ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทยฟื้น หลังไทยเปิดประเทศ
7 เดือนแรก จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทาง 549 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 169% สะท้อนภาพการท่องเที่ยวไทยฟื้น อานิสงส์โควิด-19 คลี่คลาย ไทยเปิดประเทศ ทำนักท่องเที่ยวแห่เข้าไทยกว่า 4 ล้านคน
ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เนื่องการปิดประเทศและการจำกัดการเดินทาง ทำให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยซบเซา ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย แม้ว่ารัฐบาลจะรณรงค์ให้คนไทยเที่ยวไทยแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ภาคธุรกิจฟื้นขึ้นได้มากนัก
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทย ปี 2563-2564 รายได้ปรับตัวลดลง โดยรายได้รวม ปี 2562 มีจำนวน 123,788.53 ล้านบาท
ปี 2563 จำนวน 36,619.46 ล้านบาท ลดลง 70.42 % จากปีก่อน ปี 2564 มีรายได้รวม 14,251.94 ล้านบาท ลดลง 61.08 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการลดลงของผลประกอบการเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำถึงสถานการณ์ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่ย่ำแย่
แต่หลังจากไทยเปิดประเทศรับท่องเที่ยวต่างชาติ และประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมผ่อนปรนมาตรการต่างๆในการเดินทางเข้าประเทศก็ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่า ครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 6-8 ล้านคน และจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้ธุรกิจกลางคืนเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้มีเงินสะพัดเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทต่อเดือน จึงส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม
ล่าสุด สัญญาณการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวของไทยชัดเจนขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานผลการจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทย ในช่วง 7 เดือนแรก คือตั้งแต่ม.ค.-ก.ค. ปี 2565 ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทย มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 549 ราย ทุนจดทะเบียน 988.53 ล้านบาท โดยจัดตั้งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 345 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 169.12% และทุนเพิ่มขึ้น 685.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 225.90 % โดยใน ปี 2564 จัดตั้งใหม่ 204 ราย ทุนจดทะเบียน 303.33 ล้านบาท
โดยธุรกิจธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ ภาคใต้ ภาค ภาคตะวันออก 1,024 ราย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันตก 195 ราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังคาดว่า ผลประกอบการรวมของปี 2565 น่าจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและท่องเที่ยวได้อย่างปกติมากขึ้น อีกทั้ง มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น นโยบายเราเที่ยวด้วยกันที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก ค่าอาหาร และค่าตั๋วเครื่องบิน
มาตรการการเปิดประเทศที่เพิ่มความสะดวกในการเข้าประเทศมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว จึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่จะกลับมาฟื้นตัวตามสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ช่วง 7 เดือนแรก คือตั้งแต่ม.ค. – ก.ค. 2565 ที่มีจำนวนสูงกว่า 4 ล้านคน
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หมุนเวียนท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจึงสามารถเลือกช่วงเวลาท่องเที่ยวได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูร้อนเป็นฤดูของการท่องเที่ยวทะเล ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของการท่องเที่ยวภูเขา เช่น ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลหรืองานประเพณีที่น่าสนใจทั่วประเทศตลอดปี ซึ่งดึงดูดได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
นอกจากนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังประเมินว่า ปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยบวกให้แก่ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่สามารถจัดโปรแกรมนำเที่ยวได้หลากหลายตามความต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว ผ่านการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดรับกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 นานกว่า 2 ปี ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งสร้างความมั่นใจได้ว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นกลับมาเป็นกลไกสำคัญและสร้างรายได้หลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง