติกส์ ดิจิทัล 5G และศูนย์การวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม ที่สร้างความมั่นใจการเข้าลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนทั่วโลก
นอกจากนี้ ในพื้นที่อีอีซียังมีการกำหนด 7 เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ที่นักลงทุนสามารถเจรจาสิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์การลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้โดยตรงกับ สกพอ. สำหรับธุรกิจอยู่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม เพื่อผลักดันเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงของประเทศ
อีกทั้ง อีอีซี ยังเป็นพื้นที่กลไก Regulatory Sandbox ที่สำคัญในการสร้างอีโคซิสเต็มที่ดีที่สุดสำหรับดึงดูดการลงทุนต่างชาติ การร่างกฎหมายและกฎระเบียบสำหรับการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ ผ่อนปรนกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังล้าหลังกว่ารูปแบบธุรกิจหรือการพัฒนานวัตกรรมโดยยังมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล อาทิ การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำหรับการเกษตรและโลจิสติกส์ การจัดตั้งสำนักงานการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จเพื่อสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) และการขยายสิทธิในการถือสัมปทานจาก 30 ปี เป็น 50 ปี
"ต่อจากนี้ 5 ปีข้างหน้า อีอีซีกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานว่าจะมีการลงทุนมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งหวังว่านักลงทุนจากญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในการพาเราไปสู่เป้าหมายดังกล่าว"
นายคุโรดะ จุน ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจของเจโทรพบว่าในปีนี้มีบริษัทญี่ปุ่นตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี จำนวน 1,100 บริษัท เทียบกับปี 2018 มีจำนวน 600 บริษัท สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนจากภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ยังสนใจลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ญี่ปุ่นได้ประกาศดำเนินนโยบาย AJIF เพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนและส่งเสริมให้มีการลงทุนใหม่ในภูมิภาคเอเชีย ผลักดันให้เป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวที่มีความยั่งยืน
ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการให้ทุนสนับสนุน 2 ใน 3 ของเงินลงทุนทั้งหมด สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาค อาทิ บริษัท โยโกฮาม่า โมลด์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแม่พิมพ์ยางรถยนต์ มีการลงทุนขยายฐานการผลิตหลักรองจาก โรงงานในจีน และญี่ปุ่น เข้ามาตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
นอกจากนี้ ในด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรม เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 เจโทรได้คัดเลือก 10 โครงการ สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น อาทิ ด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน สนับสนุนเงินทุน 2 ใน 3 มูลค่าสูงสุด 15 ล้านเยนต่อบริษัทในการเข้ามาขยายโครงการความร่วมมือกับเอกชนและรัฐบาลไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ ในการบรรยายหัวข้อ “Business Opportunities in highlight promotional zones for specific industries” กล่าวถึงโอกาสในการลงทุนพื้นที่โดยผู้บริหารจาก 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษในอีอีซี ประกอบด้วย
นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าวว่า โครงการอีอีซีไอเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงนวัตกรรมขั้นสูงกับภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการให้บริการพื้นที่ทดลอง การขยายผลงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม และการปรับแปลงเทคโนโลยีต่างประเทศให้เหมาะสมกับการใช้งานในไทย ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและสถาบันการศึกษากับนักลงทุนต่างชาติในการร่วมกันพัฒนานวัตกรมม ซึ่งจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 2565 นี้
ทั้งนี้ อีอีซีไอมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มมูลค่าภาคเกษตร 2.ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 3. สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่
Ms.Sara Cheung กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (EECh) กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงการพัฒนาเมือง รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบไปด้วย การเดินทาง ระยะทาง 220 กิโลเมตร และการพัฒนาพื้นที่สถานีอีก 165 ไร่ ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 330,000 ล้านบาท มีอายุสัมปทาน 50 ปี และกำลังเข้าสู่ระยะการก่อสร้าง คาดว่าตลอดอายุโครงการจะสามารถสร้างเมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 3.78 ล้านล้านบาท
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ผู้พัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบิน (EECa) กล่าวว่า โครงการอู่ตะเภากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างทั้งส่วนอาคารผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมบำรุง และเขตปลอดภาษี ในขณะที่แผนการพัฒนาพื้นที่เมืองการบิน (Aerotropolis) บริษัทได้มีการวางเป้าหมายเพื่อสร้างให้เป็นเมืองศูนย์กลางการพักผ่อนและเจรจาธุรกิจสำหรับอีอีซี โดยจะมีการพัฒนาโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ ศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ รองรับอุตสาหกรรม MICE, สนามกีฬา สำหรับจัดงาน International Sports Events โดยยังมีโอกาสในการพัฒนาและร่วมลงทุนอีกมากจากหลายฝ่าย