ส.อ.ท.เปิดจุดอ่อนไทย ดับฝันดึงต่างชาติลงทุน “ชิป”
ภาคเอกชนดับฝันโอกาสดึงลงทุนโรงงานผลิตชิปในไทย กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ ส.อ.ท. ชี้การสร้างโรงงานผลิตชิปเป็นการลงทุนมูลค่าสูงและมีเทคโนโลยีซับซ้อน ต้องการวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ซึ่งกว่าไทยจะสร้างคนได้ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี
ความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นรอบเกาะไต้หวัน กำลังซ้ำเติมวิกฤติขาดแคลนซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ต้องต่อแถวแย่งชิงชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ว่านี้ในอุปกรณ์อัจฉริยะ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ สมาร์ทโฟน แลปท็อป เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก
วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วิกฤติการขาดแคลนชิปไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นที่กล่าวถึงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่าน ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ล่าสุดระหว่างจีนและไต้หวันถือเป็นปัจจัยลบที่ทำให้วิกฤติความขาดแคลนยิ่งรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบันเป็นลักษณะที่ผู้ขายมีอำนาจเหนือตลาด โดยผู้ผลิตชิปในไต้หวันมีสัดส่วนเป็นผู้ส่งออกกว่า 64% ในตลาดโลก โดยเฉพาะ บริษัท ทีเอสเอ็มซี (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวันที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากถึง 53%
ความร้ายแรงของวิกฤติขาดแคลนชิป เริ่มต้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงัก
อีกทั้งหลายบริษัทเริ่มกักตุนชิปและยังคงมีออเดอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ซื้อมีเวลาในการรอคอยสินค้า (Lead Time) อยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือต้องรอเกือบ 1 ปี ในขณะที่ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยทำได้เพียงสั่งจองโดยที่ไม่รู้วันรับสินค้า หรือเรียกว่า On Allocation
“เมื่อสินค้าต้นน้ำไม่สามารถซื้อได้ ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยที่อยู่ในช่วงกลางน้ำและปลายน้ำจึงไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ตามเป้าหมาย ถึงแม้จะมีดีมานต์คำสั่งซื้อก็ตาม สถานการณ์ซ้อมรบที่เกิดขึ้นเป็นการซ้ำเติมให้วิกฤติขาดแคลนชิปเลวร้ายลง”
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำ “วิบูลย์” ให้ความเห็นว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลย ความเป็นไปคือ 0% อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของในไทยอยู่ในช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งทำหน้าที่เพียงรับมาประกอบโดยไม่มีทั้งศาสตร์ความรู้เทคโนโลยี (Know How) เครื่องมือการผลิต และที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ คือ “วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน”
โดยส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในไทยจะมีมากในกลุ่มธุรกิจการประกอบและทดสอบเซมิคอนดัคเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์สำนักงาน
ขณะที่ประเทศเวียดนามมีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้นำตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยมีอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่เข้าไปลงทุนแล้วทั้งยังมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติมตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น อาทิ Samsung และ Intel เพื่อให้เวียดนามเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งรองจากในจีน ซึ่งเวียดนามสามารถคว้าโอกาสที่ว่านี้ได้เพราะสามารถถึงกลุ่มแรงงานทักษะสูงจำนวนมากกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้มาก
“ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ไทยจะสามารถดึงการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำได้ คือ การมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่เพียงพอ มากกว่าแค่การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนหรือการลดหย่อนภาษี ซึ่งคาดว่ากว่าไทยจะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงได้ยังต้องใช้เวลาอีก 20 ปี รวมทั้งต้องสั่งสมประสบการณ์และความรู้จากการรับจ้างผลิตอีกหลายปี ไทยจึงจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการขาดแคลนชิป ได้เตรียมแผนการรับมือในระยะสั้น ด้วยการหาแหล่งซัพพลายชิปทดแทนแหล่งเดิม จากผู้ผลิตรายเล็กที่มีส่วนแบ่งตลาดโลกราว 10%
รวมถึงจีนที่เป็นผู้ส่งออกหลักชิปที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถสั่งซื้อได้เพียงชิปขนาด 10-50 นาโนเมตร ที่ใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปเท่านั้น ส่วนชิปที่มีขนาด 7 นาโนเมตรหรือเล็กกว่า ซึ่งมีบริษัท TSMC เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไม่สามารถหาแหล่งอื่นทดแทนได้เลย
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 4-5 ปี ข้างหน้า เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะพัฒนาไปใช้ชิปที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ไทยที่เป็นผู้ซื้อรายเล็กจะยิ่งลำบากเพราะไม่มีอำนาจในการต่อรอง อีกทั้งไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสงครามในระยะยาวชิปจะขาดแคลนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเทรนด์ Digital Transformation ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว สุดท้ายแล้วไทยจะต้องมีการวางกลยุทธ์เพื่อให้หลุดออกจากการเป็นแค่ประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยี เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เนื่องจากโครงสร้างของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่ผู้ขายมีอำนาจ แม้จะใช้กลยุทธ์การซื้อกี่วิธีก็จะไม่สามรถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้
เช่นเดียวกับโลกมหาอำนาจเทคโนโลยีที่พยายามสร้างความมั่นคงของซัพพลายเชนด้วยการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตชิปเอง ยกตัวอย่างประเทศจีนที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวมาร่วม 10 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งแนวโน้มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะต้องการใช้ชิปที่ฉลาดยิ่งขึ้น เช่น ระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (IoT)
จากรายงานของ World Semiconductor Trade Statistics (WSTS) ระบุว่า เมื่อแยกความต้องการชิปตามภูมิภาคนั้น คาดว่าภูมิภาคอเมริกาจะมีความต้องการชิปเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2565 ด้วยความต้องการพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 10.3% ตามด้วยในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น 9.3% ส่วนตลาดชิปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ไม่รวมญี่ปุ่นคาดว่าจะเติบโต 8.4% และในยุโรปเพิ่มขึ้น 7.1%