รัฐบาลตามให้ทัน เทรนด์โปรตีนจากพืช
การเข้าสู่ธุรกิจโปรตีนจากพืชจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะสตาร์ตอัปที่เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การวิจัยและพัฒนาของบริษัทขนาดใหญ่หลายราย
นโยบายเกษตรที่สำคัญของรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร และนับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2562 มีการจัดสรรงบประมาณให้กับนโยบายสำคัญ คือ การประกันราคาสินค้าเกษตร 5 กลุ่ม โดยเฉพาะการประกันราคาข้าวที่ใช้งบประมาณมากที่สุดแบ่งเป็น ปีการผลิต 2562/63 อนุมัติงบประมาณ 76,049 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 อนุมัติงบประมาณ 106,740 ล้านบาท และปีการผลิต 2564/65 อนุมัติงบประมาณ 138,456 ล้านบาท
สำหรับทิศทางงบประมาณสำหรับการประกันรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ยังมีภารกิจส่วนอื่นที่มีความจำเป็นสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการทำเกษตรสมัยใหม่หรือการทรานส์ฟอร์มให้กับภาคเกษตร เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคการผลิตเกษตร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับรายได้ และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่านโยบายการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ทำมาต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยยกระดับการผลิตให้กับเกษตรกร โดยจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญของการเพาะปลูกที่จะรับทราบสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงการประเมินคุณภาพดิบจากฐานข้อมูลกลาง รวมถึงการประเมินปัจจัยการผลิตหรือปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และที่สำคัญเป็นรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสมกับคุณรุ่นใหม่ที่จะแก้ปัญหาเกษตรกรสูงวัยที่มีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพเกษตรกรมากขึ้นด้วย เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของสินค้าเกษตรสมัยใหม่
ทิศทางการผลิตอาหารกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อการผลิตโปรตีนไม่ได้จำกัดเฉพาะปศุสัตว์หรือประมงเท่านั้น โปรตีนจากพืชกำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์
โปรตีนมาจากทั้งแพลนต์เบส และ เซลล์เบส โดยแพลนต์เบสเป็นการผลิตโปรตีนจากพืช ในขณะที่เซลล์เบสเป็นการผลิตโปรตีนที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งทำให้ไม่ต้องทำปศุสัตว์แบบเดิมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องทำการฆ่าสัตว์
การเข้าสู่ธุรกิจโปรตีนจากพืชจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะสตาร์ตอัปที่เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การวิจัยและพัฒนาของบริษัทขนาดใหญ่หลายราย
จุดเด่นของสตาร์ตอัปอยู่ที่ความคล่องตัวในการดำเนินงานจึงถูกเลือกจากบริษัทขนาดใหญ่ให้พัฒนาธุรกิจร่วมกัน และแน่นอนว่าจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรสำหรับเป็นวัตถุดิบของโปรตีนจากพืช เช่น พืชตระกูลถั่วและเห็ด โดยเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรติดตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง