รัฐ - เอกชน หนุนใช้ อินทรียวัตถุฟื้นสภาพดินเพื่อเกษตรที่ยั่งยืน

รัฐ - เอกชน หนุนใช้ อินทรียวัตถุฟื้นสภาพดินเพื่อเกษตรที่ยั่งยืน

รัฐ - เอกชน ระดมแนวทางฟื้นสภาพดิน หนุนใช้อินทรียวัตถุ สร้างความสมดุลของโลกเกษตรยุคใหม่ ด้านไทยวา วางเป้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์

นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยในงาน  Sustainability Expo 2022 (SX 2022) ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ในหัวข้อ” ความสมดุลของโลกเกษตรยุคใหม่” ว่า  พื้นที่ภาคการเกษตรของไทย 320 ล้านไร่ในจำนวนนี้ มี 150 ล้านไร่ มีความสมบูรณ์ต่ำ และอีก 60 ล้านไร่ เป็นดินที่มีปัญหา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน   เป็นดินชั้นเกลือ  อินทรียวัตถุเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า1%   เป็นผลมาจากการชะล้างของฝน    นอกจากนี้การทำการเกษตรทั่วไป 7 ปี ยังพบว่าวัตถุอินทรีย์หายไป 70 %

รัฐ - เอกชน หนุนใช้ อินทรียวัตถุฟื้นสภาพดินเพื่อเกษตรที่ยั่งยืน

 

 ดังนั้นการเพาะปลูกด้านการเกษตร จำเป็นต้องใส่ใจด้านดินเป็นสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบาย  Agri-Map ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชในพื้นที่ ที่เหมาะสม และเรียนรู้การใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการ  วิธีการดังกล่าวช่วยฟื้นฟูสภาพดิน อีกทั้งยังช่วยให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น สามารถกำหนดผลผลิตได้ตรงกับความต้องการของตลาด  ปัญหาราคาตกต่ำ สินค้าล้นตลาดจะไม่เกิดขึ้นอีก

นายปิยะ ดวงพัตรา อดีตหัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประธานกรรมการมาตรฐานปุ๋ยของ สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  ในการวิเคราะห์เพื่อใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ได้ศึกษาจากการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   โดยมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวนาน 8 -9 เดือนขึ้นไป ในขณะที่การปลูกต้องใช้พื้นที่ระหว่างต้นกว้าง ทำให้กลายเป็นพืชที่ทำลายดินมากกว่าเมื่อเทียบกับพืชอื่นที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น

แต่ถ้าเกษตรกรรู้จักบริหารจัดการ การเพาะปลูกใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง ดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังก็สามารถยั่งยืนได้   

นายโฮ เรน ฮวา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ  TWPC  หนึ่งในบริษัทอาหารที่เกี่ยวข้องกับแป้ง และแป้งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย กล่าวว่า   บริษัท ลงทุนใน ไทย  กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย   ภายใต้นโยบายธุรกิจที่ยั่งยืน   โดยได้สนับสนุนให้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้  มีเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

ดร.นฤมล ศรีสุมะ ที่ปรึกษา Biofuels and Biocatalysts Research Center ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย   กล่าวว่า   การใช้ปุ๋ยเคมีมากไป ทำให้อินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ในดินลดลง การทำให้อากาศ และน้ำในดินสูญหายไปด้วย ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช  ดังนั้นจึงต้องเร่งฟื้นสภาพดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ซากพืช ซากสัตว์  ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทางไทยวาจึงพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ดี ซึ่งผลิตจากชีวมวลของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง  วิธีการนี้จะทำให้ดินฟื้นสภาพได้เร็ว   ปัจจุบันได้นำร่องมาใช้ในบางพื้นที่แล้ว

นายธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) กล่าวว่า  ปัจจุบันภาคการเกษตรหันมาใช้พลาสติกเพื่อคลุมดิน ป้องกันวัชพืชกันมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายการกำจัดวัชพืช  แต่พลาสติกดังกล่าว ไม่ได้ถูกย่อยสลายด้วยธรรมชาติ จึงกลายเป็นการทำลายดิน ทางไทยวาจึงคิดค้นพลาสติกชีวภาพขึ้นซึ่งมีอายุการใช้งานนาน 4 เดือน - 1 ปี แล้ว  ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการปลูกเมล่อน บวบ สับปะรด แตงโม และกำลังจะนำมาใช้ในมันสำปะหลัง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับดิน   

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์