จับตาตลาด“สหรัฐ-อียู-จีน” สัญญาณส่งออกไทยชะลอตัว
สรท.ประเมินส่งออกไทยปลายปี เผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง ขณะที่เศรษฐกิจตลาดคู่ค้าสำคัญไทย”สหรัฐ-อียู-จีน”ส่อชะลอตัว แต่คงเป้าส่งออกทั้งปีที่ 6-8 %
สถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงปลายปี 2565 กำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่มีอัตราการขยายตัวสูง โดยเป็นช่วงที่ต้องจับตาตลาดส่งออกสำคัญทั้งสหรัฐ ยุโรปและจีน ที่มีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของในช่วงที่เหลือของปี 2565 ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งภายในและภายนอกหลายปัจจัย ซึ่ง สรท.สรุปได้ 4 ปัจจัย ดังนี้
1.อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่ค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลอตัว
2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (Ft) ภายในประเทศ โดยได้ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือนให้ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
3.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูง และเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง แม้จะลดลง 20% แต่เมื่อเทียบกับตอนก่อนนี้ที่พุ่งขึ้นถึง 400% ดังนั้นค่าระวางจึงยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น
4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งสหรัฐ ยุโรปและจีน เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีสถานการณ์ดังนี้
สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงต่อเนื่องส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวด ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ Economic Recession มากขึ้นขณะที่ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐ ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดที่ -0.6% ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังคงดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและ QT ตามแผนต่อไป จนกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐจะกลับมาบวกอีกครั้ง
สหภาพยุโรป (EU) ยังคงมีปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรของรัสเซีย และต้องเร่งหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อทดแทนก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอียูเริ่มชะลอตัว โดยเห็นสัญญาณการหดตัวบางกลุ่มสินค้า
จีน เจอปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงทำให้หลายมณฑลต้องสั่งโรงงานหยุดการผลิตส่งผลกระทบต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางชองไทย ปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์หดตัวอย่างรุนแรงส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจของจีนยิ่งหดตัวรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์รัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งด้านพลังงานและด้านวัตถุดิบทางการเกษตร
รวมทั้งข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวัน ที่ส่งกระทบต่อการนำเข้าชิปเพื่อผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดของไทย ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยไม่ขยายตัวได้เท่าที่คาดการณ์ไว้
“ขณะนี้ส่งออกเรามี 6 % อยู่ในกระเป๋าแน่นอนแล้ว หาก 5 เดือนที่เหลือส่งออกไทยไม่โต ทั้งปีก็จะขยายตัว 6 % แต่หาก 5 เดือนที่เหลือส่งออกขยายตัวได้ 5 % การส่งออกของไทยปี 65 ก็จะโตได้ 8 % ดังนั้น สรท.คงคาดการณ์การส่งออกปี 2565 ที่ 6-8% หรือมีมูลค่า 293,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในกรอบสูงสุดที่ 8% นั้น เพราะไทยยังมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นธงสำคัญของการของการส่งออกของไทยจากสถานวิกฤติอาหารโลกและไทยยังได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า“
ส่วนความเสี่ยงเรื่องค่าระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ก็ต้องจับตาเรื่องการขาดแคลนชิป ซึ่งจะเป็นตัวพลิกผันการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
ขณะที่การส่งออกไทยช่วง 7 เดือน แรกปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 172,814 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.5% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออก 7 เดือน 8.3% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้ 7 เดือนแรก ขาดดุล 9,916 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย
1.ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป และ ช่วยพิจารณาควบคุมหรือตรึงอัตราค่าไฟฟ้า (ค่า FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนออกไปจนถึงปีหน้า
2.ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สรท.ต้องรับแรงกระแทกจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนราคาดีเซลขอให้ตรึงราคาถึงสิ้นปี