เปิด 3 เมกะโปรเจกต์ยักษ์ ‘ภาคใต้’ แลนบริดจ์ – สนามบิน จ่อลงทุน 1.2 ล้านล้าน
กางแผนเมกะโปรเจกต์รับลงทุนภาคใต้ เม็ดเงินกว่า 1.2 ล้านล้านบาท สู่เป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเปิดประตูการค้าเชื่อมการขนส่งโลก
กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Land bridge) เมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่เพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก รถไฟทางคู่ และทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์)
อีกทั้งยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมากมายที่แห่ระดมในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการของแลนด์บริดจ์ในปี 2573 ส่งเสริมเป้าหมายให้ภาคใต้เป็นประตูการค้าเชื่อมไทย อาเซียน และโลก โดยประมาณการณ์เม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจ็กต์สู่พื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ตามผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 1,194,307 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 453,063 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 485,544 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ระนอง - ชุมพร 126,860 ล้านบาท รถไฟทางคู่ระนอง - ชุมพร 105,924 ล้านบาท และท่อส่งน้ำมัน 22,916 ล้านบาท
โดยปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษา และลงรายละเอียดของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566 กระทรวงคมนาคมจะไป Roadshow โครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในประเทศที่มีสายการเดินเรือ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเหล่านี้มาร่วมลงทุนและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงแผนผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ว่า ในปี 2566 น่าจะได้เห็นความชัดเจนของการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ หลังจากเสนอโครงการไปยัง ครม.ก็จะได้เห็นรูปแบบการลงทุน และการโรดโชว์จูงใจนักลงทุน ส่วนไทม์ไลน์ของการก่อสร้างจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า ซึ่งตามแผนธุรกิจนั้น แลนด์บริดจ์จะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 คาดปริมาณสินค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
“แลนด์บริดจ์จะเป็นประตูการค้าสำคัญที่จะเชื่อมโยงการขนส่งจากอาเซียน ผ่านมายังการคมนาคมทางเรือ ทางบก และทางรางในประเทศไทย เข้าสู่ท่าเรือฝั่งอันดามันของแลนด์บริดจ์ และส่งออกไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นเพื่อให้โครงการนี้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เราจึงต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบรองรับการขนส่ง เป็นที่มาของการพัฒนามอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่”
นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกการขนส่งและสนับสนุนการท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างลงทุนขยายโครงการท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง โดยแผนดำเนินการส่วนของท่าอากาศยานชุมพร คาดใช้วงเงินลงทุน 3,248.25 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2566 - 2570 ประกอบด้วย โครงการการขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี จากเดิม 8 แสนคนต่อปี
รวมทั้งจะเพิ่มความยาวรันเวย์จาก 45x2,100 เมตร เป็น 45x2,990 เมตร วงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท ให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 350 ที่นั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ, โครงการขยายลานจอดสามารถรองรับเครื่องบินจากเดิมเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง ได้ 3 ลำ เป็นเครื่องบินขนาด 350ที่นั่ง ได้ 5 ลำ หรือเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง ได้ 10 ลำ และโครงการขยายลานจอดรถลานจอดรถยนต์ให้รองรับรถได้รองรับได้ 500 คัน จากเดิม 132 คัน
ส่วนท่าอากาศยานระนอง ประเมินวงเงินลงทุน 3,530 ล้านบาท โดยขณะนี้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) อยู่ในขั้นตอนการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ซึ่งตามแผนจะประกอบด้วย การเพิ่มความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,000 เมตร เป็น 2,990 เมตรทางทิศเหนือ สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ที่สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 300 คน และสินค้าได้มากกว่า 100 ตัน, เพิ่มทางขับ G (TAXIWAY G), เพิ่มเขตปลอดภัยปลายทางวิ่ง (RESA) ทั้ง 2 ด้าน, ขยายลานจอดเครื่องบิน, ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่, ก่อสร้างอาคารระบบประปา, ก่อสร้างอาคารระบบไฟฟ้า และก่อสร้างอาคารระบบอื่นๆ เช่น อาคารดับเพลิง และหอบังคับการบิน เป็นต้น