โอกาสของเกษตรกรรมยุคใหม่ | กษิดิศ สุรดิลก

โอกาสของเกษตรกรรมยุคใหม่ | กษิดิศ สุรดิลก

เกษตรกรรม เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ถือเป็นฐานรายได้สำคัญของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และจะมีบทบาทในมากขึ้นในอนาคต

อันเนื่องมาจาก ระดับความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่มากขึ้นในแต่ละปี ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้ผลผลิตในหลายประเทศได้รับความเสียหายไป

ตลอดจนไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคชนชั้นกลาง ที่มีมากขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมีที่อันตราย และมีความหลากหลาย ปัจจัยข้างต้นได้เพิ่มระดับความต้องการอาหารมากขึ้นในอนาคต

ภาคเกษตรกรรม จึงมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมครั้งสำคัญ โดยเน้นการเกษตรที่ใส่ใจคุณภาพและมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำเกษตรกรรมและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าสินค้าการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นในตลาดที่เปลี่ยนไป

การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ถือเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการเกษตรกรรม โดยได้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยควบคุมและรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และยังช่วยลดข้อจำกัดในการทำเกษตรกรรม

ทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวน สภาพพื้นดินที่อาจมีการปนเปื้อนสารเคมี รวมถึงการปลูกพืชต่างถิ่นที่ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้คล้ายกับถิ่นกำเนิด

โอกาสของเกษตรกรรมยุคใหม่ | กษิดิศ สุรดิลก

การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงกลายมาเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมที่ได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีเกษตรกรรมที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย เช่น ระบบดิจิทัลในการเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และการบริการทางธุรกิจเกษตร 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความพร้อมของเกษตรกรไทย อาจยังไม่ได้มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับแนวทางการเกษตรยุคใหม่ เนื่องจากเกษตรกรไทยยังคงมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ทรัพยากรที่มีจำกัด ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และอุปกรณ์ในการทำเกษตร

รวมถึงเกษตรกรบางรายยังคงมีหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากภาครัฐต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรให้เข้าสู่ยุคใหม่อย่างฉับพลัน อาจเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรได้ 

ภาครัฐจึงควรเน้นการสร้างรากฐานของภาคเกษตรกรรมให้แข็งแรงเสียก่อน ซึ่งอาจใช้แนวทางการพัฒนาแบบลำดับขั้น โดยวางเป้าหมายในการพัฒนาเป็นลำดับขั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม

ขั้นแรกของการพัฒนาเป็นขั้นที่ต้องให้มีความแข็งแรงโดยทั่วกัน นั่นคือ การปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่เกษตรผสมผสาน แล้วจึงพัฒนาไปสู่เกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสู่การเกษตรยุคใหม่

พร้อมทั้งกระแสนิยมในปัจจุบันที่สินค้าปลอดสารพิษหรือออร์แกนิคเป็นที่ต้องการของคนในยุคนี้ ซึ่งช่วยให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การทำเกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อสารเคมี ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรม

โอกาสของเกษตรกรรมยุคใหม่ | กษิดิศ สุรดิลก

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้ภาครัฐจะต้องเตรียมการสนับสนุนเงินชดเชยรายได้ในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ พร้อมกับสร้างกลไกเชื่อมโยงกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขั้นต่อมา คือ การสร้างหรือเสริมแกร่งให้กับสหกรณ์เกษตรในชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โปร่งใสมากขึ้นและทันสมัยมากขึ้น ผ่านการเสริมสร้างพลังชุมชน ให้ทุกคนมีบทบาทในการวางแนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรในพื้นที่ของตนเอง (Bottom up development)

มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกร พร้อมทั้งเป็นตัวแทนในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในการพัฒนาองค์ความรู้ การขอรับทรัพยากร และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจุดนี้เป็นการเสริมสร้างรากฐานให้เกษตรกรมีความพร้อมต่อแนวทางการเกษตรยุคใหม่

ในขั้นที่สาม คือ การพัฒนาสู่การเกษตรยุคใหม่ ซึ่งหากมีเพียงพลังชุมชนคงไม่เพียงพอต่อการพัฒนา แต่จำเป็นต้องอาศัยภาครัฐในการเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น ผ่านการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้เกษตรกรกลายมาเป็นเกษตรกรยุคใหม่ หรือ Smart Farmer ได้อย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ยังต้องมีการสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็นให้กับสหกรณ์ชุมชนที่มีแนวโน้มการพัฒนาที่ดี หรือมีโครงการที่สามารถยกระดับสู่การเป็นเกษตรยุคใหม่ได้

และในส่วนของเทคโนโลยีที่สำคัญ ภาครัฐอาจเป็นผู้พัฒนาเอง หรืออาจมอบให้ภาคเอกชนที่มีความสามารถมาพัฒนาแทน โดยภาครัฐเป็นผู้ถือสิทธิบัตรเอง เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง 

โอกาสของเกษตรกรรมยุคใหม่ | กษิดิศ สุรดิลก

การดำเนินการดังกล่าวอาจไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลัน แต่กระนั้นการพัฒนาแบบลำดับขั้นนั้น จะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมไทยมีโครงสร้างที่แข็งแรง

อันนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยให้ก้าวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คว้าโอกาสจากอนาคต และยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน.

โอกาสของเกษตรกรรมยุคใหม่ | กษิดิศ สุรดิลก
คอลัมน์ คิดอนาคต
กษิดิศ สุรดิลก
สถาบันอนาคตไทยศึกษา 
www.facebook.com/thailandfuturefoundation/