เปิดสถิติแรงงานไทย 5.6 ล้าน ทำงานไม่ถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน น.ศ.เตะฝุ่น 1.5 แสนคน
สำนักงานสถิติฯเปิดเผยข้อมูลผู้มีงานทำล่าสุด ณ เดือน ก.ค. ผู้ว่างงาน 5.14 แสนคน จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานมากสุด 2.35 แสนคน เด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเตะฝุ่น 1.5 แสนคน กลุ่มทำงานต่ำกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันยังมีจำนวนกว่า 5.6 ล้านคน หรือสูงถึง 14.3% ของแรงงานทั้งหมด
รายงานข่าวจากสำงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช.ได้เปิดเผยรายงานเรื่องผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนไทยในเดือน ก.ค.2565 พบว่าประชากรไทยที่อยู่ในวัยแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 39.48 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.14 แสนคน และผู้ว่างงานที่รอฤดูกาล 0.21 แสนคน
ทั้งนี้ผู้ว่างงานในเดือน ก.ค.2565 จำนวน 5.14 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3 %ของแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2565 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 0.67 แสนคน และอัตราการว่างงาน ลดลง 1.4% เป็น1.3% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากระดับการศึกษาพบว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่ว่างงาน พบว่าผู้สำเร็จในระดับอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุดคือว่างงานกว่า 2.35 แสนคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 0.75 แสนคน ระดับปวช./ปวส. 0.71 แสนคน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นว่างงาน 0.65 แสนคน
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือกลุ่มของผู้จบการศึกษาใหม่ที่จบจากสถานอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุด จำนวน 1.5 แสนคน หรือคิดเป็น 58.8% ของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 0.37 แสนคน คิด14.5%) และระดับ ปวช./ปวส. 0.27 แสนคน (10.6%) ตามลำดับ ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด จำนวน 0.84 แสนคน (32.4 %ของผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 0.45 แสนคน ( 17.4%) และระดับปวช./ปวส. 0.44 แสนคน
เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้ทำงานตั้งแต่ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวน 26.80 ล้านคน หรือ 67.9 %ของผู้มีงานทำทั้งหมด และผู้ที่ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์มีจำ นวน 7.01 ล้านคน (17.8%) สำหรับผู้ที่งานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวน 5.67 ล้านคน หรือประมาณ 14.3% ของแรงงานทั้งหมด
สำหรับรายละเอียดของผู้มีงานทำในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้มีงาน 39.48 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 12.09 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 27.39 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบ กับเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า ผู้มีงานทำลดลง 0.42 ล้านคน จาก 39.90 ล้านคน เป็น 39.48 ล้านคน โดยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม มีจำนวนลดลง 0.99 ล้านคน โดยลดลงในกิจกรรมการปลูกต้นยางพารา การปลูกมันสำปะหลัง และการปลูกทุเรียน จำนวนผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม ในภาพรวม เพิ่มขึ้น 0.56 ล้านคน
โดยสาขาที่เพิ่มขึ้น 5 ลำดับแรก ได้แก่ สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 1.9 แสนคน สาขาที่พักแรมและบริการ ด้านอาหาร เพิ่มขึ้น 1.5 แสนคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และสังคมสงเคราะห์เพิ่มขึ้น 0.9 แสนคน สาขากิจกรรม ด้านบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 0.8 แสนคน และสาขากิจกรรม การบริหารและสนับสนุนเพิ่มขึ้นเท่ากันกับกิจกรรมทาง วิชาชีพ วิทยาศาสตร์ 0.6 แสนคน ส่วนสาขาที่ลดลง ได้แก่ สาขาการก่อสร้าง ลดลง 2 แสนคน สาขากิจกรรมการเงินและประกันภัย ลดลง 0.6 แสนคน และสาขาการขนส่งลดลง 0.3 แสนคน