ผ่าแผน ‘ประวิตร’ เบื้องลึก ‘ทอท.’ บริหาร 3 สนามบิน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ส.ค.2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.บริหารจัดการ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์และสนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน
นโยบายโอนย้ายสิทธิบริหารสนามบินเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 4 ส.ค.2561 ให้สิทธิบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน 4 แห่ง ให้ ทอท.ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตากและชุมพร
ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันที่มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปลี่ยนเป็นสนามบินบุรีรัมย์ กระบี่ แม่สอด และอุดรธานี จนกระทั่งล่าสุดตัดสนามบินแม่สอด และเสนอ ครม.หลายครั้ง โดยวันที่ 22 มิ.ย.2565 ที่ ครม.ตีกลับให้ไปฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตีตกเนื่องจากมีเสียงคัดค้านจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยมองว่าการให้สิทธิบริหาร 3 สนามบิน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีเอกชนถือหุ้นเกือบ 30% จะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรัฐ
ในขณะที่การประชุม ครม.วันที่ 30 ส.ค.2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะนำประชุมดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาแบบไม่มีเสียงคัดค้าน
ดังนั้น เมื่อย้อนไปจุดเริ่มต้นการตั้งรัฐบาลที่มี “พล.อ.ประวิตร” เป็นดีลเมกเกอร์ แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำ แต่ยกกระทรวงคมนาคมให้พรรคภูมิใจไทย โดยมีสัญญาใจกับ “พี่ใหญ่ภูมิใจไทย” จึงไม่แปลกเมื่อ พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะจึงไร้แรงต้าน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า เป้าหมายการให้สิทธิบริหารสนามบินให้ ทอท.นั้นกระทรวงคมนาคมวาง 3 ประเด็น คือ
1.การใช้ห้วงอากาศ (Air Space) และโครงข่ายสนามบินของประเทศในภาพรวมจะเกิดประสิทธิภาพขึ้น เพราะเที่ยวบินระหว่างประเทศของ ทอท.จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศและทำให้สนามบินรับผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มในอนาคต
2.รัฐลดภาระจัดสรรงบประมาณให้กรมท่าอากาศยานในการลงทุนพัฒนาปรับปรุงสนามบิน 3.กรมท่าอากาศยานนำเงินบริจาคที่ได้จาก ทอท.จากส่วนแบ่งรายได้ที่ตกลงกันไปเข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากศยาน และนำไปใช้บริหารจัดการสนามบินที่เหลืออีก 26 แห่ง
ทั้งนี้ การผลักดันนโยบายให้สิทธิบริหารสนามบินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน ได้เปลี่ยนสนามบินที่ให้สิทธิให้ ทอท. โดยมีสนามบินกระบี่เป็นสนามบินสร้างรายได้หลักให้กรมท่าอากาศยานมาก โดยก่อนมีโควิด-19 ผลดำเนินงานปี 2562 สนามบินกระบี่ สร้างกำไรสูงเป็นอันดับ 1 ราว 374.66 ล้านบาท ทำให้นับตั้งแต่ปี 2562 การเจรจาโอนสิทธิบริหารสนามบิน โดยเฉพาะสนามบินกระบี่ยืดเยื้อ
นอกจากนี้มีการคัดค้านจากข้าราชการกรมท่าอากาศยานหลายฝ่ายที่ตั้งคำถามว่าเมื่อกรมท่าอากาศยานบริหารสนามบินกระบี่มีกำไรแล้วมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องโอนให้ ทอท.
อีกทั้งช่วงการผลักดันนโยบายให้สิทธิบริหาร 3 สนามบิน มีการเปลี่ยนอธิบดีรวม 4 คน ประกอบด้วย นางอัมพวัน วรรณโก ถูกโยกย้ายและเกษียณในตำแหน่งผู้ตรวจราชการ
รวมถึงนายทวี เกศิสำอาง ที่ถูกโยกย้ายมานั่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการ หลังจากก่อนหน้านั้นนายศักดิ์สยาม แต่งตั้งจากรองอธิบดีกรมทางหลวง มาเป็นรักษาการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน และท้ายที่สุดได้ตำแหน่งอธิบดีกรมท่าอากาศยาน
ช่วงนายทวี รับตำแหน่งอธิบดีกรมท่าอากาศยานนั้น มีนายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน ซึ่งมีนโยบายชัดเจนว่าการย้ายสิทธิบริหารสนามบินควรศึกษาให้รอบคอบ ทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534, พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
อีกทั้งการโอนสนามบินดังกล่าว ทอท.ควรคำนึงถึงการนำสนามบินที่ไม่ทำกำไรไปบริหารด้วย เพื่อให้ประชาชนได้บริการที่ดีที่สุด และถ้าจะให้ผู้อื่นบริหารสนามบินควรเปิดกว้างให้ผู้อื่นบริหารด้วย
หลังจากนั้นมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย จากรองอธิบดีกรมทางหลวงมาเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยาน จนกระทั่งวันที่ 14 ต.ค.2564 ได้โยกย้ายไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และแต่งตั้งนายปริญญา แสงสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยานถึงปัจจุบัน
สำหรับรูปแบบของการเข้าไปบริหาร 3 สนามบินดังกล่าว ได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมโอนสิทธิ เป็นการมอบสิทธิความรับผิดชอบบริหารจัดการ ซึ่ง ทอท.ต้องทำสัญญาเช่าการบริหารกับกรมธนารักษ์ 30 ปี ไม่ใช่โอนทรัพย์สินรัฐให้ ทอท. ส่วนรายได้ของกรมท่าอากาศยานที่หายไปทาง ทอท.ชดเชยให้ แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าไหร่กำลังศึกษาความเหมาะสม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทอท.ยังเข้าไปบริหารสนามบินไม่ได้เพราะ ครม.สั่งการให้นำความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาให้รอบคอบก่อนรายงาน ครม.อีกครั้ง โดยคาดว่าจะศึกษารายละเอียดเสร็จใน 2-3 เดือน
สำหรับรายละเอียดที่ต้องศึกษา ทางกระทรวงการคลังมีความเห็นให้ศึกษาเปรียบเทียบกรณีกรมท่าอากาศยานดำเนินการ, กรณี ทอท.ดำเนินการ, การคาดการณ์ประมาณการผู้โดยสาร, แผนการลงทุน, แผนพัฒนาท่าอากาศยาน, ประมาณการรรายได้และรายจ่าย, ผลตอบแทนทางการเงิน, ผลกระทบต่อกรมท่าอากาศยานและ ทอท.รวมถึงแผนบริหารความเสี่ยงกรณีดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้า
สำหรับการโอนย้ายสิทธิให้ ทอท.เป็นผู้บริหารจัดการสนามบินอุดรธานี เป็นสนามบินระดับภาคและสนามบินศูนย์กลางรองในอนาคต ซึ่งจะพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงร่วมกับสนามบินบุรีรัมย์ที่ทำหน้าที่เป็นท่าอากาศยานรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนสนามบินกระบี่จะช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของสนามบินภูเก็ต
ทอท.กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยาน 3 แห่ง วงเงินลงทุน 9,199 ล้านบาท กรณีสนามบินพังงาเปิดบริการปี 2574 หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท กรณีสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ แยกเป็นอุดรธานี 3,523 ล้านบาท บุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และกระบี่ กรณีสนามบินพังงาเปิดบริการปี 2574 วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 5,216 ล้านบาท แต่ถ้าสนามบินพังงาไม่เปิดบริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท