'สภาพัฒน์' แจงผู้บริหารลงพื้นที่จะนะ ไม่เกี่ยวกับการประเมิน 'SEA'

'สภาพัฒน์' แจงผู้บริหารลงพื้นที่จะนะ ไม่เกี่ยวกับการประเมิน 'SEA'

สศช.แจงผู้บริหารลงพื้นที่จะนะยันไม่ใช่การไปทำหน้าที่ในการประเมิน SEA ชี้ ขั้นตอนยังไม่ได้เริ่มต้น และ สศช.เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกำกับการจัดทำ SEA เท่านั้น โดยขั้นตอนการทำ SEA ต้องรองบฯกลางปี 65 ก่อนเพื่อผูกพันงบฯและจ้างที่ปรึกษา

ตามที่มีข่าวการลงพื้นที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อจัดเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สศช. ในช่วงระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น สำนักงานฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 

1. การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของสำนักงานฯ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ยังไม่ได้เริ่มการจัดทำอย่างเป็นทางการ ในปัจจุบันสำนักงานฯ อยู่ระหว่างการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 เพื่อทำการจ้างที่ปรึกษาในการดำเนินงานจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานฯ จะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ดังนั้น คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ที่ลงพื้นที่ในระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2565  ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ผู้ที่ทำหน้าที่ในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

2. การลงพื้นที่ของคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2565 เป็นการลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อศึกษาถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่จะมีการจัดทำ SEA รวมทั้งประเด็นผลกระทบในเบื้องต้นของการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ในระยะต่อไป ซึ่งยังไม่ใช่กระบวนการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ดังนั้น ข้อมูลที่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ได้รับจากการลงพื้นที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

 

3. ในระยะต่อไปคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ จะมีการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับลักษณะทางภูมิศาสตร์และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่จะมีการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรกลุ่มแนวร่วมการพัฒนา กลุ่มห่วงใยผลกระทบจากการพัฒนา และกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยการลงพื้นที่ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเตรียมการสำหรับสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำกับโครงการฯ เท่านั้น

สำนักงานฯ หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการอำนวยความสะดวกต่อการลงพื้นที่ เพื่อให้คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ได้มีความรู้ความเข้าใจในลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่รวมทั้งบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการดำเนินของคณะกรรมการกำกับโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป