เจาะลึกสไตล์ 'เกาหลี' แบบจำลองซอฟต์พาวเวอร์ไทย
ประเทศไทยให้ความสนใจซอฟต์พาวเวอร์อย่างมาก ดังนั้นสังคมควรได้ปรึกษาหารือถึงบทบาทรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนและหาวิธีการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน
อิทธิพลทางวัฒนธรรม “เกาหลีใต้” เดินหน้าอย่างมีทิศทาง ในปีนี้เราได้เห็น “BTS” วงบอยแบนด์ชื่อดังทุบสถิติรายได้และคว้ารางวัลไปทั่วโลก อีกทั้งกระแสเค-ป๊อปทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์เกาหลี เพลง วิดีโอเกม อีสปอร์ต และอุตสาหกรรมบันเทิงอื่นๆ ได้รับความนิยมชนิดติดลมบน
ทำไมซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีถึงประสบความสำเร็จระดับโลกไปฟัง “โจ แจ อิล” ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า เป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ผสมผสานระหว่างเอกชนกับภาครัฐจนบรรลุผลสำเร็จ ที่ผ่านมารัฐบาลโซลได้ให้การสนับสนุนในหลายรูปแบบ ภายใต้หลักการที่ว่า “รัฐบาลสนับสนุนและไม่ควบคุม”
เปิดพื้นที่ครีเอทคอนเทนต์
เหนือสิ่งอื่นใดรัฐบาลผลักดันเต็มที่ในเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรม ซึ่งเราได้ทำร่วมกับเอกชน ขณะที่ภาคเอกชนก็เปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้ครีเอทคอนเทรนต์ระดับโลกและมันก็ออกมายอดเยี่ยมสะด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือเพลง ขอยกตัวอย่างวงบีทีเอสที่ประสบความสำเร็จ จนขณะนี้ได้กลายเป็นวงบอยแบนด์ชื่อดังและตัวแทนของวัยรุ่นทั่วโลก
ส่วนซีรีย์เกาหลีดังในหลายประเทศ อย่าง "อูยองอู ทนายอัจฉริยะ" ที่แสดงให้เห็นถึงการเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงความเห็นอกเห็นใจ เนื้อหาเหล่านี้สร้าง “กระแสเกาหลี” อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก เช่น เน็ตฟลิกซ์และยูทูบ
มีส่วนร่วมรัฐ - เอกชน - ปชช.
"ผมมองว่า ขณะนี้ประเทศไทยให้ความสนใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างมาก ดังนั้นสังคมควรได้ปรึกษาหารือกันต่อไปเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลในการเข้ามาช่วยสนับสนุนและหาวิธีการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน" โจระบุ
สำหรับประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราพยายามทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมให้มากที่สุด ปัจจุบัน มีศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีรวม 34 แห่งทั่วโลก และหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยรัฐบาลเกาหลีไม่มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงหรือวัฒนธรรมของเราไปยังประเทศหรือภูมิภาคใดเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันเกาหลีเองก็ต้องเรียนรู้และศึกษาความชื่นชอบของคนประเทศนั้นๆด้วย
วัฒนธรรมเกาหลี-ความบันเทิงของคู่กัน
ปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีได้ส่งเสริมคอนเทนต์แสดงถึงความเป็นเกาหลีที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมเคป๊อป ภาพยนตร์ ซีรีย์เกาหลี แต่ยังรวมถึงศิลปวัฒนธรรมดังเดิมของเกาหลีใต้
"ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีพยายามจัดแสดงและเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีทั้งหมดให้โลกเห็น ไม่ใช่แค่ “กระแสเกาหลี” (Korean wave) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราที่เผยแพร่ออกไป" ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีกล่าวย้ำ
เค-ป๊อปบนแพลตฟอร์มระดับโลก
โจ เล่าว่า ตั้งแต่รัฐบาลประธานาธิบดีคิม แด จุงในปี 2543 เกาหลีใต้รับเอาวัฒนธรรมต่างประเทศที่หลากหลายเข้ามามากมาย สิ่งเหล่านี้มีส่วนในการพัฒนาวัฒนธรรมเกาหลี ประกอบกับขณะนั้นเริ่มมีเน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มกระแสหลักระดับโลกช่วยส่งเสริมให้วัฒนธรรมเกาหลีแผ่กระจายไปทั่วโลกรวดเร็วและง่ายขึ้น ในทางกลับกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีจากมุมต่างๆทั่วโลก
นี่เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดกระแสวัฒนธรรมเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน
ไทยสร้างแบบจำลองซอฟต์พาวเวอร์เค-ป๊อป
ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเปิดตัว “กลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สร้างบนแบบจำลองจากความสำเร็จทางวัฒนธรรมเค-ป๊อป “ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่าง "people - businesses - locations" เพื่อเสริมสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย เมืองที่สร้างสรรค์ การแข่งขันทางธุรกิจและผลักดันให้เข้าถึงตลาดโลก
อุตฯ สร้างสรรค์ช่วยเสริม ศก.
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีพันธกิจเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 15 สาขา เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน โดยชาคริตชี้ว่า มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์คิดเป็น 7.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีการจ้างงานประมาณ 900,000 ตำแหน่งในปี 2563 ซึ่งเติบโตขึ้น 1.2% ต่อปี โดยที่ CEA เห็นโอกาสทางเศรษฐกิจ หากมีการเชื่อมโยงผู้ประกอบการขนาดเล็กกับธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิด และนวัตกรรมที่นำไปสู่การลงทุน
อย่างไรก็ตาม CEA ยังเตรียมเปิดตัวอีก 2 โครงการในปี 2566 ได้แก่ 1.Content Lab เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดผู้ผลิตและนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวไทย 2.Metaverse Ecosystem Lab มีเป้าหมายสร้างอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาระบบนิเวศเมตาเวิร์สในไทย โดย CEA ตั้งเป้าที่จะพัฒนาทีมงานที่มีทักษะ โดยการสร้างแซนด์บ็อกซ์สำหรับนักเรียนและผู้ประกอบการ SME เพื่อทดสอบแนวคิดนี้ ด้วยอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และระบบเสมือนจริง