‘กอบศักดิ์’ชี้เฟดแรลลี่ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ เตือนไทยรับศก.ถดถอย
กอบศักดิ์ ภูตระกูล คาดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯยังอยู่ระดับสูง คาดเฟดแรลลี่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อครั้งต่อเนื่อง จนถึงระดับ 5% เพื่อกดเงินเฟ้อ คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ดูผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่ราคาพลังงาน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในงานสัมมนา “Energy Symposium 2022” วันนี้ (12 ก.ย.) ว่าแม้แนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลกจะคลี่คลายลงได้บ้างจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากปัจจุบันปริมาณซัพพายน้ำมันที่ออกมาในตลาดโลกมีมากขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการสู้รบที่ยาวนานระหว่างรัฐเสียและยูเครน ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังมีปัญหาสืบเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่
แต่ในส่วนที่ยังกดดันต่อเศรษฐกิจและทำให้เกิดเงินเฟ้อต่อไปคือเรื่องของราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังมีราคาเพิ่มสูงมาก เนื่องจากการปิดท่อก๊าซจากรัสเซียที่ส่งไปยุโรปทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นมาก รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ถ่านหิน ก็เพิ่มขึ้นไปด้วยทำให้ราคาค่าไฟฟ้าในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการปรับตัวสูงของราคาพลังงาน และต้นทุนการผลิต ทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศยังคงต้องต่อสู่กับเงินเฟ้อต่อไป โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี หน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คือการกดเงินเฟ้อให้ลงมาให้ได้ซึ่งวิธีการที่จะใช้ก็คือการขยับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปครั้งละ 0.75% จนกว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึงระดับประมาณ 5% ถึงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อค่อยๆลดลงได้
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะค่อยๆปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งภายในปีนี้มองว่า กนง.จะขยับดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จากระดับปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 0.75% ต่อปี ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.25% ต่อปี จากนั้นในปี 2566 การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะมีข้อจำกัดมากขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การส่งออกก็เริ่มที่จะมีปัญหามากขึ้นเนื่องจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งสหรัฐฯ และจีนมีปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน
ทั้งนี้ไทยยังต้องตั้งรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก และจะกระทบการส่งออกของไทย โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าที่จะฝากความหวังไว้ได้คือเรื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยปีนี้ประมาณ 10 ล้านคน
ในปีหน้าการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะฟื้นตัวมากขึ้นหากประเทศจีนปล่อยให้นักท่องเที่ยวออกมานอกประเทศได้การท่องเที่ยวในไทยจะมีชาวต่างชาติเข้ามาประมาณ 2.5 ล้านคนต่อเดือน
ทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและมีรายรับด้านการท่องเที่ยวอีกมากส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล ซึ่งจะทำให้แรงกดดันเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ลดลงด้วย เพราะสถานการณ์จะต่างจากช่วงก่อนที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากภาคการท่องเที่ยวที่หายไปในช่วงที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19