รฟม.เพิ่มบริการจอดรถยนต์อัตโนมัติ รองรับดีมานด์สถานีรถไฟฟ้าห้วยขวาง
รฟม. พร้อมเปิดให้บริการที่จอดรถยนต์อัตโนมัติ หรือ Robot Parking เพิ่มเติม 2 เครื่อง ในบริเวณลานจอดรถสถานีห้วยขวาง ของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.พร้อมเปิดให้บริการที่จอดรถยนต์อัตโนมัติ หรือ Robot Parking ในบริเวณลานจอดรถสถานีห้วยขวาง ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เพิ่มเติมจำนวน 2 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป
ซึ่งจะส่งผลให้ลานจอดรถสถานีห้วยขวางมีที่จอดรถยนต์อัตโนมัติ สำหรับให้บริการรวมทั้งสิ้น 3 เครื่อง (เครื่องแรก เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564) ช่วยเพิ่มจำนวนช่องจอดรถได้มากถึง 48 คัน ทำให้ลานจอดรถสถานีห้วยขวางมีศักยภาพรองรับรถยนต์ได้ทั้งหมด 105 คัน โดยยังคงคิดอัตราค่าบริการที่จอดรถตามปกติ (กรณีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดอัตราค่าจอดรถ 15 บาท ต่อ 2 ชั่วโมง และ ผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดอัตราค่าจอดรถ 50 บาท ต่อ 1 ชั่วโมง) เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00 – 01.00 น.
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน รฟม. มีเครื่องจอดรถยนต์อัตโนมัติให้บริการในบริเวณลานจอดรถ จำนวน 2 แห่ง ที่สถานีสามย่าน และที่สถานีห้วยขวาง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มพื้นที่จอดรถในเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน โดยนำเอาเทคโนโลยีระบบที่จอดรถยนต์อัตโนมัติเข้ามาให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลานจอดรถและแก้ไขปัญหาพื้นที่จอดรถมีจำนวนจำกัด อันเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจัดให้มีที่จอดรถในแนวดิ่ง และ รฟม. จะนำพื้นที่แนวราบมาพัฒนาเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการจอดรถและผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในโครงการถัดไป
สำหรับระบบที่จอดรถรถอัตโนมัติดังกล่าวนี้ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด มีความแข็งแรงคงทนทั้งฐานรากและโครงสร้าง มีการปรับพื้นดินที่ติดตั้ง รวมถึงการเทคานคอดินตามมาตรฐานความปลอดภัย และมีการเจาะเสาเข็มลึกลงไปในชั้นดินกว่า 21 เมตร เช่นเดียวกับอาคารทั่วไป ตัวโครงสร้างรวมถึงระบบต่างๆ สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ ทนแดดและฝนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โครงสร้างสามารถรับแรงลม (Wind Load) ได้ถึง 108 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รวมถึงสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์ ในกรณีไฟฟ้าดับ สามารถควบคุมรถลงด้วยมือ (Manual) โดยการปลดเบรกมอเตอร์ ซึ่งจะอยู่ในการควบคุมจากช่างผู้ชำนาญเท่านั้น พร้อมกันนี้ รฟม. ได้จัดให้มีประกันภัย คุ้มครองความสูญเสีย หรือเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ใช้งานเครื่อง ตัวอย่างเช่น เหตุจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุต่างๆ รวมถึงมีประกันภัยคุ้มครอง ความสูญเสีย หรือเสียหายต่อชีวิตด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการว่าจะได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการจากระบบดังกล่าว