จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล
เศรษฐกิจโลกถดถอย มีผลกระทบต่อไทยมาก เพราะไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากไป พึ่งเศรษฐกิจและตลาดภายในประเทศได้น้อยเกินไป
ไทยพึ่งการค้ากับประเทศใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป จีน มาก เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ชะลอตัว พวกเขานั้นก็ซื้อของจากไทยลดลง เช่น จีนเคยซื้อสินค้าขั้นกลางจากไทยไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปขายในสหรัฐ ก็ซื้อจากไทยลดลง เมื่อธุรกิจในไทยถดถอย การตกงาน รายได้ลดลง การค้าขายและการผลิตอื่นก็จะลดลงตามมาด้วย
ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย คือ เป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดกลุ่ม มีการพัฒนาแรงงาน ทรัพยากร ภูมิปัญญาในประเทศน้อยไป ทั้งๆ ที่ประชากรไทย 67 ล้านคน ใหญ่ราวลำดับที่ 21 ของโลก ซึ่งมีนับสองร้อยประเทศ ขนาดประชากรไทยเล็กกว่าฝรั่งเศสเล็กน้อยและใหญ่กว่าอังกฤษ อิตาลี แต่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยเล็กกว่าประเทศทั้ง 3 หลายเท่ามาก เทียบกับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่แม้จะส่งออกและสั่งเข้ามูลค่ามากเช่นกัน แต่เทียบกับสัดส่วน GDP ของประเทศแล้วก็ยังต่ำกว่าของไทย ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า
การที่เราทอดทิ้งคน 80% (52.8 ล้านคน) ให้มีการศึกษาค่อนข้างต่ำ ประสิทธิภาพการทำงานหรือผลิตภาพต่ำ รายได้ต่ำ ทำให้พวกเขาขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจไทยจึงไม่สามารถพัฒนาตลาดและเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตได้มากกว่านี้ เช่น ที่อยู่อาศัยระดับล่างขายไม่ค่อยได้ ทั้งๆ ที่ประเทศมีคนที่ต้องเช่าบ้านอยู่และอยากมีบ้านของตนเองมาก แต่พวกเขาไม่มีรายได้มากพอที่จะซื้อหรือผ่อนส่งระยะยาว
ทางออกคือ คนไทยต้องกล้าคิดนอกกรอบการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก แทนที่จะหวังพึ่งแต่ต่างประเทศ ต้องหันมาพัฒนาแรงงาน ทรัพยากรและตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมโลกคงจะถดถอยไปอีกหลายปี และแต่ละประเทศจะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง สั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นลดลง
ถ้าเราเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศใหม่ ลดการพึ่งการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศลง หันมาปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ปฏิรูปการคลัง การเงินการธนาคาร เช่น เก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น ส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารสหกรณ์และสหกรณ์ประเภทต่างๆ เพื่อลดการผูกขาดของธนาคารเพียงสิบกว่าแห่ง
กระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้สู่ประชาชนที่ยากจนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ตลาดภายในประเทศจะใหญ่ขึ้นได้หลายเท่า ซึ่งหมายถึงขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตด้วยและขึ้นอยู่กับการผลิต การบริโภคภายในประเทศมากกว่าการพึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติมากไป (สองอย่างนี้คนรวยคนชั้นกลางได้ประโยชน์มากกว่าคนส่วนใหญ่ด้วย)
เก็บภาษีคนรวยและคนชั้นกลางในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้น (เช่น ภาษีทรัพย์สินและรายได้หรือกำไรจากทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย ฯลฯ) กระตุ้นให้คนรวย คนชั้นกลาง ซื้อของและใช้สินค้าบริการภายในประเทศ เช่น เก็บภาษีสินค้าสั่งเข้าประเภทฟุ่มเฟือยสูงขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น เงินจะได้หมุนเวียนภายในประเทศ
เพราะคนรวย คนชั้นกลางไทย ยังมีทรัพย์สินรายได้และกำลังซื้อมาก เช่น บ้านและรถยนต์ราคาสูงยังขายได้ดี เพราะคนรวยมีกำลังซื้อ แต่บ้านราคาต่ำหน่อยขายยาก รัฐบาลต้องช่วยเหลือ ทำให้ราคาบ้านสำหรับผู้มีรายได้ต่ำและดอกเบี้ยผ่อนส่งต่ำลง ผ่อนส่งได้ยาวนานขึ้น
ระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบทุนนิยมผูกขาดคือ ระบบสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของร่วมกัน ธุรกิจที่เป็นของสหกรณ์และบริหารโดยสมาชิกและผู้แทนสหกรณ์ย่อมคิดถึงประโยชน์และความปลอดภัย ความมั่นคงยั่งยืนของสมาชิกที่เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน มากกว่าระบบทุนนิยมที่นายทุนส่วนน้อยจะคิดแต่หากำไรสูงสุดของเอกชน
เราอาจจะใช้ระบบผสม คือ อยู่ร่วมกับทุนนิยมได้ แต่ต้องเป็นทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก ต้องไม่ปล่อยให้ทุนขนาดใหญ่ผูกขาด ค้ากำไรมากไป สำหรับกิจการสาธารณูปโภคและกิจการที่ต้องใช้ทุนขนาดใหญ่ควรทำให้เป็นสหกรณ์ โดยรัฐบาลอาจร่วมลงทุนแบบรัฐวิสาหกิจ แต่ปฏิรูประบบบริหารให้เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
นอกจากนี้ก็ควรใช้ระบบรัฐสวัสดิการและชุมชนสวัสดิการ เก็บภาษีคนรวยและหารายได้จากสาธารณสมบัติของรัฐมาช่วยคนจน คนด้อยโอกาส คนที่อ่อนแอ เสียเปรียบควบคู่กันไปด้วย ช่วยให้คนส่วนใหญ่อยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตพอเพียงได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่คำขวัญ
ส่วนการหารายได้จากการส่งออกและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ควรจะเจาะจงเรื่องที่จะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรและฝีมือภายในประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมเกษตร สิ่งทอ เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก อาหาร สมุนไพร ฯลฯ รวมทั้งดูแลให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานและการกระจายรายได้สู่คนไทยส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรมด้วย
สรุปคือ เราควรเปลี่ยนทั้งระบบเศรษฐกิจและนโยบายพัฒนา ไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ระบบสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค ระบบรัฐสวัสดิการ และชุมชนสวัสดิการ โดยเน้นการพึ่งตนเองหรือพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น และเลือกการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ
ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและนำเงินเข้าประเทศได้ ก็ส่งเสริมให้พัฒนาต่อไปไห้ แต่ต้องมีการดูแลไม่ให้มีการผูกขาดเอาเปรียบแรงงานและผู้บริโภคในประเทศ ต้องทำตามกฎกติกาเสียภาษีตามฐานรายได้/กำไร และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องสภาพแวดล้อมความปลอดภัยและเรื่องอื่นๆ ด้วย