BTS ผนึกมาเลย์ลุย ‘ไลท์เรล’ เชื่อมสิงคโปร์

BTS ผนึกมาเลย์ลุย ‘ไลท์เรล’ เชื่อมสิงคโปร์

ความคืบหน้าหลังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงติดตามศึกษาโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transport System) ที่จะเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง (RTS Link) ข้ามพรมแดนจากประเทศสิงคโปร์มายังเมือง Johor Bahru ในสหพันธรัฐมาเลเซีย

ประธานกรรมการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ คีรี กาญจนพาสน์ เปิดเผยความคืบหน้าหลังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงติดตามศึกษาโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transport System) ที่จะเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง (RTS Link) ข้ามพรมแดนจากประเทศสิงคโปร์มายังเมือง Johor Bahru ในสหพันธรัฐมาเลเซียว่า โครงการดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างดำเนินโครงการ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบระบบขนส่งมวลชนภายใต้แนวคิด Transit-Oriented Development ที่เมือง Johor Bahru สหพันธรัฐมาเลเซียโดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) ได้ทำข้อตกลง (Heads of Agreement) ร่วมกับ Sinar Bina Infra Sdn. Bhd., Ancom Berhad, Nylex (Malaysia) Berhad และ LBS Bina Group Berhad เมื่อช่วงเดือน มี.ค.2565 และคาดว่าจะมีการลงนามร่วมกันพร้อมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ 

สำหรับการไปลงทุนในประเทศมาเลเซียนั้น เป็นการลงทุนรถไฟฟ้าระบบรางเบา เชื่อมต่อกับประเทศสิงคโปร์ และถือเป็นโครงการใหญ่ ที่รัฐบาลมาเลเซียได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อต้องการเห็นเมือง Johor Bahru(โจโห้) เจริญ ซึ่งการพัฒนาไม่เฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่รวมไปถึงระบบขนส่งด้วย โดยระบบขนส่งสาธารณะรอง หรือระบบ Feeder  มีระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร และเมือง Johor Bahru ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในพื้นที่ สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ได้รับ ซึ่งหากเข้ามาอยู่ที่นี่จะสามารถอยู่ได้ 20 ปี เป็นสิ่งที่เมืองไทยทำไม่ได้ พร้อมทั้งเล็งเห็นศักยภาพที่จะดึงดูดนักลงทุน รวมถึงคนที่จะเข้ามาใช้จ่ายได้มาก และในด้านภาษี ความสะดวกในด้านการเดินทาง แม้ปัจจุบันจำนวนประชากรจะมีไม่มาก 1.5 ล้านคน มีคนเข้าออกประมาณ 1 ล้านคน

สำหรับโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ Move ที่ทางบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ผ่านโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นครอบคลุม ระยะทางรวม 135 กม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังพัฒนา อาทิ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และมุ่งหวังจะเป็นผู้ให้บริการแบบ door-to-door แก่ผู้โดยสารด้วยรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทางราง ทางถนน ทางน้ำ หรือทางอากาศ


ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์การเดินทาง ตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้ายของผู้โดยสารสร้างการให้บริการการเดินทางอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในพื้นที่ประเทศไทย และต่างประเทศ โดยเชื่อว่าโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารสิงคโปร์ และมาเลเซียได้เป็นอย่างดี ตรงตามเป้าหมายของธุรกิจ Move ที่มุ่งเน้นการให้บริการที่สะดวก และปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้โดยสารที่ต้องการข้ามพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ