"เศรษฐกิจไทย" ในภาวะ "เปราะบาง"
แม้การผ่อนปรนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในไทยจะเบาลงและเปิดโอกาสให้การท่องเที่ยวได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็ยังต้องเผชิญกับปัญหา ค่าเงินบาทอ่อน และเงินเฟ้อ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งหาทางออกเนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
แม้สถานการณ์โควิดทั่วโลกจะบรรเทาเบาบางลงมากแล้ว หลายประเทศใช้ชีวิต ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติ ขณะที่ประเทศไทย ได้ประกาศให้ “โควิด-19” เป็นโรคเฝ้าระวัง คนไม่มีอาการ หรืออาการน้อยไม่ต้องกักตัว ส่วนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ไม่ต้องยื่นเอกสารวัคซีน หรือผลตรวจเอทีเคตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ แน่นอนว่า ย่อมส่งผลดีต่อการทำกิจกรรมหลายอย่างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ
หากผลพวงจากโรคระบาดที่กัดเซาะทุกตารางนิ้วของโลกมากว่า 3 ปี กลายเป็นต้นเหตุ ฉุดคร่าระบบเศรษฐกิจให้ดำดิ่ง หลายประเทศพยายามหาโซลูชันพลิกฟื้น แต่ระหว่างทางก็มีปัญหาอื่นผุดขึ้นเป็นระยะ เช่น ความตึงเครียดของสงคราม ท่ามกลางโลกไม่มีขอบเขต ไม่มีรั้วกั้น ปัญหาที่เกิดจากประเทศหนึ่งย่อมสะเทือนลามถึงการหมด แม้แต่ประเทศที่มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ระดับมหาอำนาจของโลกก็ยังไม่สามารถทัดทานผลกระทบนี้ได้
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ “เอดีบี” เปิดรายงาน “Asian Development Outlook” บอกว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย แม้จะขยายตัวได้ 4.3% ในปี 2565 แต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ก.ค.ที่ระดับ 4.6% และระดับ 5.2% ในเดือนเม.ย. ส่วนในปี 2566 เอดีบี คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวเพียงแค่ 4.9% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ก.ค.ที่ระดับ 5.2% และระดับ 5.3% ในเดือนเม.ย.
นับตั้งแต่ที่เอดีบีเผยแพร่รายงาน Asian Development Outlook ในเดือนเม.ย. ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็ปรากฏให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุก ที่ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน เอดีบี คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 3.3% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ระดับ 4% และระดับ 5% ในเดือนเม.ย. ส่วนในปี 2566 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.5% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.8%
ส่วนภูมิภาคย่อยในเอเชีย เอดีบี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางจะขยายตัว 5.1% และ 3.9% ในปี 2565 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เอดีบี ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชีย จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งขึ้น คาดว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะอยู่ที่ 4.5% ในปีนี้ ส่วนปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในเอเชียจะอยู่ที่ 4%
นี่คือโจทย์หินที่รัฐบาล ต้องประคับประคองเศรษฐกิจไทยในภาวะ “เปราะบาง” แบบนี้ให้ได้ บนสถานการณ์เงินเฟ้อ ค่าบาทอ่อน วิกฤติพลังงาน ไทยยังอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยง ไม่ง่ายที่จะพลิกฟื้นคืนได้ในเร็ววัน ถ้าโซลูชันในการรับมือของรัฐบาลไม่แข็งแกร่งมากพอ เว้นแต่รัฐบาลจะพลิกวิกฤติให้เกิดโอกาส จากปัจจัยบวกในประเทศที่ยังพอมี โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว ที่จะได้อานิสงส์เต็มๆ จากการที่ไทยประกาศให้ โรคโควิด เป็นโรคเฝ้าระวัง และไม่ต้องกักตัว...